top of page

แฝดอิน-จัน: แม้จะแตกต่าง เธอก็มีคุณค่าในแบบที่เธอเป็น

Updated: Oct 14, 2022



ความรู้สึกด้านลบแผ่ซ่านไปทั่วชุมชน เมื่อพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และชาวบ้านได้ทราบถึงความผิดปกติของทารกเพศชาย “อิน-จัน” ที่คลอดออกมามีร่างกายเชื่อมติดกันบริเวณหน้าอก

ในสมัยที่เรื่องของไสยศาสตร์ มนต์ดำ มีอิทธิพลทางความคิดต่อชาวสยาม ไม่ว่าหมอตำแย พ่อมด หมอผี หรือชาวบ้านก็ต่างคิดว่าแฝดตัวติดกัน (Conjoined Twins) คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะเด็กแฝดในลักษณะนี้มักอายุสั้นทั้งนั้น ซ้ำยังถูกมองว่าเป็นตัวซวยอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ ทั้งหมอผีและหมอตำแย จึงต้องการที่จะผ่าร่างของอิน-จันออกจากกัน เพื่อยุติ “เค้าลางแห่งความยากจน” ถึงขนาดที่บ้านเมืองจะต้องขาดแคลนข้าวปลาอาหาร และสังคมจะต้องก้าวเข้าสู่ยุคเข็ญตามความเชื่อของคนสมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม แฝดสยามอิน-จัน จากแม่กลอง จังหวัดสมุทรสาคร ไม่ได้อายุสั้นเหมือนแฝดคู่อื่นที่เกิดมาก่อนหน้านี้ในทางกลับกันพวกเขามีอายุถึง 62 ปี เป็นบรรพบุรุษชาวสยามที่ทำให้ใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะวงการแพทย์รู้จักคำว่า “Siamese Twins” เมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้วมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังมีคุณูปการทางการศึกษาด้านการแพทย์ในสากลอีกด้วย

แม้ว่าแฝดอิน-จัน จะเกิดมาโดยมีลักษณะทางกายภาพไม่เหมือนกับคนทั่วไป มิหนำซ้ำ ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคทั้งทางร่างกาย และจิตใจมาอย่างหนักหน่วง แต่พวกเขาก็สามารถสร้างตัวตน สร้างชีวิตใหม่ได้อย่างสง่างามด้วยการเห็นคุณค่าในตัวเอง อันเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะในยุคไหน ๆ เพราะการเห็นคุณค่าในตัวเองนำมาสู่ “ความสุขที่ยั่งยืน” ในแบบที่ใครหลายคนใฝ่หา

จากวลีที่ว่า “สร้างตัวตน สร้างชีวิตใหม่ได้อย่างสง่างาม” ท่ามกลางอุปสรรคนั้น อิน-จัน สู้ชีวิต แม้ชีวิตจะสู้กลับได้อย่างไร? แล้วคนยุคใหม่อย่างเราจะทำยังไงให้มีความนับถือในตัวเอง (self-esteem) มากขึ้น? ร่วมละเลียดประวัติศาสตร์อิน-จัน แล้วถอดบทเรียนไปด้วยกัน


อิน-จัน ไม่ใช่กาลกิณีของบ้านเมือง


ในหลวงรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้นำตัวอิน-จันจากแม่กลองไปเข้าเฝ้าฯ ณ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ แฝดในวัย 14 ปี ได้พบปะพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรไมตรีจิตต่อกัน ทำให้ทั้งสองมีสถานะเสมือนราษฎรที่อยู่ในความดูแลของพระองค์ ทั้งยังได้รับข้าวของพระราชทานอันเป็นทุนในการประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดเพื่อทำเป็นไข่เค็มไว้ขาย ความขยันทำมาหากินทำให้แฝดตั้งตัวได้ และมีฐานะขึ้นมาอย่างไม่เป็นสองรองใคร

ในสมัยนั้น ชาวยุโรปหรือที่ชาวสยามเรียกว่า “ฝรั่ง” เป็นผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และมีอำนาจทางทหาร พวกเขาแล่นเรือไปมาค้าขายกับชาวสยาม เมื่อฝรั่งทราบเรื่องราวของอิน-จัน จึงต้องการมาพิสูจน์ให้ถึงที่ วันหนึ่ง โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) หรือนายหันแตร (ตามที่ชาวสยามเรียก) พ่อค้าคนสำคัญชาวสกอตแลนด์ในบางกอกคนนี้นี่เอง ที่เข้ามาพลิกชีวิตของแฝดอิน-จันอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

