จาก Zero-COVID สู่การเปิดประเทศ สร้างเศรษฐกิจใหม่ ก้าวต่อไปของพญามังกรแห่งเอเชีย
- ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
- Feb 17, 2023
- 3 min read

Zero-COVID คืออะไร
Zero-COVID คือนโยบายที่มีจุดประสงค์เพื่อลดจำนวนผู้ติดโควิดลงโดยใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น ปิดประเทศ และห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ โดยนโยบายนี้แท้จริงมิได้ใช้เฉพาะในประเทศจีนเสียทีเดียว แต่เป็นนโยบายที่ทั่วโลกเคยใช้เมื่อครั้งที่เชื้อไวรัสโควิดระบาดช่วงแรก ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงและแต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการ เปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบการระบาดของไวรัสชนิดนี้ยังคงใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มข้น หรือที่เรียกว่า dynamic zero-Covid โดยมีมาตรการต่าง ๆ
ภายใต้นโยบาย เช่น ทางการท้องถิ่นต้องสั่งล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ตามอาคารและชุมชมที่พบผู้ติดเชื้อ แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะไม่มากนัก การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในชุมชน หากมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ประชาชนที่ติดโควิดต้องแยกกักตัวที่บ้าน หรือสถานกักตัวของรัฐบาล หากมีการประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่ ธุรกิจและโรงเรียนจะต้องปิดชั่วคราวร้านค้าต้องปิด ยกเว้นการจำหน่ายอาหาร และการล็อกดาวน์จะดำเนินไปจนกว่าจะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ หรือหากสถานการณ์ในพื้นที่นั้น ๆ ยังคงสาหัส มณฑลหรือเมืองนั้นจะต้องปิดพื้นที่ของตนด้วย เช่น Shanghai หรือเมืองแถบตะวันตกเฉียงใต้ของ Chengdu นอกจากนั้นกระชาชนจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเฝ้าระวังโควิดซึ่งจะบ่งบอกระดับความเสี่ยงจากการเดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ และในบางพื้นที่ต้องมีการตรวจโควิดอยู่เสมอแม้จะไม่มีความเสี่ยงก็ตาม
Zero-COVID นโยบายดาบสองคม
นับตั้งแต่จีนได้ประกาศใช้นโยบาย Zero-COVID สถานการณ์ภายในประเทศก็เกิดความระส่ำระสายตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง การประท้วงต่อต้านนโยบายที่เริ่มในล่วงเดือนพฤศจิกายน 2022 ไปจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดไฟไหม้ในอพาร์ทเมนต์ที่ล็อกดาวน์ในพื้นที่ซินเจียง รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ตามมาอีกหลายครั้งจากการสตาร์ทเครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานมานานเนื่องจากการล็อกดาวน์ และเหตุการณ์ที่คนไม่สามารถอพยพออกมาจากอาคารได้แม้จะเกิดแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนทำให้เรื่องราวที่รัฐบาลจีนพยายามปั้นแต่งว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งใช้ระบอบการปกครองแบบ Marxist-Leninist นั้นสามารถจัดการไวรัสได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยด้วยนโยบาย Zero-COVID ดูเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ยาก รัฐบาลจีนพยายามทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลได้ดูแลประชาชนอย่างดียิ่งกว่ารัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยที่ผ่อนคลายมาตรการทำให้อัตราผู้เสียชีวิตพุ่งสูง อย่างไรก็ดี รัฐบาลไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างเพียงพอในพื้นที่ที่ถูกล็อกดาวน์และพื้นที่ชนบท จึงแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนพยายามที่จะใช้นโยบายนี้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองแบบเผด็จการของตน และโจมตีประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี เรื่องราวอาจจะไม่ได้ดำเนินไปอย่างสวยหรูอย่างที่รัฐบาลจีนคาดหวังนัก
