top of page

เจ้าเซื่อเรื่องโชคลางบ่ : ว่าด้วยพลังเหนือธรรมชาติและโชคลางในวัฒนธรรมต่าง ๆ



หากกล่าวถึงพลังเหนือธรรมชาติ ผู้คนในแต่ละวัฒนธรรมต่างมีภาพในหัวเกี่ยวกับคำ ๆ นี้แตกต่างกัน สังคมเอเชียอาจนึกถึงผีสางนางไม้ เทพผู้พิทักษ์ในธรรมชาติ หรือเจ้าที่เจ้าทางผู้อาจนำโชคลาภมาให้เมื่อได้รับการบูชา ในขณะเดียวกัน สังคมยุโรปอาจตีความคำ ๆ นี้ว่าเป็นมนต์ดำหรือเป็นมาร (Satan) ที่จ้องจะทำร้ายชาวคริสต์ก็เป็นได้

ความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาตินั้น หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นคงต้องเล่าย้อนไปถึงยุคโบราณ ในเวลาที่ผู้คนยังไม่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติมากนัก และใช้ชีวิตเพียงเพื่อให้อยู่รอดในแต่ละวัน อย่างไรก็ดี พวกเขาต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝนตก ฟ้าร้อง ลมพายุ หรือแม้แต่ภูเขาไฟระเบิด ด้วยความที่พวกเขายังไม่มีความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ จึงมีความเกรงกลัวต่อปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้เหล่านี้

จากความเกรงกลัวดังกล่าวนำมาสู่ความพยายามหาคำอธิบายต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และนี่จึงต้นเหตุของ “ความเชื่อ” ที่ก่อตัวขึ้นในจิตใจของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีความเชื่อว่าบางสิ่งกำลังควบคุมธรรมชาติอยู่ พวกเขาจึงพยายามหาวิธีการต่าง ๆ ทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น และเพื่อเรียกร้องให้ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในบางกรณี ตัวอย่างเช่น การทำพิธีบูชายัญต่อธรรมชาติเพื่อไม่ให้เกิดลมพายุ หรือการทำพิธีขอฝน เป็นต้น

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน วิทยาการก้าวหน้าไปอย่างมากทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ต่างก็ได้รับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์แล้ว แต่ความเชื่อที่ฝังลึกในจิตใจมนุษย์ยังคงอยู่ นำมาสู่แนวทางการปฏิบัติอันได้รับอิทธิพลมาจากพลังเหนือธรรมชาติที่คนในปัจจุบันยังคงเชื่อและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีชีวิต

บทความนี้จึงต้องการนำเสนอเรื่องราวเหนือธรรมชาติที่น่าสนใจในวัฒนธรรมต่าง ๆ และหาคำตอบว่า ทำไมคนในปัจจุบันยังคงเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่


ความเชื่ออันเก่าแก่ : สิ่งที่อยู่เหนือ “ธรรมชาติ” ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น


วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างมาก ความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติของญี่ปุ่นจึงอยู่ในรูปแบบของพลังงานที่ควบคุมธรรมชาติในชีวิตประจำวันเสียส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น เหล่าผีโยไก ซึ่งเป็นภูตผีที่สิงอยู่ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร ผีโยไกที่มีชื่อเสียง เช่น ภูตแม่น้ำกัปปะ (Kappa 河童) และ ปีศาจยักษ์โอนิ (Oni 鬼) มักถูกนำมาดัดแปลงเป็นตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่นหลาย ๆ เรื่อง นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังมีความเชื่อเรื่อง ‘คามิ (Super Being)’ เทพเจ้าที่เกิดจากแม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไฟ ลม ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ด้วยเช่นกัน เนื่องจากชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าธรรมชาตินั้นแท้จริงแล้วถูกควบคุมโดยสิ่งที่มองไม่เห็น จึงมักมีวิถีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ซึ่งได้ทำต่อกันมาจนกลายเป็นวิถีชีวิต เช่น การแขวนตุ๊กตาไล่ฝน (Teruterubouzu てるてる坊主) เพื่อป้องกันไม่ให้ฝนตก เป็นต้น


ภูตกัปปะ ในภาพยนตร์แอนิเมชั่น “Summer Days with Coo (2007)” กำกับโดย เคอิจิ ฮาระ


ความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติและโชคลางที่ผูกพันกับศาสนา


