ChatGPT: มิติใหม่โลก AI สู่การพลิกเป็น Game Changer ในทุกวงการ
- เฌอเดีย
- Mar 24, 2023
- 3 min read
Updated: Mar 27, 2023

วงการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดบนถนนแห่งเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากการสร้างโปรแกรม Chatbot อย่าง ‘ChatGPT (Generative Pre-trained Transformer)’ ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาและกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ผู้คนหลากหลายวงการต่างตื่นเต้นกับ ChatGPT ที่กำลังเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บ้างก็หวาดหวั่นกับความชาญฉลาดของมันที่อาจแย่งงานมนุษย์ การถูกครอบงำทางความคิด ตลอดจนกังวลว่าจะมีการนำโปรแกรมไปใช้ใน ‘ด้านมืด’ แทน ‘ด้านสว่าง’
ChatGPT คืออะไร?
ChatGPT เป็นปัญญาประดิษฐ์นักตอบคำถามที่พัฒนาโดย OpenAI ที่ผู้ใช้สามารถพิมพ์คำถามและรอการตอบกลับได้ภายในไม่กี่วินาที โปรแกรมดังกล่าวเปี่ยมไปด้วยความสามารถที่หลากหลาย ตั้งแต่การเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ การเขียนโครงเรื่องนิยาย การเขียนโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย การวางแผนทริปการท่องเที่ยว ตลอดจนให้คำแนะนำปัญหาทั่วไป นอกจากนี้โปรแกรมดังกล่าวยังสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากการให้มนุษย์เป็นผู้ฝึกสอน (trainer) และพัฒนาคุณภาพการสนทนา ให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า ‘Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF)’
กระบวนการที่ทำให้ AI เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์
เทคนิค Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) คือ การสอนระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (trial-and-error) ผ่านการทดลอง โดยระบบจะได้รับ feedback จากผู้ใช้ แล้วนำมาปรับปรุงกิจกรรมหรือการกระทำของตนเองเพื่อให้ได้รับรางวัลตอบแทนการสนทนาที่ดีที่สุด (reward) ทั้งยังดึงข้อมูลจำนวนมหาศาลจากอินเทอร์เน็ตให้โมเดลทางภาษา (AI Languge Model) ไปอ่าน กว่า 500,000 ล้านคำและสร้างคำตอบในรูปแบบของตัวเองได้
ChatGPT ไม่ได้เพียงสนทนาตามข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนมาเท่านั้น แต่ยังสามารถปฏิเสธคำถามที่ไม่เหมาะสมและตอบโต้คำด่าทอได้อย่างสุภาพ เช่น หากคำถามของผู้ใช้ส่อแววเป็นพฤติกรรมในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งหรือการแก้แค้น นอกจาก Chatbot จะชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่วิธีที่ดีและจะก่อให้เกิดผลกระทบแย่ ๆ ตามมาแล้ว นอกจากนั้นยังสามารถแนะนำให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเคารพและสร้างสรรค์ด้วย หรือในกรณีที่ถูกผู้ใช้ด่าทอ Chatbot จะตอบโต้ด้วยการขอโทษที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกขุ่นเคือง และในฐานะที่เป็นโมเดลทางภาษา มันก็พร้อมจะช่วยเหลือผู้ใช้อย่างเต็มที่ กล่าวได้ว่า Chatbot ตัวนี้ไม่ได้ตอบคำถามแบบ 1+1 = 2 แต่ยังแฝงความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย
จุดเด่นด้านความสามารถของ ChatGPT (Capabilities)
1. จดจำบทสนทนาก่อนหน้าที่คุยกันไปแล้วได้
จุดเด่นข้อนี้ช่วยประหยัดเวลาในการสนทนา เช่น ผู้ใช้สามารถถามคำถามต่อเนื่องได้ แล้วโปรแกรมก็จะเข้าใจว่าพูดถึงบริบทใด โดยไม่ต้องเขียนคำถามใหม่ทั้งหมด เช่น “Tell me more” และสามารถต่อบทสนทนาต่อไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ
2. สื่อสารในรูปแบบการสนทนาเชิงลึกได้
