top of page

การเมืองระดับชาติ สู่สนามการเมืองมหาวิทยาลัย



การเมืองระดับชาติ สู่สนามการเมืองมหาวิทยาลัย


ปี พ.ศ. 2566 นับเป็นหมุดหมายสำคัญในสนามการเมืองระดับชาติ เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการเลือกตั้งใหญ่ที่หวนกลับคืนมาอีกครั้งในรอบ 4 ปี ผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ดาหน้าลงสมัครกันอย่างแข็งขัน ป้ายหาเสียงตั้งอยู่เรียงราย ใบปลิวถูกแจกจ่ายไปทั่วทุกหนแห่ง พร้อมกับการเริ่มต้นเทศกาลแห่งการประชันคารมและสาดโคลนใส่กันอย่างไม่ลดราวาศอก ท่ามกลางบรรยากาศอันดุเดือดเช่นนี้ ยังมีอีกสนามการเลือกตั้งหนึ่งของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ต่างตบเท้าลงสมัครกันอย่างไม่ขาดสายเช่นกัน นั่นก็คือสนามการเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรของนิสิตนักศึกษาหรือชมรมต่าง ๆ บ้างก็ลงสมัครแบบเดี่ยว บ้างก็รวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมือง ปรากฎการณ์นี้นำไปสู่การตั้งคำถามชวนให้หาคำตอบว่า เมื่อบุคคลหรือพรรคการเมืองดังกล่าวผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แม้จะได้รับอำนาจมาอย่างชอบธรรมหรือไม่แล้วนั้น บุคคลดังกล่าวจะใช้อำนาจนี้ได้อย่างไร และสนามการเมืองภายนอกมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ทางอำนาจของเยาวชนเหล่านั้นหรือไม่


“อำนาจ” และ “ผลประโยชน์” ภายใต้สนามการเมือง

“อำนาจ” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างช้านาน บ้างก็แสดงออกมาในรูปแบบง่าย ๆ ดังเช่นบุคคลผู้มีกำลังวังชาเก่งกล้าในเชิงรบ มักจะมีบารมีและเป็นที่ยอมรับนับถือให้เป็นหัวหน้าเผ่าหรือชุมชน เมื่อสังคมเจริญรุดหน้า ปริมณฑลของอำนาจก็ยิ่งแผ่ขยายมากขึ้น อำนาจจึงอาจมาในรูปแบบของการเป็นเจ้าชีวิต เจ้าเหนือหัว หรือเจ้าแผ่นดิน หากผู้ที่ถือครองอำนาจนี้ใช้อำนาจในทางที่ชอบแล้ว อำนาจนี้จะให้คุณมากกว่าให้โทษ กล่าวคือ อำนาจจะดลบันดาลให้ผู้ถือครองอำนาจมีแรงผลักดัน มีความกระฉับกระเฉง และมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ ในทางกลับกัน หากผู้ถือครองอำนาจแสวงหามันในทางที่มิชอบแล้ว อำนาจก็จะนำไปสู่ความฉ้อฉลได้เฉกเช่นเดียวกัน โดยผู้ถือครองอำนาจในทางนี้จะพยายามไขว่คว้าหาอำนาจอย่างเต็มที่ อัตราการใช้อำนาจของเขาก็มักจะมีความถี่และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อำนาจในแนวทางนี้อาจส่งผลให้ผู้ใช้อำนาจดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น (dehumanized) อยู่เสมอ กล่าวคือ มองบุคคลอื่นผู้อยู่ใต้อำนาจนี้ว่าเป็นวัตถุหรือสิ่งของที่ตนสามารถใช้อำนาจกดขี่ คุกคาม ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่รู้สึกสะกิดใจ กล่าวกันได้ว่าอิทธิพลของอำนาจยังสามารถเปลี่ยนแปลงคนที่เราเคยรู้จักมักคุ้นให้เสมือนเป็นคนแปลกหน้าได้ เพราะพลังของอำนาจสามารถทลายความไว้ใจและกัดกินจิตใจผู้เสาะแสวงหามัน ดังนั้น อำนาจจึงมิใช่สิ่งไกลตัว เราทุกคนต่างแสวงหาอำนาจและตกอยู่ภายใต้บ่วงของอำนาจไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในสังคมมนุษย์ หากจะกล่าวถึงอำนาจอย่างเดียวก็คงไม่ถูกนัก ถ้าไม่ได้มีเรื่องของ “ผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันด้วย เพราะมนุษย์เราไม่อาจทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทน การแสวงหาอำนาจจึงสัมพันธ์กับการแสวงหาผลประโยชน์ เพื่อเติมเต็มความต้องการทางกายภาพหรือจิตใจ ของผู้ถือครองอำนาจไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเสาะหาหรือใช้อำนาจนั้นด้วยวิธีใดก็ตาม