นายหันแตร เจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในสยาม ได้ยินคำเล่าลือมานักต่อนัก จึงมุ่งหน้าไปตามหาของที่เขาว่าแปลก ณ แม่กลอง ตามสายตาของพ่อค้าเมื่อเจอสินค้าทำเงินแล้ว นายหันแตรจึงไม่ปล่อยให้แฝดสยามหลุดมือไปง่าย ๆ เขาใช้ความพยายามเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีที่จะนำแฝดไปทำเงินในยุโรปและอเมริกาให้จงได้


จากแม่กลองสู่อเมริกา เพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัว


จนเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2372 ตามข้อมูลจากบันทึกของกัปตันคอฟฟิน อิน-จันในวัยย่าง 18 ปีตัดสินใจเดินทางด้วยเรือเดินสมุทรไปยังอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลย ระหว่างการเดินทางนั้น แฝดก็ฝึกออกเสียงภาษาอังกฤษ และผูกมิตรกับคนบนเรือระหว่างการเดินทาง 138 วัน นับเป็นเวลาไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว และนี่ถือเป็นโอกาสอันดีที่แฝดสยามจะได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษตัวเอง

ต่อมา เพื่อให้แน่ใจว่าแฝดหนุ่มจากสยามประเทศ ไม่ได้นำเชื้อโรคมาแพร่กระจายในอเมริกา หากในยุคโควิด ก็คงเรียกกันว่า Quarantine นั่นเอง นายแพทย์จอห์น คอลลินส์ วอเร็น (John Collins Warren) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ตรวจร่างกายและยืนยันว่าอิน-จันเป็นแฝดตัวติดกันจริง ๆ (Conjoined Twins) กัปตันคอฟฟินเมื่อได้ทราบดังนั้น จึงทำตามแผนธุรกิจต่อ โดยประเดิมการมาถึงบอสตันด้วยการจัดการแสดง “The Siamese Double Boys” ซึ่งมีคนเข้าชมการแสดงของแฝดอิน-จันอย่างล้นหลาม นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ยังลงข่าวการแสดงของแฝด จนโด่งดังไปทั่วอเมริกา ทำให้คณะของแฝดแม่กลองเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ

เมื่อแฝดหนุ่มเริ่มเจนเวที จึงได้พัฒนาการแสดงให้น่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นการตีลังกาหน้า-หลังพร้อมกัน เล่นแบดมินตันโชว์ ตลอดจนเล่นกายกรรม ซึ่งทำให้ฝรั่งถูกใจเป็นอย่างมาก ยิ่งในยุคสมัยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกยังเชื่อว่าโลกแบน เมื่อแล่นเรือไปมหาสมุทรจนสุดทางอาจทำให้ตกไปนอกโลกได้ คนอเมริกันเองก็ไม่รู้จักประเทศสยามมากนัก ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การโฆษณาเชิญชวนผู้ชมการแสดง “แฝดตัวติดกัน ที่มาจากดินแดนอันลี้ลับ ต้องด้วยมนต์ขลัง” จึงสะดุดตาสะดุดใจฝรั่งอย่างมาก


How happy could I be with the either, were the other dear charmer away.

บทกลอนจากไฮโซสาวอังกฤษที่ตกหลุมรักแฝดสยาม


โซเฟีย (Sofia) ส่งกลอนบทไปประกาศลงในหนังสือพิมพ์ลอนดอน ใจความว่า “ฉันจะมีความสุขได้อย่างไร ถ้าได้อยู่กับสุดที่รักคนหนึ่ง โดยสุดที่รักอีกคนหนึ่งไม่อยู่ด้วย” ส่วนแฝดสยามเองก็มีใจรักโซเฟียเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่านอกจากด้านหน้าที่การงานของแฝดที่กำลังไปได้สวยแล้ว ความรักก็หวานชื่นไม่แพ้กัน อย่างไรก็ดี เรื่องราวทั้งหมดระหว่างแฝดและโซเฟีย ก็ลงเอยด้วยการพลัดพราก เนื่องจากสังคมมีแนวคิดต่อต้านความรักแบบ ชาย 2 หญิง 1 ซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีของบ้านเมือง ผู้ดีอังกฤษรับไม่ได้