ChatGPT สามารถตอบโต้บทสนทนาได้อย่างมีชั้นเชิง ฉับพลัน และผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว เสมือนหนึ่งมีมนุษย์อีกคนกำลังพูดคุยกับเราอยู่ในขณะนั้น ทั้งยังพูดคุยด้วยไวยากรณ์ที่ถูกต้องและระดับภาษาที่เหมาะสมกับข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไปด้วย
3. สร้างโครงเรื่องและออกแบบเกม
เด็กชายวัย 11 ปีใช้ประโยชน์จาก Chatbot ด้วยการใช้ข้อความสร้างเกมขึ้นมา ซึ่งในเกมจะประกอบไปด้วยสถานการณ์จากเรื่อง Harry Potter และมีตัวเลือก A, B, C, D ให้ผู้เล่นเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์ในแบบฉบับของตัวเอง โดยเกมนี้ได้รับความนิยมสูงจนขึ้นหน้าแรกของ ‘Reddit’ เว็บบอร์ดสัญชาติอเมริกันด้วย
4. เป็นเพื่อนช่วย ‘แพลน’
Lisa Monks นักยุทธศาสตร์การตลาดทางโซเชียลมีเดีย (Social Media Marketing Strategist) ให้ ChatGPT ช่วยแนะนำแผนการวิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายในการวิ่งระยะทาง 5 กิโลเมตรในระยะเวลา 3 เดือน และโปรแกรมก็ลิสต์วิธีที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ครอบคลุมตั้งแต่การฝึกให้ร่างกายคุ้นชินต่อการออกกำลังกาย การวิ่งที่ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้น รวมทั้งการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงมาให้
นอกจากการวางแผนด้านสุขภาพแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการวางแผนในเรื่องอื่น ๆ ได้ตามใจชอบ เช่น เมื่อป้อนข้อมูลลงไปว่า ‘จะไปเที่ยวประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 3 วันกับเพื่อนสนิท 2 คน ช่วยแนะนำแพลนการท่องเที่ยวให้พวกเรามีประสบการณ์ที่ดีที่สุดหน่อย’ ปัญญาประดิษฐ์ก็จะแจกแจงสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละวันให้เรา เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาจใช้คำแนะนำดังกล่าวเป็นแนวทาง (guidelines) แล้วนำแพลนมาปรับอีกครั้งหนึ่งให้สอดคล้องกับความต้องการส่วนบุคคลก็ได้
5. เป็นจุดประกายด้านการเขียน ไม่ว่าจะเป็นนิยาย บทกวี บทละคร หนังสือ เรียงความ ตลอดจนการคิดบทสัมภาษณ์วิทยากร
ChatGPT ผลิตงานสร้างสรรค์ได้ดีทีเดียวและใช้ภาษาได้อย่างสละสลวย ระหว่างการถ่ายทอดสดของรายการ Secret Sauce พิธีกรได้ทดลองความสามารถโดยสั่ง ให้ปัญญาประดิษฐ์ ‘เขียนบทแรกของนิยายเกี่ยวกับเด็กน้อยเพศหญิง โดยมีตัวละครเป็น Lisa Blackpink ซึ่งเกิดมาในโลกที่มีแต่ซอมบี้’ เพียงกด enter ไปไม่กี่วินาที Chatbot ก็ตอบกลับมาพร้อมชื่อเรื่อง อารัมภบท และเนื้อเรื่องยังกล่าวถึงตัวละครชื่อ Jisoo ด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดที่ความไม่ละเอียดของเนื้อหา แต่ก็มีข้อดีที่ช่วยริเริ่มไอเดียที่ผู้เขียนสามารถนำไปปรับปรุงต่อด้วยจินตนาการของตัวเอง
ข้อจำกัด (Limitations) ประการสำคัญที่ยังรอการพัฒนา
มีโอกาสผิดพลาดในการให้ข้อมูลอย่างมั่นใจซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจแบบผิด ๆ (misconception) ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจมีข้อผิดพลาดและอคติได้ ผู้ใช้พึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ความรู้จำกัดอยู่แค่ถึงปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นปีที่อัปเดตล่าสุด (วันที่สืบค้นข้อมูล: 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023)
ประมวลผลและตอบคำถามเป็นภาษาอื่นได้ไม่แม่นยำเท่าภาษาอังกฤษ
ChatGPT สามารถโต้ตอบเป็นภาษาไทยได้ในระดับใช้ได้ อย่างไรก็ตาม หากต้องการทราบข้อมูลในเชิงลึก การถามโดยใช้ภาษาอังกฤษก็ยังถือว่าได้เปรียบในเชิงฐานข้อมูลที่กว้างกว่า