จากความสำเร็จในการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ในช่วงการแข่งขัน Beijing Winter Olympics ไวรัสโควิดสายพันธ์ Omicron ใช้เวลาไม่นานนักในการทำลายภาพฝันของรัฐบาลจีน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2022 เชื้อไวรัสระบาดหนักตั้งแต่มณฑลจี๋หลิน จนถึงกว่างตงและเข้าโจมตีมณฑลเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางความเจริญและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน ส่งผลให้จีนต้องใช้นโยบาย Zero-COVID ล็อกเาวน์อย่างเร่งด่วน ส่งผลให้ประชากรขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และต้องกักตัวอยู่ในบ้านอย่างไม่มีทางเลือก ส่งผลให้ GDP ของประเทศลดลง 2.6% และอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นถึง 20% และแทนที่รัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับผู้สูงอายุและเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในห้อง ICU รัฐบาลกลับมุ่งไปที่การสร้างศูนย์กักตัว เร่งตรวจโควิดวงกว้าง และเพิ่มความเข้มข้นในการล็อกดาวน์ ขณะที่สีจิ้นผิงก้าวขึ้นประกาศตนเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 20 อย่างเต็มภาคภูมิ
นอกจากนั้น แม้จะอยู่ภายใต้นโยบาย Zero-COVID แต่ทั้งเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Delta และ Omicron ยังคงแพร่กระจายไปทั่วประเทศ แม้รัฐบาลจีนจะยกตัวอย่างเขตปกครองพิเศษฮ่องกงเพื่อแสดงให้เห็นความสำเร็จของนโยบาย แต่หากกล่าวถึงพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีระบบสาธารณสุขที่ดีดังเช่นในฮ่องกง จากการลงพื้นที่ในหมู่บ้านต้าหลี่ มณฑลกุ้ยโจวของสำนักข่าว CNN พบว่า ชาวบ้านไม่ได้สวมใส่แมสกันเชื้อโรค ไม่มีชุดตรวจ ATK หรือแม้แต่ยาสามัญประจำบ้านก็ยังพบได้น้อย ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างปกติ ออกมารวมกลุ่มรับประทานหม้อไฟกลางแจ้ง เด็กๆ วิ่งเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีการระมัดระวังหรือรักษาระยะห่างใดๆ และจากการสอบถามชาวบ้าน ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว เป็นชายวัย 90 ปีที่เสียชีวิตเพราะความชราภาพ แต่จากการสอบถามคนขับแท็กซี่ที่เมืองถังเหรินซึ่งใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึงต้าหลี่ เขากล่าวว่า ครอบครัวของเขาที่ชนบทล้วนติดโควิด และคนรู้จักของเขาต้องเสียชีวิตที่บ้านเพราะไม่มีทุนทรัพย์ในการรักษา นอกจากนั้น จากการสอบถามแพทย์ซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลในเมืองใกล้เคียงกันนั้นกลับให้สัมภาษณ์ว่า คนในหมู่บ้านเกือบทุกคนนั้นเคยติดเชื้อแล้ว เพราะพวกเขามีอาการเช่นเดียวกับคนที่ติดโควิด เพียงแต่พวกเขาไม่เคยตรวจ และชาวบ้านก็คงจะไม่ทราบว่าพวกเขาติดโควิด เพราะอาการของโรคเหมือนกับโรคหวัดทั่วไป ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ได้รับข่าวสารมากพอไม่สามารถรู้อาการตนเองได้ว่าตนเองติดโควิด
ซึ่งในระหว่างที่ทีมข่าวได้ไปลงพื้นที่สำรวจนั้นก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพยายามจะพูดภาษาถิ่นกับชาวบ้านเพื่อไม่ให้ทีมข่าวเข้าใจสิ่งที่พวกเขาสื่อสารกัน และหลังจากนั้นก็ไม่มีชาวบ้านคนใดพูดคุยกับพวกเขาอีก และทุกครั้งที่ทีมข่าวเข้าไปขอสัมภาษณ์หรือพูดคุย เจ้าหน้าที่ผู้นี้ก็จะคอยติดตามมากีดขวางการสนทนาเสมอ บางครั้งถึงขนาดที่เข้ามาจับตัวชาวบ้านออกไปเพื่อไม่ให้สื่อสารอะไรกับทีมข่าว ซึ่งชายที่ทำงานที่โรงพยาบาลนั้นก็กล่าวว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้มาจากแผนก Propaganda หรือ โฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเป็นแผนกที่จะคอยคัดกรองข่าวสารและเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ แผนกที่คอยผลิตข่าวสารป้อนให้กับประชาชนตามที่พรรคคอมมิวนิสต์บัญชาการนั่นเอง แต่แม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด ประกอบกับพยายามกีดกันมิให้ประชาชนได้รับข่าวสารภายนอก แต่สุดท้ายการประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ก็มาถึง ซึ่งแท้จริงแล้วนั้น สาเหตุของการหักเหทิศทางการควบคุมโรคระบาดครั้งใหญ่นี้คืออะไรกันแน่ เป็นไปเพื่อชีวิตของประชาชน หรือแท้จริงแล้วคือเรื่องการเมือง?