หลังจากที่อิน-จันไปใช้ชีวิตแสดงตัวในหลาย ๆ ประเทศ นานเกือบ 10 ปี ก็ได้เป็นชาวสยามคู่แรกที่แปลงสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกันตามกฎหมาย ได้พบรักกับซาร่าห์ (Sarah) และแอดิเลท (Adelaide) ท่ามกลางการติฉินนินทาของผู้คน เพราะในสมัยนั้นเชื่อกันว่า “การที่หญิงสาวจะคบหากับผู้ชายต่างสีผิว คือ หายนะ” จนนำไปสู่ความรุนแรงอย่างการที่มีคนขว้างก้อนหินกระจกใส่บ้านของเธอ ทั้งในหนังสือพิมพ์ก็มีการเสียดสีในทางลบ ทำนองว่า เป็นการสมรสระหว่างคนกับอสุรกาย บ้างก็ว่าระหว่างคนกับสัตว์ จากการค้นคว้าของ พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ลูก หลาน เหลน ลื่อ ของอิน-จัน สืบเชื้อสายกันมากว่า 1,500 ชีวิต แล้วจวบจนปัจจุบัน ผู้เขียนจะพูดถึงเรื่องความรักของทั้ง 4 คนไว้เพียงเท่านี้


คุณค่าในตัวเองจากภายใน สู่ภายนอก

ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับคำดูถูกเหยียดหยาม การถูกนินทาว่าเป็นตัวประหลาด สิ่งที่อิน-จันมีอยู่เสมอ คือ การเห็นคุณค่าในตัวเองแม้ในวันที่ใครหลาย ๆ คน ไม่เห็นคุณค่า ซ้ำยังลดทอนคุณค่านั้นจนไม่เหลือชิ้นดี ด้วยการมองเขาเป็นสิ่งของ แต่แฝดไม่เคยยอมให้ใครมาเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เพราะชีวิตของพวกเขาเปี่ยมไปด้วยคุณค่า ความหวัง และความรัก

ผู้เขียนได้อ่านเรื่องราวของแฝดสยามอิน-จัน ได้รู้เพียงเสี้ยวหนึ่งของความลำบากที่ทั้งสองต้องเผชิญเท่านั้น นอกจากความลำบากทางร่างกายแล้ว ไหนยังต้องรับมือกับจิตใจของตัวเอง ในวันที่โลกใจร้ายกับพวกเขา แฝดทั้งสองรู้จักรักตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในชีวิตของคนเรา

หากเราลองถามเพื่อนข้าง ๆ ว่าในชีวิตนี้ พวกเขารักใครบ้าง? จะใช้เวลานานแค่ไหนกัน ที่เราจะเอ่ยถึง “ตัวเอง” บ้าง แม้ตามสัญชาตญาณของมนุษย์จะต้องการเอาตัวรอดอยู่แล้ว แต่หากกล่าวถึงการเอาตัวรอดกับการรักตัวเองนั้น ก็ยังแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การทำอะไรก็ตามแต่เพื่อการมีชีวิตรอด เราอาจพลั้งเผลอทำอะไรโดยไม่คิดถึงผู้อื่น ทว่า การรักตัวเองนั้น เป็นทักษะที่ทำให้เราสามารถรักคนรอบข้างได้ดีขึ้น หากพัฒนาทักษะความรักให้ถึงชั้นที่สูงขึ้นไปอีก ผู้เขียนเห็นว่าบันไดขั้นต่อไป คือ “ความเมตตา”


เพิ่มความนับถือในตัวเอง (Self-esteem) ยังไง?

1.ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง (Accepting and Embracing Imperfections)

2.ไม่นำชีวิตของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น การเปรียบเทียบนั้นเป็นเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งทำให้เรากระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองมากขึ้น ในขณะที่หากไม่ระมัดระวังแล้ว การเปรียบเทียบนี้เอง จะทำให้เรารู้สึกแย่ ดีไม่พอ จนนำไปสู่ปัญหาทางใจได้

3.เขียน 3 สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณสำหรับวันนี้ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้หัวใจเราพองโต หรือเป็นเรื่องธรรมดา อย่าง “อากาศวันนี้ดีจัง” ก็ได้


หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวของแฝดสยามไปแล้ว ผู้อ่านมีวิธีในการเพิ่มความนับถือในตัวเองกันยังไงบ้าง?


เรื่อง : เฌอเดีย

พิสูจน์อักษร : อภิญญา วัชรพิบูลย์

ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา


แหล่งข้อมูล:

นาทนาม ไวยหงษ์. (7 มิถุนายน 2563). เรียนรู้จากแฝดสยามคู่แรกของโลก! อิน-จัน กับบทเรียนชีวิตที่สอนให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง. https://www.vogue.co.th/fashion/article/engchangbunkerr.


นิพัทธ์ ทองเล็ก. (2561). อิน-จัน แฝดสยาม (พิมพ์ครั้งที่ 1). สำนักพิมพ์มติชนปากเกร็ด.


 
 
 

Comments


bottom of page