ความสั่นสะเทือนต่อวงการการศึกษาทั่วโลก
จากเหตุการณ์ที่โรงเรียนในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาปิดกั้นการเข้าถึง ChatGPT นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “การศึกษาควรจะปรับไปในทิศทางใด?” “อาจารย์ยังควรให้ข้อสอบ take-home หรือไม่?” และจริง ๆ แล้ว “สถาบันการศึกษาควรจะให้อะไรแก่เด็ก?” ในยุคสมัยที่สามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว
เหตุผลเบื้องหลังการแบนดังกล่าวนั้น เป็นเพราะบุคลากรเกรงว่าจะเกิดผลกระทบด้านลบ (negative impact) ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว จึงไม่ให้ใช้ ChatGPT ผ่านอุปกรณ์ของโรงเรียน
แม้เครื่องมือดังกล่าวจะให้ข้อมูลอย่างรวดเร็ว แต่กลับไม่ได้พัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาของผู้เรียนเท่าไรนัก ทั้งมีข้อกังวลถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจาก ChatGPT ยังไม่มีกระบวนการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง คำตอบที่ได้รับมาจึงไม่สามารถการันตีได้ว่าถูกต้อง ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันก็ยังฉลาดจนสามารถทำข้อสอบได้ผ่านฉลุย
คว้าเกรด B จากข้อสอบ MBA, Wharton
Christian Terwiesc ศาสตราจารย์วิทยาลัยวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (the Wharton School of the University of Pennsylvania) เปิดเผยว่า ChatGPT ทำข้อสอบหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration) ได้คะแนนถึงเกรด B ได้อย่างสบาย และตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคตมันอาจเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับอาชีพนักให้คำปรึกษาธุรกิจได้ นอกจากนี้ ในแวดวงด้านการแพทย์ Chatbot ดังกล่าวก็ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว
สอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์สหรัฐฯผ่าน
U.S. Medical Licensing Examination (USMLE) หรือที่รู้จักกันว่าเป็นการสอบวัดความรู้และทักษะทางการแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งการสอบออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์
การสอบทางคลินิก
การสอบความรู้ประยุกต์ใช้ในการรักษาประจำวัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์บน medRxiv เผยว่า ChatGPT ไม่เพียงแต่สอบ USMLE ผ่านหมดทั้ง 3 ขั้นตอน แต่ยังสร้างความประทับใจด้วยการแสดงวิธีหาคำตอบออกมาอีกด้วย ถึงแม้จะตอบคำถามได้ในระดับแม่นยำ ‘ปานกลาง’ เท่านั้นก็ตาม
ในส่วนของความกังวลในการแย่งงานของแพทย์ รศ.ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อาจารย์ภาคภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องดังกล่าว เพราะ ChatGPT ได้รับการตั้งโปรแกรมให้หลีกเลี่ยงการวินิจฉัยทางการแพทย์ จึงกล่าวได้ว่า เครื่องมือนี้จะเป็นตัวช่วยด้านการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ มากกว่าการเข้ามาแย่งงานวิชาชีพแพทย์
GPTZero ดักจับการเขียนรายงานฝีมือหุ่นยนต์
Edward Tian นักศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วัย 22 ปี แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) คิดค้นโปรแกรมที่ชื่อว่า GPTZero ซึ่งสามารถแยกแยะผลงานของคนออกจากผลงานของปัญญาประดิษฐ์ได้ Edward เผยว่า เขาจะพัฒนาโมเดลอย่างต่อเนื่องและเพิ่มเสถียรภาพของระบบ เพื่อป้องกันการใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ในทางเทา ๆ เช่น การคัดลอกผลงานและใช้ AI เขียนบทความ
ChatGPT จะมาทดแทน Google หรือไม่?