เมื่ออำนาจและผลประโยชน์อยู่ภายใต้ร่มเงาของการเมืองแล้ว อำนาจในลักษณะนี้จึงมักถูกใช้ไปกับการแสวงหาผลประโยชน์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ในระบบการเมืองจึงมักเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกันโดยมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ ความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังสุภาษิตที่ว่า “น้ําพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” แม้จะโกรธเกลียดกันมาแต่ปางก่อน หรือมีอุดมการณ์ขัดแย้งกันเพียงไหน หากมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ต่างฝ่ายก็ต่างจำต้องลดอาวุธและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ และเมื่อฝ่ายใดหมดอำนาจและผลประโยชน์ให้แลกเปลี่ยนแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็พร้อมที่จะเดินออกจากความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เฉกเช่นเดียวกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” ซึ่งสร้างความเจ็บช้ำมาแล้วนักต่อนัก

ระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้อง: ปัญหาของระบบการเมืองไทย

ในประเทศไทย ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้องมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความเป็นไปของระบบการเมืองไทย ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่คอยบั่นทอนการพัฒนาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมิติของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะนอกจากจะเป็นการลดศักยภาพการแข่งขันลงแล้ว ระบบดังกล่าวยังเพิ่มระยะห่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นไปอีก เพราะมีผู้ที่สูญเสียโอกาสจากระบบดังกล่าวมากกว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากมัน

อันที่จริงแล้วโครงสร้างของสังคมไทยโยงใยกันภายใต้ความสัมพันธ์ใน “ระบบอุปถัมป์” จนเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว ความสัมพันธ์ส่วนตัวในที่นี้อาจเริ่มต้นจากความเคารพนอบน้อมระหว่างไพร่ต่อนาย ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ จนไปถึงระบบอุปถัมป์ที่เข้มข้นในระบบราชการ และความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าประเทศราชกับพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ค่านิยมของระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้อง จึงอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลาเท่านั้น ในระบบการเมืองไทย เราจึงมักคุ้นเคยกับการแต่งตั้งคนในวงศาคณาญาติ พี่น้องร่วมสถาบัน หรือเพื่อนร่วมรุ่น มาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในระบบการเมือง โดยอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือแม้กระทั่งการพึ่งพากัน ระหว่างข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ กองทัพ และนักการเมืองในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย หากใครพลาดท่าประการใดก็จะคอยช่วยเหลือเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์นี้ และไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง การใช้อำนาจที่มิชอบส่งเสริมความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้องเหล่านี้ อาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การเลือกใช้คนที่ผิดฝาผิดตัว” (Adverse Selection) เพราะแทนที่จะได้คนที่ดีมีฝีมือที่ได้รับการคัดเลือกจากระบบแข่งขัน กลับได้คนที่ไม่เป็นโล้เป็นพายเข้ามาทำงาน ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เสียหายที่สุดนั้นมิใช่ใครอื่นใดนอกจากประเทศชาติและบ้านเมือง คำกล่าวที่ว่า “It's not what you know but who you know” นั้น จึงมิได้เกินจริงไปจากบริบทของสังคมไทยเลย