เมื่อสังคมมนุษย์มีการพัฒนามากขึ้น แนวความเชื่อทางศาสนาจึงถือกำเนิด และเนื่องจากศาสนาต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างมากในยุค ๆ หนึ่ง จึงก่อให้เกิดความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่ผูกติดกับศาสนาต่าง ๆ มาด้วยเช่นกัน

ในศาสนาคริสต์ ความเชื่อเรื่องโชคลางที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ของพระเยซูคริสต์มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องเลข 13 อันเป็นเลขอาถรรพ์ที่จะนำความโชคร้ายมาสู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเลขนี้ โดยความเชื่อดังกล่าวมีต้นกำเนิดมาจากสาวกที่ทรยศพระเยซูจนเป็นเหตุให้พระองค์ต้องถูกตรึงกางเขนอย่าง “ยูดาส อิสคาริโอต (Judas Iscariot)” ซึ่งเป็นคนที่นั่งร่วมโต๊ะอาหารคนที่ 13 ในการเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่าในขณะร่วมมื้ออาหารนั้น ยูดาสได้ทำเกลือหก จึงเป็นที่มาของความเชื่อว่าหากผู้ใดทำเกลือหกจะนำมาซึ่งโชคร้ายแก่ตัวผู้นั้น


ภาพ The Last Supper หรือ พระกระยาหารมื้อสุดท้าย ผลงานของ เลโอนาร์โด ดา วินชี จิตรกรชาวอิตาลี ภายในรูปภาพประกอบไปด้วยพระเยซูคริสต์และสาวกทั้ง 12 คน รวมถึง ยูดาส อิสคาริโอต ที่นั่งลงที่โต๊ะอาหารเป็นคนที่ 13


ชาวคริสต์ในปัจจุบันต่างได้รับอิทธิพลจากความเชื่อดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้นไม่มากก็น้อย บางคนยังมีความเชื่อในเรื่องของการทำเกลือหกอยู่ และหลาย ๆ คนก็ยังเชื่อในเรื่องอาถรรพ์เลข 13 สังเกตได้จากการวางแบบแปลนการสร้างตึกซึ่งจะไม่เรียกชั้นที่ 13 ว่า ‘ชั้น 13’ แต่อาจเรียกข้ามไปเป็น ‘ชั้น 14’ หรือเรียกเป็น ‘ชั้น 12B’ หรือ ‘ชั้น A’ แทน

นอกจากความเชื่อที่ผูกพันกับศาสนาคริสต์แล้ว ยังมีความเชื่อที่ผูกพันอยู่กับศาสนาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ความเชื่อเรื่องดวงตาอันชั่วร้าย (The Evil Eye) ที่มีอิทธิพลอย่างแพร่หลายในความเชื่อของชาวอิสลามในตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยพวกเขาเชื่อว่า “ดวงตาอันชั่วร้าย” ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นดวงตาแห่งความริษยาซึ่งหากผู้ใดถูกจ้องมองด้วยดวงตาลักษณะนี้ก็จะถูกวิญญาณทำร้าย ผู้ที่มีความเชื่อเรื่องนี้จึงหาทางแก้ไขด้วยการหลีกเลี่ยงบุคคลที่อาจมองพวกเขาด้วยดวงตาอันชั่วร้าย เช่น คนที่กำลังโกรธ คนขี้อิจฉา หรือ คนเมาสุรา เป็นต้น นอกจากนี้ หากพวกเขาคิดว่าตัวเองถูกจ้องมองด้วยดวงตาอันชั่วร้ายเข้า พวกเขาจะกล่าวคำว่า “Masha Allah (สิ่งที่อัลลอฮ์ต้องการได้เกิดขึ้น)” เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ออกไป


ภาษาและความปลอดภัย : ความเชื่อที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิต


นอกจากความเชื่อต่าง ๆ ที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติและศาสนาแล้ว ยังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในสังคม อย่างเช่นการใช้ภาษาและความปลอดภัยในการใช้ชีวิต อีกด้วย