สาเหตุของการยุตินโยบาย Zero-COVID
ก่อนอื่นนั้น นโยบายที่สีจิ้นผิงเลือกใช้ไม่ได้นำมาใช้เพื่อลดมาตรการ Zero-COVID แต่เป็นไปเพื่อลดระดับของ COVID-19 จากโรคระบาด Class A เป็น Class B ในวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นการสิ้นสุดนโยบายไปด้วย นโยบายของรัฐบาลจีนในตอนนี้คือการอยู่ร่วมกับ COVID-19 ให้ได้ และรัฐบาลจีนไม่เคยยอมรับว่านโยบาย Zero-COVID เป็นความผิดพลาดเลย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ในมุมมองของรัฐบาลจีน ความสำเร็จของนโยบายนี้ต่างหากที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นจนสามารถยกเลิกนโยบายได้
อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่าแท้จริงแล้วสาเหตุที่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายนี้มาจากการประท้วงในประเทศจีนต่อต้านนโยบาย Zero-COVID ซึ่งเริ่มต้นมาจากมหาวิทยาลัยTsinghua ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้จบการศึกษาอันถูกขนานนามว่า White Paper Protests หรือการประท้วงกระดาษขาว ซึ่งต่อยอดมาจากการประท้วง Be Water ในฮ่องกง โดยเป็นการยืนถือกระดาษเปล่า ไม่มีสิ่งใดเขียนอยู่บนนั้น แต่สื่อความหมายเป็นนัยได้ว่าแม้จะไม่ต้องเขียนอะไร สถานการณ์อันเลวร้ายในปัจจุบันก็ทำให้ทุกคนที่เห็นเข้าใจได้ว่าประชาชนกำลังเรียกร้องและต้องการสิ่งใด เป็นการซ่อนตัวตนของแกนนำและลดความละเมิดกฎหมายลง ดังนั้นจึงลดความเสี่ยงที่จะถูกจับ อย่างไรก็ดี แกนนำและผู้เข้าร่วมการประท้วงที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสีจิ้นผิงหายตัวไปอย่างไร้สาเหตุ และไม่ปรากฏว่าถูกจับกุมแต่อย่างใด
November protests เชื้อเพลิงบนกองไฟไหม้ลุกลามทั้งประเทศ
จากการล็อกดาวน์ที่ยาวนานสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายมหาศาลให้กับประชาชน ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2022 หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ทางตะวันตกของ Urumqi ประชาชนได้ลุกฮือขึ้นมาประท้วงรัฐบาล ทั้งในมหาวิทยาลัยและบนท้องถนนคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่สุดทนกับนโยบายนี้ ใน Shanghai มีผู้ออกมาเรียกร้องให้สีจิ้นผิงลงจากตำแหน่ง จนกระทั่งในวันที่ 7 ธันวาคม 2022 รัฐบาลได้ออกมาประกาศผ่อนคลายมาตรการลง ให้ประชาชนสามารถกักตัวที่บ้านได้ สื่อต่าง ๆ หันมาประชาสัมพันธ์ลดความรุนแรงของโควิดแทนที่การโจมตีและย้ำเตือนให้ประชาชนหวาดกลัวเหมือนก่อนหน้า
Chinese Center for Disease Control and Prevention (CDC) ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมโรคของจีนได้กล่าวว่า จีนได้ก้าวข้ามผ่านยอดสูงสุดของการติดเชื้อแล้วตั้งแต่ที่รัฐบาลได้ตัดสินใจยกเลิกนโยบาย Zero-Covid และประชากรกว่า 80% หรือมากกว่า 1.1 พันล้านคนได้ติดเชื้อโควิดแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังยืนยันว่าจำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์นั้นลดลงตั้งแต่จุดสูงสุดในเดือนธันวาคมจนถึงต้นเดือนมกราคม แต่จำนวนที่จีนออกมาเปิดเผยนั้น องค์การอนามัยโลก (WTO) ได้ออกมาบอกว่า เป็นการประเมินที่ต่ำไปจากความเป็นจริงมากเกินไป
อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจำนวนประชากรของจีนนั้นไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติตั้งแต่ก่อนที่จะเปิดประเทศ ขณะที่วัคซีนซึ่งจีนให้บริการแก่ประชาชนนั้นมีอัตราการป้องกันเชื้อ Omicron อย่างจำกัด ดังนั้นเชื้อระลอกใหม่จึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศทั้งในพื้นที่ชนบทและในเมือง รวมถึงช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมที่ผ่านมา ยังมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก มีเคสผู้ป่วยหนักกว่า 10,000 ราย ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มขึ้น ยารักษาขั้นพื้นฐานขาดแคลน และการจัดหายาฆ่าเชื้อไวรัสยังคงยืดเยื้อยาวนานเนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตในต่างประเทศ
Yanzong Huang สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิแห่ง the Council on Foreign Relations กล่าวว่า เชื้อโควิดในประเทศจีนแพร่กระจายราวกับเปลวไฟโดยไร้อุปสรรคขัดขวาง ความเร็วและขนาดของการแพร่กระจายนี้ท้าทายภูมิปัญญาดั้งเดิมของจีน
เกือบจะในเวลาเดียวกันที่เชื้อโควิดก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายในพื้นที่เมืองขณะที่เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่ชนบท แต่ Huang ได้กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับขนาดและความเสียหาย รัฐบาลจีนกล่าวว่าประชากรจำนวนมากกว่า 72,500 คนเสียชีวิตจากโควิดในโรงพยาบาลช่วงระหว่างวันที่ 8 ธันวาคมถึง 19 มกราคม แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าตัวเลขเหล่านี้นั้นนำเสนอผลกระทบจากโควิดน้อยกว่าความเป็นจริง
Jiao Yahui เจ้าหน้าที่จาก the National Health Commission กล่าวในการสัมภาษณ์ซึ่งเผยแพร่โดย CCTV ว่าความต้องการการบริการทางสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนในเมืองใหญ่ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดแล้วแต่ในเมืองเล็กและเมืองขนาดกลางกำลังค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตรุษจีนนี้ และ 80% ของเตียงในโรงพยาบาลระดับสูงและระดับกลางถูกใช้รองรับผู้ป่วยโควิดซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 54% ในวันที่ 25 ธันวาคม 2022 เธอยังชี้ว่า การบริการสาธารณสุขของจีนกำลังประสบกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน
ศาสตราจารย์ Emma McBryde นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัย James Cook ใน ออสเตรเลียกล่าวว่า ทุกรัฐบาลควรจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบจากการล็อกดาวน์และปัญหาจากโควิด โดยเธอชี้ว่าวิธีการที่ได้รับการแนะนำมากที่สุดคือการค่อย ๆ คลายล็อกดาวน์และเตรียมระบบสาธารณสุข เตรียมทรัพยากรในการรักษาและจัดการโรคให้พร้อม แต่สิ่งที่รัฐบาลจีนทำนั้นตรงกันข้าม เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศเปิดประเทศทันทีหลังจากยกเลิกนโยบาย Zero-COVID แล้ว ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนาและใช้นโยบาย Zero-COVID กับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น มณฑลฉงชิ่งที่กำลังสร้างศูนย์กักตัวใหม่ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นอัมพาตและเป็นการฆ่าตัวตายของรัฐบาลจีนเอง
ศาสตราจารย์ William Hurst รองผู้อำนวยการ ณ the Centre for Geopolitics at the University of Cambridge ยังกล่าวว่าเขารู้สึกประหลาดใจกับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของรัฐบาลจีน ทั้งที่ยังเห็นได้ชัดว่ายังมีการขาดแคลนวัคซีนอยู่มาก หรือ Murong Xuecun นักเขียนชาวจีนที่ได้สัมภาษณ์ชาว Wuhan ในระหว่างล็อกดาวน์ช่วงปี 2020 ยังกล่าวว่า การกลับทิศทางของรัฐบาลจีนในครั้งนี้เป็นความหุนหันพลันแล่นและเป็นการตัดสินใจของคนผู้เดียว ไร้คำปรึกษา และ Chen Daoyin อดีตผู้ช่วยศาสตราจารย์ในด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Shanghai ก็ได้กล่าวเช่นกันว่าการตัดสินใจโดยกะทันหันของสีจิ้นผิงนั้นคาดเดาไม่ได้และไม่มีความแน่นอน