การเมืองในมหาวิทยาลัย: ภาพสะท้อนระหว่างการเมืองปัจจุบันและอนาคต

ปัจจุบัน สนามการเมืองใหญ่มีอิทธิพลต่อสนามการเมืองในมหาวิทยาลัยและความคิดของเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งอำนาจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและผลประโยชน์ หรือการรับเอาระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้องมาปรับใช้ก็ตาม โดยมักจะมีความเข้มข้นเป็นอย่างมากในหมู่คณะที่ศึกษาหรือมีความเกี่ยวพันกับ “อำนาจ” โดยตรง เช่น คณะที่ศึกษาเรื่องของการบ้านการเมือง รวมไปถึงกฎหมายและกฎระเบียบ ไม่ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะยอมรับหรือไม่ การตัดสินใจหรือพฤติกรรมบางอย่างแทบจะเดินตามรอยสนามการเมืองจริง ยกตัวอย่างเช่น การใช้หน้ากากเพื่อไขว่คว้าหาอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือการจรรโลงระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้องที่สืบต่อมาจากสนามการเมืองใหญ่นอกรั้วมหาวิทยาลัย ที่ไม่สามารถ “Put the right man on the right job” ได้อย่างเท่าเทียม ความเหมือนกันดังที่กล่าวมานี้ก็ทำให้เหล่าเยาวชนรับเอาปัญหาของระบบการเมืองไทยเข้ามาด้วย และไม่ว่าคนเหล่านี้จะตั้งใจหรือไม่ ค่านิยมหรือความคิดดังกล่าวที่นำเข้ามานี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขวนเวียนไปโดยไม่รู้จบ สนามการเมืองของคนหนุ่มสาวจึงอาจมิใช่สถานที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้แก่สังคมรอบข้างหากแต่เป็นจุดศูนย์กลางของกองอำนาจอันหอมหวานที่คอยดึงดูดเหล่าบุคคลที่ต้องการเชยชมและครอบครองมันให้มาเจอกัน ณ สถานที่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและผลประโยชน์ลงตัว นั้นทำให้สนามการเมืองในมหาวิทยาลัยกลายเป็นแบบจำลองขนาดย่อมของสนามการเมืองจริงไปโดยปริยาย

ท่ามกลางบรรยากาศช่วงเลือกตั้งทั้งหลายนี้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผลประโยชน์ ระบบอุปถัมป์และระบบพวกพ้องก็ยังคงดำเนินต่อไปทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย สิ่งที่เป็นอยู่นี้อาจสะท้อนค่านิยมในสังคมไทยบางอย่างที่เป็นประเด็นให้ขบคิดกันต่อไปว่า เราจะยอมรับการมีอยู่ของเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่ หากเลือกที่จะยอมรับ เราจะยอมรับหรือย้อมมันด้วยวิธีการใด หรือหากเลือกที่ไม่ยอมรับเสียตั้งแต่วันนี้ เราจะมีวิธีการต่อต้านมันอย่างไรท่ามกลางสังคมที่เป็นอยู่ เพราะสุดท้ายแล้วเยาวชนในวันนี้ก็จะเป็นภาพสะท้อนของผู้ใหญ่ที่ใช้อำนาจปกครองบ้านเมืองในวันข้างหน้า หากความสัมพันธ์และวิธีคิดเหล่านี้ยังมิได้เปลี่ยนแปลงไป การเมืองที่คนรุ่นใหม่วาดฝันไว้ก็คงมิได้เป็นจริงหากไม่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้น หากสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงยังไม่พัดพามาถึง การเมืองรูปแบบเดิม ๆ ก็จะคงอยู่คู่กับพวกเราไปอีกตราบนานเท่านาน



เรื่อง : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า

พิสุจน์อักษร : เฌอเดีย

ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา



แหล่งอ้างอิง :


กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช. (20 พฤษภาคม 2562). ส.ว. ไทยใครนิยาม : พวกพ้องนิยม (Cronyism) หรือเครือญาตินิยม (Nepotism). The MATTER. https://thematter.co/thinkers/cronyism-or-nepotism/77310


สมคิด พุทธศรี. (1 มิถุนายน 2557). อำนาจ ความชอบธรรม และความฉ้อฉล. ThaiPublica.


Judy Nadler and Miriam Schulman. (October 23, 2015). Favoritism, Cronyism, and Nepotism. Markkula Center for Applied Ethics.

 
 
 

Comentários


bottom of page