ในวัฒนธรรมจีนมีความเชื่อเรื่องของโชคลางที่เกี่ยวข้องกับภาษามากมาย ชาวจีนเชื่อว่าหากสิ่งใดที่มีคำเรียกที่คล้ายคลึงกับคำศัพท์ในภาษาจีนอันมีความหมายดีงาม สิ่งนั้นก็จะนำความมงคลมาให้ชีวิตมนุษย์ ในทางกลับกัน หากสิ่งนั้นมีคำเรียกที่คล้ายกับคำศัพท์อัปมงคลของจีน มนุษย์ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นจะนำโชคร้ายมาให้ ตัวอย่างเช่น เลข 4 (四) ในภาษาจีนที่ออกเสียงว่า “ซื่อ” ซึ่งคล้ายกับคำว่า “สื่อ”ที่แปลว่า ตาย () จึงเป็นเลขที่ชาวจีนส่วนมากหลีกเลี่ยง ตรงกันข้ามกับเลข 8 (八) ที่ออกเสียงว่า “ปา” ซึ่งคล้ายกับคำว่า “ฟาไฉ” ที่แปลว่าร่ำรวย (发财) เลข 8 จึงเป็นเลขที่ชาวจีนนิยมอย่างมาก หรือในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อที่มาจากภาษาเช่นกัน โดยมีความเชื่อกันว่า หากชาวญี่ปุ่นต้องเดินผ่านศพหรือสุสาน พวกเขาจะซ่อนนิ้วโป้งไว้ในมือไม่ให้โผล่ออกมา เพราะนิ้วโป้งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โอะยะยุบิ (おやゆび)’ ซึ่งแปลว่า นิ้วมือของพ่อแม่ นั่นเอง ฉะนั้น หากไม่ซ่อนนิ้วโป้งไว้ในมือเวลาต้องเผชิญกับศพหรือสุสาน ก็อาจทำให้พ่อแม่ของคน ๆ นั้นมีอันเป็นไปได้

นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว บางความเชื่อก็ยังมีความผูกพันกับความปลอดภัยในการใช้ชีวิตอีกด้วย อย่างในสังคมเกาหลีใต้ มีความเชื่อว่าหากเปิดพัดลมทิ้งไว้ขณะนอนตอนกลางคืนจะนำมาซึ่งความตายแก่ผู้นั้น หรือที่เรียกว่า ‘Fan Death’ ความเชื่อนี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากพลังเหนือธรรมชาติหรือโชคลางแต่อย่างใด แต่มีเหตุผลมาจากวิถีชีวิตของชาวเกาหลีใต้ที่เชื่อในคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกาหลีใต้ (Korean Consumer Protection Board) ว่า การนอนโดยเปิดพัดลมทิ้งไว้อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอันตรายถึงตาย แต่ชาวเกาหลีใต้ก็เชื่อในคำแนะนำนี้และบอกต่อ ๆ กันจากรุ่นสู่รุ่นว่า ห้ามเปิดพัดลมทิ้งไว้ตอนนอนเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจต้องเสียชีวิตก็เป็นได้

อีกหนึ่งความเชื่อที่มีรากฐานจากความปลอดภัยในการใช้ชีวิตคือ ความเชื่อของชาวอินเดียว่าด้วยการห้ามตัดเล็บในเวลากลางคืน แม้จะมีการบอกกล่าวกันว่าหากตัดเล็บในตอนกลางคืนจะทำให้เกิดโชคร้าย แต่แท้จริงแล้วเหตุผลของความเชื่อนี้มาจากการที่ในอดีตชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในเวลากลางคืนจึงมืดมาก อีกทั้งยังไม่มีกรรไกรตัดเล็บด้วย ดังนั้น ผู้คนจึงใช้มีดในการตัดเล็บแทน การตัดเล็บในยามวิกาลจึงเป็นสิ่งที่อันตรายมากในสมัยนั้นและควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว เมื่อผู้คนหลีกเลี่ยงการตัดเล็บในเวลากลางคืนต่อ ๆ กันมาจึงเกิดเป็นความเชื่อในปัจจุบันว่า การตัดเล็บเวลากลางคืนจะนำมาซึ่งโชคร้ายนั่นเอง


ในโลกแห่งวิทยาศาสตร์ เส้นทางความเชื่อยังคงดำเนินต่อไป


ความเชื่อในเรื่องของพลังเหนือธรรมชาติก่อให้เกิดพิธีกรรมและวิถีชีวิตที่มีอิทธิพลมาจากความเชื่อนั้น ๆ ซึ่งถูกปฏิบัติต่อกันมาจวบจนวันนี้ อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยปัจจุบันที่สิ่งต่าง ๆ สามารถหาคำอธิบายได้ด้วยตรรกะและวิทยาศาสตร์ เหตุใดความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติยังคงอยู่ ?