Benjamin Cowling ผู้ซึ่งทำงานกับ WHO Collaborating Centre for Infectious Disease Epidemiology and Control และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Hong Kong กล่าวว่า โดยปกติแล้วการผ่อนคลายมาตรการโควิดจะเริ่มจากขั้น Zero-COVID ซึ่งมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น จากนั้นจะเข้าสู่ขั้น flattening the curve หรือค่อย ๆ ลดระดับการติดเชื้อลงไม่ให้พุ่งสูง และสุดท้ายคือช่วง recovery phase ซึ่งจะเป็นการค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการ หรือที่เรียกว่าช่วง living with the virus คือการทำให้โควิดเป็นเรื่องปกติและอยู่ร่วมกันให้ได้ แต่การผ่อนคลายมาตรการของจีนคือการกระโดดข้ามจากขั้น Zero-COVID มาสู่ขั้น living with the virus ทันที ซึ่งเป็นการผ่อนคลายที่ข้ามขั้นตอนที่ควรจะเป็น รวมถึงการรับวัคซีนยังคงไม่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการวัคซีนตั้งแต่ 3 โดสขึ้นไป ประเทศจีนจึงควรลดข้อบังคับที่กีดกันการเข้าถึงวัคซีนลง และกระตุ้นให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนมากกว่าประชาสัมพันธ์ในเชิงที่ว่าโควิดเป็นเพียงโรคไข้หวัดธรรมดา
มีการตั้งข้อสงสัยบ่อยครั้งว่า หรือนี่อาจจะเป็นความพยายามของสีจิ้นผิงในการทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกใหม่ และทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ ซึ่งศาสตราจารย์ McBryde ก็ได้กล่าวว่ามีโอกาสน้อยมากเพราะประชากรกว่า 80% ได้รับเชื้อแล้ว และการจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะมีโอกาสสูงหากเป็นเชื้อโควิดดั้งเดิมหรือสายพันธ์ุ Delta แต่หากเป็น Omicron โอกาสเกิดไม่มากนัก อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ Chi Chun-huei ผู้อำนวยการแห่ง the centre for global health at Oregon State University ได้กล่าวว่าการตัดสินใจเปลี่ยนทิศทาง 180 องศาเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ตราบใดที่มีการเตรียมตัวอย่างดีพร้อม และจุดประสงค์ต้องเป็นไปเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้ออาการหนัก
ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากที่จะล่วงรู้ความคิดหรือจิตใจของสีจิ้นผิงว่าแท้จริงนั้นเขามีแผนการอย่างไรเบื้องหลังการยกเลิกนโยบายนี้ ประชาชนชาวจีนได้ออกมาแสดงความเห็นว่าแท้จริงแล้วนั้นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบาย Zero-COVID มาตลอดคือความต้องการครองอำนาจ มิใช่ความห่วงใยประชาชน และนโยบายนี้ก็นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และความไม่พอใจจากประชาชนที่เคยเคารพรักผู้นำของพวกเขาซึ่งต้องประสบความยากลำบาก อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลน บางคนต้องสูญเสียคนที่รักไปด้วยเชื้อไวรัสนี้ ทำให้คะแนนความนิยมของสีจิ้นผิงลดลงอย่างมาก จนบางคนอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่า หรือนี่จะเป็นเหตุการณ์ที่โค่นล้มอำนาจของผู้นำที่ยืนอยู่บนภูเขาสูงใหญ่ที่สุดแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนลงได้?
