สิทธิลาคลอด สวัสดิการพึงมีที่ไม่เพียงพอ
- ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล
- Aug 30, 2022
- 2 min read

การทำให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตมาอย่างดีนั้น ผู้เป็นมารดาถือว่ามีบทบาทสำคัญมากตั้งแต่ช่วง
ตั้งครรภ์จนคลอดบุตรและเลี้ยงดูทารกวัยแรกเริ่ม แต่ในปัจจุบันผู้หญิงเองก็เป็นกำลังสำคัญในการทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวเช่นเดียวกับผู้ชาย การที่ผู้เป็นแม่ต้องลางานเพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอดบุตรและเลี้ยงดูลูกจนต้องขาดรายได้นั้นจึงถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้หญิงในระบบแรงงาน เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องให้ให้สวัสดิการแก่คนกลุ่มนี้ วันนี้ผู้เขียนจึงอยากพาไปสำรวจสวัสดิการสำหรับคุณแม่ทั้งที่มาจากการเรียกร้องในอดีต สวัสดิการตามกฎหมายในปัจจุบัน ไปจนถึงมุมมองว่าสวัสดิการที่มีอยู่ทุกวันนี้นั้นเพียงพอหรือไม่
กว่าจะได้มาซึ่งสิทธิลาคลอดบุตร 98 วัน อย่างทุกวันนี้
กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิแรงงานในอดีตนับตั้งแต่พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ไปจนถึง
พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2533 นั้นให้สิทธิผู้หญิงลาคลอดบุตรได้เพียง 60 วัน
และมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างลาคลอดเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น จนกระทั่งมีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายแรงงานหญิง เช่น กลุ่มย่านพระประแดง กลุ่มย่านรังสิต ในปี พ.ศ. 2533 โดยพวกเขาได้รวมตัวกันเพื่อเดินขบวนเรียกร้องให้มีการลาคลอดเพิ่มขึ้น จาก 60 วัน เป็น 90 วันในทุกวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งถือเป็นวันสตรีสากล ต่อมาในปีพ.ศ. 2535 รัฐบาลจึงอนุมัติให้ข้าราชการหญิงได้รับสิทธิลาคลอด 90 วัน การให้สิทธิแค่กับข้าราชการนี้ทำให้แรงงานหญิงภาคเอกชนรู้สึกไม่ยุติธรรม จึงมีการออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเสียงดูถูกของผู้คนมากมาย เช่น ความคิดเห็นของนายจ้างผู้ไม่อยากจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานหญิงที่หยุดงานไปคลอดบุตร ความกังวลว่าหากให้สิทธิมากก็จะมีคนลาคลอดเยอะ รวมทั้งความไม่เชื่อถือจากผู้มีอำนาจอย่างพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น
ซึ่งบอกว่าคนที่มาเดินไม่ได้ท้องจริง จนผู้ตั้งครรภ์ 48 คนออกมากรีดเลือดและอดข้าวเพื่อโต้ตอบคำสบประมาทนั้นการต่อสู้เรียกร้องในปีพ.ศ. 2536 นี้ส่งผลให้กฎหมายลาคลอด 90 วัน ได้บังคับใช้กับแรงงานหญิงทุกภาคส่วนในที่สุด

คนท้อง 48 คน ร่วมเดินขบวนประท้วงและประกาศกรีดเลือด-อดข้าว เพื่อโต้ตอบ
ที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทยในขณะนั้นบอกว่าคนที่มาเดินไม่ได้ท้องจริง
ภาพจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 26 เม.ย. 2536
สวัสดิการที่คนท้องได้รับในปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 29 ปีนับจากการเดินขบวนของแรงงานหญิงในปีพ.ศ. 2536 ปัจจุบัน กฎหมายได้เปลี่ยนจากที่ให้สิทธิลาคลอดแก่หญิงตั้งครรภ์ 90 วัน เป็นสิทธิในการลาคลอดไม่เกิน 98 วันตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ก็ยังมีสิทธิอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ได้แก่
ค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ค่าฝากครรภ์ 1,500 บาท และค่าสงเครราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท
ส่วนประเด็นเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตรนั้น กฎหมายยังคงกำหนดไว้เช่นเดิมคือให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ผู้ลาคลอดในอัตราร้อยละ 100 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 45 วัน (ตามมาตรา 59 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541) และประกันสังคมจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (ตามมาตรา 67 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าการจ่ายค่าจ้างที่กฎหมายกำหนดไว้ครอบคลุมเพียง 90 วันเท่านั้น แต่จำนวนวันลา 8 วัน ที่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่มีกฎหมายบัญญัติถึงความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้างที่แรงงานผู้มีสิทธิ์ลาคลอดควรได้รับ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างในช่วง 8 วันนี้จากทั้งนายจ้างและประกันสังคมได้ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายสตรีจึงได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานประกันสังคมให้นายจ้างและสำนักงานประกันสังคมร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้ครอบคลุมวันลาทั้งหมด 98 วัน เมื่อวันสตรีสากล 8 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อเรียกร้องและกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขและเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
สวัสดิการที่มีอยู่ตอนนี้เพียงพอกับแรงงานที่คลอดบุตรแล้วจริงหรือ?
แม้ในปัจจุบันกฎหมายจะให้สวัสดิการแก่หญิงตั้งครรภ์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ก็ยังคงมีข้อเรียกร้องถึงสิทธิที่ผู้หญิงพึงได้รับเพิ่มเติมจากหลายฝ่าย อย่างประเด็นสิทธิลาคลอดที่หลายฝ่ายมองว่า 98 วันนั้นไม่เพียงพอ แต่ควรเปลี่ยนเป็น 180 วัน เพราะเป็นระยะเวลาที่ตรงตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้อาหารอื่นผสมอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเหมาะสม และช่วยส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก ขณะที่กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ก็ได้ยื่นข้อเสนอเมื่อวันสตรีสากลปี 2565 ที่ผ่านมาให้รัฐต้องรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ฉบับที่ 183 ค.ศ. 2000 [Maternity Protection Convention, 2000 (No. 183)] โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ได้คุ้มครองสิทธิของแรงงานผู้เป็นมารดามากมาย เช่น บทบัญญัติที่คุ้มครองไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสตรีมีครรภ์ บทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้หญิงพึงได้รับสิทธิ์ในการลาคลอดไม่น้อยกว่า 14 สัปดาห์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องจากภาคประชาชนถึงสิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของสามี เพราะในปัจจุบันมีกฎหมายให้สามีสามารถลาเพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอดได้ 15 วันทำการเฉพาะกับผู้ทำงานเป็นข้าราชการเท่านั้น โดยนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า มาตรการนี้ควรบังคับใช้ขยายไปถึงภาคเอกชน อีกทั้งยังให้ความเห็นว่าวันลา 15 วันนั้นไม่เพียงพอ แต่ควรให้สิทธิลาอย่างน้อย 2 เดือน เพราะการเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัวเป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงฝ่ายเดียว

ขบวนเรียกร้องสิทธิลาคลอด 180 วัน สามีลาดูแล 30 วัน เดินเท้าบนถนนราชดำเนิน
ที่มาของภาพ: https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3323825/attachment/03-%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%84
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่สิทธิลาคลอด 90 วันที่มาจากการต่อสู้ในอดีตจนถึงการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินครอบคลุมวันลาทั้งหมด 98 วันในปัจจุบันนั้น สิทธิที่แรงงานสตรีมีครรภ์ได้รับนั้นล้วนมาจากการเรียกร้องของประชาชนทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงหวังว่าภาครัฐจะรับฟังและพิจารณาข้อเสนอจากประชาชน ให้สิทธิกับข้าราชการและแรงงานเอกชนอย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งปรับมาตรการของตนให้มีความเป็นสากลมากขึ้นตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ส่วนในภาคเอกชนนั้น