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ยืนยันการประกาศเป็นผู้สนับสนุนการวิจัยและร่วมลงทุนกว่า $10,000,000,000 หรือประมาณ 326,000 ล้านบาทให้กับ OpenAI ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT จะเห็นได้ว่า Microsoft ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล ทั้งยังจะนำ ChatGPT มาผสานเข้ากับ Bing บริการเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ที่ตนเป็นเจ้าของ ถือได้ว่าเป็นการก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นระดับแนวหน้าและเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ Google อีกด้วย
ด้าน Google ก็ได้เปิดตัว AI Chatbot ชื่อ ‘Bard’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นระบบที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน รายงานข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า ระบบจะใช้แบบจำลองภาษา LaMDA (Language Model for Dialogue Applications) โดย Bard นั้นเป็นเครื่องมือตอบคำถามที่สามารถย่อยข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย และล่าสุด Google ได้ประกาศว่ากำลังเตรียมเปิดทดสอบสู่สาธารณะ
แม้ปัจจุบัน ChatGPT ยังไม่สามารถนำมาใช้งานทดแทน Google ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะสามารถพัฒนาให้ลดช่องโหว่จนข้อมูลมีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากในปัจจุบัน ChatGPT ก็ยังมีความเสี่ยงที่ระบบจะรับรู้ข้อมูลและส่งข้อมูลนั้นต่ออย่างผิด ๆ ซึ่งจุดนี้เป็นความท้าทายที่ Google ยังสามารถทำได้ดีกว่า เพราะ Google แสดงข้อมูลการค้นหาที่เราสามารถกลั่นกรองและเลือกข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมาใช้ได้ ในขณะที่ ChatGPT จะเป็นการโต้ตอบด้วยข้อความธรรมดา ๆ ซึ่งไม่มีการอ้างอิงประกอบให้ผู้ใช้ได้ตรวจสอบว่าจริงหรือเท็จ
นักวิทยาศาสตร์ต้องการพัฒนา ChatGPT ไปถึงจุดไหน?
รศ.ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ไว้ว่า ตัวเต็มของ ChatGPT คือ สติปัญญา (Intelligence) ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์ มีความคิดสร้างสรรค์ มิฉะนั้น Chatbot จะกลายเป็นเครื่องมือนกแก้วนกขุนทอง ที่ขาดความเป็นตัวของตัวเอง
แม้ตอนนี้ยังเป็นหนทางอันอีกยาวไกล ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาอีกมาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีการปฏิวัติเทคโนโลยีด้านภาษา ถึงขนาดที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างองค์ความรู้ในทางวิจัยได้เอง เช่น สามารถคิดค้นยาได้ จากที่ในความเป็นจริงจะต้องใช้ความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนนับไม่ถ้วน
. . .