สีจิ้นผิง ก้าวต่อไปของชายผู้กุมบังเหียนมังกร
การรวมอำนาจในการบริหารไว้ในมือของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงแต่เพียงผู้เดียวทำให้เขากลายเป็นแนวหน้าในสนามรบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ประท้วง แม้ว่าจะไม่ได้มีความชัดเจนว่ามีการทำงานร่วมกันของแต่ละพื้นที่ของจีน กล่าวคือ แม้ว่าผลที่เกิดจากนโยบายจะไม่ได้มาจากการดำเนินงานของสีจิ้นผิงเพียงผู้เดียวก็ตาม นอกจากนั้น รัฐบาลยังไม่ได้แสดงออกอย่างแจ้งชัดในการออกมาตรการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ซึ่งผู้สังเกตการณ์ก็ให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลจีนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหานานัปการตั้งแต่การยกเลิกนโยบาย Zero-COVID การฟื้นฟูมาตรการทางเศรษฐกิจ และจัดการปัญหาการว่างงาน รัฐบาลจึงอาจจะถือโอกาสใช้จังหวะนี้ในการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด นอกจากนั้น การที่มีการประท้วงทำให้รัฐบาลรีบฉวยโอกาสในการประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ยังทำให้รัฐบาลมีข้ออ้างในการไม่ต้องรับผิดในผลกระทบที่เกิดหากอัตราการติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสามารถโยนความผิดให้กับกลุ่มผู้ประท้วงที่กดดันให้รัฐบาลต้องตัดสินใจเช่นนี้ได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลจีนใช้มาเสมอในการใช้ทั้งแรงกดดันจากต่างประเทศและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศเพื่อลดแรงกระแทกที่รัฐบาลจะได้รับจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนสีจิ้นผิงซึ่งกำลังพยายามทำคะแนนนิยมเพื่อสร้างความชอบธรรมในการขยายเวลาเป็นประธานาธิบดีที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ จากที่ประธานาธิบดีคนอื่น ๆ จะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 2 สมัยได้เคยกล่าวว่า “The leadership and institutional superiority of each country will be judged by its response to the pandemic” (ความเป็นผู้นำและความมีอำนาจสูงสุดทางสถาบันของแต่ละประเทศจะถูกตัดสินจากการรับมือกับโรคระบาดนี้) และ “Time and trends are on our side, which is the source of our resolve and vigor, and why we are determined and confident.” (เวลาและกระแสนิยมกำลังอยู่ข้างเรา ซึ่งเป็นขุมพลังแห่งการแก้ปัญหาและความกระตือรือร้นของเรา และเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีปณิธานแน่วแน่และมั่นใจเช่นนี้) ก็ต้องจับตารอดูกันต่อไปว่า หลังจากการยกเลิกนโยบายนี้แล้ว รัฐบาลจีนและสีจิ้นผิงจะสามารถรักษาความชอบธรรม รวมถึงความมั่นคงทางการเมืองที่พยายามประคับประคองมาตลอดได้หรือไม่ และถ้าหากตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นจนกระทั่งแซงหน้าสหรัฐอเมริกา คู่แข่งที่ตนสบประมาทมาตลอด จนเกิดเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประเทศ
และเป็นการเสียศักดิ์ศรีที่ประธานาธิบดีผู้นี้แบกไว้บนบ่าอย่างภาคภูมิใจ สีจิ้นผิงจะนำพาสาธารณรัฐประชาชนจีนก้าวเดินต่อไปเช่นไร เป็นสงครามการเมืองที่ถูกบังหน้าด้วยสงครามไวรัสครั้งใหญ่ซึ่งควรค่าแก่การติดตามต่อไปอย่างยิ่ง
เรื่อง : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
พิสูจน์อักษร : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา
แหล่งข้อมูล :
AFP. (26 Dec 2022). China’s propaganda machine sputters in zero-Covid reversal https://hongkongfp.com/2022/12/26/chinas-propaganda-machine-sputters-in-zero-covid-reversal/
Benjamin Cowling. (5 Jan 2023). The impact of ending ‘zero COVID’ in China. https://www.nature.com/articles/d41591-023-00001-1
Explained Desk. (28 June 2022). Explained: What is a ‘zero-Covid’ strategy?
https://indianexpress.com/article/explained/everyday-explainers/explained-zero-covid-strategy-china-7994669/
Helen Devidson, Verna Yu, and Chi Hui Lin. (29 Jan 2023). It was all for nothing’: Chinese count cost of Xi’s snap decision to let Covid rip https://www.theguardian.com/world/2023/jan/29/chinese-cost-covid-xi-lockdowns-china
Joyce Zhou and Yew Lun Tian. (8 Jan 2023). China reopens borders in final farewell to zero-COVID https://www.reuters.com/world/china/china-reopens-borders-final-farewell-zero-covid-2023-01-08/
Kawashima Shin. (30 Jan 2023). China: Exploiting the ‘White Paper Protests’ to Revoke the Zero-COVID Policy https://thediplomat.com/2023/01/china-exploiting-the-white-paper-protests-to-revoke-the-zero-covid-policy/
Nectar Gan. (28 December 2022). Zero-Covid was supposed to prove China’s supremacy. How did it all go so wrong for Xi Jinping? https://edition.cnn.com/2022/12/27/china/china-2022-zero-covid-intl-hnk-mic/index.html
Paul Haenle. (1 Dec 2022). China’s Zero COVID Policy Is a Double-Edged Sword https://carnegieendowment.org/2022/12/01/china-s-zero-covid-policy-is-double-edged-sword-pub-88535
Comments