ปัจจุบันเริ่มมีบางบริษัทที่ปรับปรุงสวัสดิการให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานมากขึ้น อย่างสวัสดิการของพนักงานในบริษัทศรีจันทร์ ที่ทั้งเพิ่มวันลาคลอดบุตร เป็น 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง และอนุญาตให้สามีสามารถลาเนื่องจากภรรยาคลอดบุตรหรือตั้งครรภ์ ได้จำนวน 30 วัน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมและหวังว่าองค์กรอื่น ๆ จะนำเป็นแนวทางปฏิบัติปรับปรุงนโยบายภายในให้ใส่ใจต่อพนักงานของตนมากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่และสุขภาพจิตที่ดีของแรงงานในระยะยาว
ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าในปัจจุบัน การตีกรอบว่าผู้ปกครองบุตรมีแค่ผู้ชายและผู้หญิงตามเพศกำเนิดนั้นเป็นกรอบค่านิยมแบบเดิมที่ไม่ได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกฎหมายนั้นก็ควรปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมและยุคสมัย เพราะฉะนั้นควรมีการบัญญัติกฎหมายให้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของกลุ่ม LGBTQIA+ โดยผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายไม่ควรจำกัดสิทธิลาคลอดให้เพียงเฉพาะเพศหญิง แต่ควรบัญญัติสิทธิครอบคลุมถึงชายข้ามเพศ (transgender men) และคนที่มีเพศกำกวม (Intersex) ที่สามารถตั้งครรภ์ได้เช่นกัน อีกทั้งในปัจจุบันก็มีคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศที่รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมแทนการให้กำเนิดบุตรด้วยตนเอง ดังนั้นกฎหมายจึงควรให้สิทธิลาเลี้ยงดูบุตรกับครอบครัวที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพื่อที่คู่รักที่เป็น LGBTQIA+ จะได้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงและมีครอบครัวที่สมบูรณ์ตามที่พวกเขาต้องการได้
เรื่อง : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล
พิสูจน์อักษร : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ
แหล่งข้อมูล :
ขรก.เฮ! ครม.ไฟเขียวลาคลอดเต็มพิกัด 188 วัน ขรก.ชายลาเลี้ยงลูก 15 วันสอดคล้องอนามัยโลก. (2565, 11 มกราคม). สืบค้นจาก https://www.kroobannok.com/89665
คณะทำงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ. (ม.ป.ป). รายงานผลการศึกษาเบื้องต้นการขยายเวลาการลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วันพร้อมจ่ายค่าตอบแทน. สืบค้นจาก https://www.sem100library.in.th/medias/b9995.pdf
ประชาไท. (2564, 8 มีนาคม). วันสตรีสากล: ลาคลอด 90 วัน และทบทวนการต่อสู้ของแรงงานหญิง. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2021/03/92015
ผู้จัดการออนไลน์. (2565, 2 มิถุนายน). ฮือฮา! สวัสดิการพนักงานสุดเจ๋งของ "ศรีจันทร์" แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังของไทย. สืบค้นจาก https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000052465
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (2541, 20 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 115 ตอนที่ 8 ก. หน้า 11-14.
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (2533, 1 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 107 ตอนที่ 161. หน้า 21
พัชณีย์ คำหนัก. (2562, 10 มีนาคม). อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา ฉบับที่ 183 ค.ศ.2000. สืบค้นจาก https://www.tcijthai.com/news/2019/3/labour/8850
ยื่น 9 ข้อถึงรัฐบาล จี้ให้สิทธิลาคลอด 180 วัน -สามี 30 วัน ห้ามหักค่าจ้าง. (2565, 8 มีนาคม). สืบค้นจาก https://www.thaich8.com/news_detail/106114
วจนา วรรลยางกูร. (2562, 25 เมษายน). ‘ลาคลอด’ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เดินหน้าสู่ครอบครัวเข้มแข็งด้วยสิทธิแรงงาน. สืบค้นจาก https://www.the101.world/parental-leave/
Comments