ปัญญาประดิษฐ์นักตอบคำถาม ChatGPT กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานของผู้คน โดย scale ความฉลาดของ ChatGPT นั้นมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่การช่วยงานที่เป็นกิจวัตร (routine) เช่น การเขียนโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ตอบอีเมล์ลูกค้า ซึ่งมันสามารถจัดการได้อย่างสบายมาก ส่วนงานที่ซับซ้อนขึ้นอย่างการเขียนโปรแกรม แม้จะทำได้ ก็ยังไม่สมบูรณ์เท่าไรนัก ต่อมาใน scale ที่ต้องใช้ความฉลาดเหนือขึ้นไปอีกอย่างงานที่ต้อง personalized หรือ customized ก็ยังคงต้องอาศัย ‘คน’ ผู้มีความเชี่ยวชาญโดยตรงอยู่ดี
ทั้งนี้ ท่ามกลางความสามารถอันหลากหลายของ Chatbot ดังกล่าว ก็มีความเสี่ยงและข้อกังวลเรื่องการกระทำผิดศีลธรรมแฝงมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด การที่มีปฏิบัติการข่าวสาร หรือที่รู้จักกันในชื่อ IO (Information Operation) แทรกซึมเข้าถึงความคิดของผู้คนในโซเชียลซึ่งผู้ใช้งานก็แยกไม่ออกว่าข้อความที่ส่งมานั้นมาจากมนุษย์หรือเครื่องมือกันแน่ ตลอดจนการที่ผู้ใช้งานอาจป้อนข้อมูลที่ชี้นำให้ส่งเสริม ‘การเหยียดและการกระทำที่ผิดกฎหมาย’ ได้
ความชาญฉลาดในการกลั่นกรองและสังเคราะห์ข้อมูลของ ChatGPT มีคุณูปการต่อการจุดประกายแนวคิด แต่ศักยภาพของมันอาจยังไปไม่ถึงการมี ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และมี ‘ความสามารถกลั่นกรองข้อเท็จจริง’ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคตจะมีการยกระดับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ไปถึงขั้นไหนและผู้คนต้องเตรียมรับมือกับ Disruption อย่างไรให้เท่าทัน
เรื่อง : เฌอเดีย
พิสูจน์อักษร : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ
บรรณานุกรม
กัญญาภัค ทิศศรี. (2566). ทำไมโรงเรียนในนิวยอร์กจึงสั่งปิดกั้น ChatGPT?. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1047153
กัญญาภัค ทิศศรี. (2566). นักศึกษาในสหรัฐ สร้าง ‘GPTZero’ แอปตรวจจับบทความที่ใช้ ChatGPT เขียน. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1048204
เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช. (2566). ศึกประชัน AI แห่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลก. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://www.posttoday.com/post-next/innovation/690488
ตฤณ ตารพล. (2565). โลกสะเทือนหรือไม่? การมาของ ‘ChatGPT’ จะ Disrupt วงการใดบ้าง. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://thestandard.co/chatgpt-disrupt-tech/
เทคซอส. (2566). Google เปิดตัว Bard AI Chatbot สู้กระแส ChatGPT โชว์ฟีเจอร์เด่น กรองข้อมูลที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น. สืบค้น 18 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://techsauce.co/news/google-bard-ai-chatbot-fight-chatgpt-microsoft
Damir Yalalov, (2022), 11-year-old boy’s game for ChatGPT is blowing up the internet. Retrieved 18 February 2023, from https://mpost.io/11-year-old-boys-game-for-chatgpt-is-blowing-up-the-internet/
Jennifer Elias, (2023), Google announces Bard A.I. in response to ChatGPT. Retrieved 18 February 2023, from https://www.cnbc.com/2023/02/06/google-announces-bard-ai-in-response-to-chatgpt.html
Kalhan Rosenblatt, (2023), ChatGPT banned from New York City public schools’ devices and networks. Retrieved 18 February 2023, from https://www.nbcnews.com/tech/tech-news/new-york-city-public-schools-ban-chatgpt-devices-networks-rcna64446
Katie Deighton, (2023), Companies Tap Tech Behind ChatGPT to Make Customer-Service Chatbots Smarter. Retrieved 18 February 2023, from https://www.wsj.com/articles/companies-tap-tech-behind-chatgpt-to-make-customer-service-chatbots-smarter-11674509622
Mark Schaefer, (2022), 20 Entertaining Uses of ChatGPT You Never Knew Were Possible. Retrieved 17 February 2023, from https://medium.com/@markwschaefer/20-entertaining-uses-of-chatgpt-you-never-knew-were-possible-3bc2644d4507
Rupam Deb, (2022), What is ChatGPT? Top Capabilities and Limitations You Must Know. Retrieved 18 February 2023, from https://emeritus.org/blog/ai-ml-what-is-chatgpt
コメント