คำตอบคือ เพราะมนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตโดยไร้ซึ่ง ‘ความเชื่อ’ ได้นั่นเอง ความเชื่อมีจุดกำเนิดมาจากความเกรงกลัวของมนุษย์ที่ไม่อาจรู้และอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติได้ แม้ว่าในปัจจุบันหลาย ๆ สิ่งจะสามารถรับรองได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์ได้เช่นกัน อาทิ ความรู้สึกรักหรือเกลียดชังที่ไม่สามารถนำมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์มาวัดได้ หรือความเชื่อในเรื่องของพลังงานหลังความตายที่เรียกว่า ‘วิญญาณ’ ซึ่งก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้เช่นกันว่ามีจริงหรือไม่

ด้วยความเกรงกลัวในความไม่รู้เหล่านี้ จึงทำให้มนุษย์ยังยึดติดกับ ‘ความเชื่อ’ บางอย่างอยู่ ซึ่งถึงแม้จะปฏิเสธว่าไม่เชื่อในเรื่องนั้น ๆ ก็ตาม แต่พฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ก็ยังคงปฏิบัติราวกับว่ายังคงเชื่อในสิ่งเหล่านั้น เช่น การไม่ตัดผมวันพุธ การไม่นอนหันหัวไปทางทิศตะวันตก หรือการไม่เหยียบหนังสือ เป็นต้น เนื่องด้วยเบื้องลึกในจิตใจของมนุษย์นั้นยังคงมีความเกรงกลัวและความรู้สึกว่าจะต้องปฏิบัติตามครรลองวิถีชีวิตที่เคยปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ดังนั้น เส้นทางของความเชื่อในเรื่องพลังเหนือธรรมชาติจึงยังคงดำเนินต่อไป


เรื่อง : ชางวี ยู

พิสูจน์อักษร : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล

ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา


แหล่งข้อมูล:


ภัทร์อร พิพัฒนกุล. (2563) สิ่งเหนือธรรมชาติในนิทานโทโนะฉบับการ์ตูนของมิสุกิ ชิเกะรุ. วารสารเครือข่ายญี่ปุ่นศึกษา, 10(2), 41-56.

สุรพงศ์ ลือทองจักร. (2552). ความเชื่อ (Beliefs) พิธีกรรม (Rituals) คาถาอาคม (Magic) ภาษา (Language) และคติชาวบ้าน (Folklore) . ใน หลักมานุษยวิทยาและหลักสังคมวิทยา (117–140). http://www.udru.ac.th/oldsite/attachments/elearning/02/13.pdf

Al-Jassem, D. (31 ธันวาคม 2553). The evil eye an obsession for most Middle Eastern families. Arab News. https://www.arabnews.com/node/364262


Bell, S. (12 กรกฎาคม 2561). Ideas of luck and superstition vary among cultures around the world. USC Dornsife. https://dornsife.usc.edu/news/stories/2836/

friday-the-13th-superstitions-and-luck/


Coto Japanese Language School (13 มิถุนายน 2565). 10 Unique Japanese Superstitions to Know (and Why). Coto Japanese Academy. https://cotoacademy.com/ japanese-supersition/#hearse


Espinal, A. (2563). Superstitions From Around the World. ESL for Academic Purposes. 7. https://repository.stcloudstate.edu/ma_tesol/7


Estrada, J. (18 มิถุนายน 2565). The Spiritual Significance Behind Why Spilling Salt Is Considered Bad Luck. wellandgood. https://www.wellandgood.com/spilling-salt/

Na’atik Mexico (26 พฤษภาคม 2565). El mal de ojo, The evil eye. Na’atik Language and Culture Institute. https://naatikmexico.org/blog/el-mal-de-ojo-the-evil-eye


Tinkler, D. (15 ตุลาคม 2556). Psychology professor says superstitions all about trying to control fate. Kansas City University. https://www.k-state.edu/media/newsreleases/

oct13/superstition102513.html







 
 
 

Comments


bottom of page