วินาศกรรม 9/11 : สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ของพญาอินทรีย์
- ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
- Sep 11, 2022
- 3 min read

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และสงครามเย็นยุติลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ระบบดุลแห่งอำนาจ (balance of power) ของการเมืองโลก ได้เปลี่ยนแปลงจากระบบสองขั้วอำนาจ (bipolarity) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ไปสู่โครงสร้างแบบขั้วอำนาจเดียว (unipolarity) สหรัฐฯ พบว่าตนนั้นกลายเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกที่ไร้คู่แข่ง จึงคว้าโอกาสนี้ในการขยายอิทธิพล และบทบาทของตนในฐานะ “เจ้าจักรวรรดิ” เพื่อดำเนินการจัดระเบียบโลกใหม่ (new world order) ให้สอดรับกับอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา (American hegemony) ทั้งยังดำเนินนโยบายต่างประเทศทั้งหลายให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ตนได้วางเอาไว้ ระเบียบโลกนี้คงอยู่ได้กว่าสิบปี จนกระทั่งเช้าของวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ภาพของตึกแฝด World Trade Center ที่กำลังพังครืนลงมาท่ามกลางมหานครนิวยอร์คพร้อมผู้เสียชีวิตอีกนับพัน ก็ส่งสัญญาณเป็นนัยแล้วว่าระเบียบโลกที่สหรัฐอเมริกาวางเอาไว้นี้ กำลังพังทลายลงมาพร้อมกับตึกแฝดเสียแล้ว
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะอธิบายถึงความพยายามจัดระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐอเมริกา หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) ในรูปแบบของการก่อสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และการแทรกแซงด้วยกองกำลังทางทหารในพื้นที่อัฟกานิสถานและอิรัก เพื่อทำความเข้าใจถึงระเบียบโลกชุดใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการคงอยู่ของสหรัฐฯ ในฐานะของเจ้าจักรวรรดิของโลก
จุดจบของตึกแฝด จุดเริ่มต้นของสงคราม
วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับการก่อวินาศกรรมจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายรูปแบบใหม่ กำลังคนเพียงหยิบมือ ก็สามารถแปรเปลี่ยนเครื่องบินพาณิชย์เป็นขีปนาวุธขนาดยักษ์ทำลายตึกแฝด World Trade Center สัญลักษณ์แห่งทุนนิยมอันรุ่งโรจน์ของสหรัฐฯ และอาคาร The Pentagon ที่ทำการกระทรวงกลาโหมให้พังทลายลงได้ในพริบตา นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ถูกโจมตีบนแผ่นดินแม่ (Mainland) ตั้งแต่การถูกลอบโจมตีโดยกองทัพญี่ปุ่นที่ Pearl Harbor ในช่วงทศวรรษที่ 1940 เพื่อตอบโต้ภัยคุกคาม และรักษาฐานะของมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ประธานาธิบดี George W. Bush ของสหรัฐฯ จึงประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on Terror) กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อันน่าสะเทือนขวัญนี้ โดยความท้าทายของการทำสงครามครั้งนี้อยู่ที่รูปแบบของกลุ่มก่อการร้ายในขณะนั้นที่มักเป็นเครือข่ายปฏิบัติการข้ามชาติ ซึ่งปฏิบัติการได้โดยใช้เทคโนโลยีเพียงพื้นฐาน และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก (low tech - low budget) รวมทั้งยังคงสถานะของ “ตัวแสดงที่มิใช่รัฐ” (non–state actor) จึงไม่มีฐานทัพ หรือขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง สหรัฐฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการแทรกแซงกองกำลังทางทหารในรัฐ หรือประเทศที่เป็นแหล่งพักพิง หรือให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้นแทน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็พยายามบีบให้ประเทศต่าง ๆ เข้าไปมีส่วนในนโยบายระหว่างประเทศนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่ประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศกร้าวในที่ประชุมแห่งสภาคองเกรสตอนหนึ่งว่า
“Every nation, in every region, now has a decision to make. Either you are with us, or you are with the terrorists.”
(แต่ละชาติ แต่ละภูมิภาค ตอนนี้ต้องตัดสินใจว่าคุณจะอยู่ฝ่ายเราหรือกับฝ่ายผู้ก่อการร้าย)
อนึ่ง หากพิจารณาถึงสถานการณ์แวดล้อม ณ ขณะนั้น ประกอบกับกระบวนทัศน์ และการตีความเหตุการณ์แล้ว สหรัฐฯ อาจเห็นว่าตัวเองมีความชอบธรรมในการประกาศสงครามครั้งนี้ในลักษณะของการป้องกันตนเอง (self-defence) จากผู้รุกราน (aggressor) ซึ่งในกรณีนี้คือกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วินาศกรรมอันโหดร้ายดังกล่าว รวมทั้งในฐานะของผู้คุมระเบียบโลกใหม่ที่ต้องดำเนินการจัดระเบียบโลกไปในทิศทางของตน พร้อมทั้งลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎระเบียบนั้นเพื่อมิให้เป็นแบบอย่างต่อไปในอนาคต
อัฟกานิสถาน : จุดเริ่มต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนอกดินแดนมาตุภูมิ
หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เชื่อว่าเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) เป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย Al-Qaeda ที่นำโดย Osama bin Laden ซึ่งมีแหล่งพักพิงกบดานอยู่ในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 โดยความคุ้มครองของรัฐบาล Taliban ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงยื่นคำขาดต่อรัฐบาล Taliban ให้ดำเนินการส่งตัวผู้นำกลุ่ม Al-Qaeda มามอบให้แก่ตน พร้อมทั้งร้องขอให้ปล่อยตัวนักโทษชาวต่างชาติ และส่งตัวผู้ก่อการร้ายทุกคนไปดำเนินคดีต่อศาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปิดศูนย์ฝึกอาวุธของกลุ่มผู้ก่อการร้ายพร้อมทั้งยอมให้สหรัฐฯ เข้าไปสำรวจค่ายฝึกอาวุธทุกแห่งในอัฟกานิสถาน แม้กระนั้น รัฐบาล Taliban ก็ปฏิเสธทุกข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมอ้างว่าสหรัฐฯ ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า Osama bin Laden เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วินาศกรรมอันน่าสะเทือนขวัญครั้งนี้
Osama bin Laden และกลุ่มก่อการร้าย Al-Qaeda อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้จริงหรือไม่ มิได้มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรใน NATO ก็ได้ตัดสินใจใช้กองกำลังทางทหารเข้าถล่มอัฟกานิสถานในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2001 ด้วยการทิ้งระเบิด และยิงจรวดโทมาฮอร์กเข้าใส่ฐานทัพทหารของอัฟกานิสถาน ทำเนียบประธานาธิบดี และศูนย์ฝึกผู้ก่อการร้ายของกลุ่ม Al-Qaeda ทั้งในกรุงคาบูล (Kabul) และหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ โดยหวังจะนำตัว Osama bin Laden มาดำเนินคดี และป้องกันไม่ให้อัฟกานิสถานเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มก่อการร้ายอีก ท้ายที่สุดรัฐบาล Taliban ถูกโค่นล้ม (The Fall of Kandahar) โดยบางส่วนหนีไปสมทบกับกลุ่ม Al-Qaeda และหลบซ่อนตัวอยู่ตามหุบเขา ขณะที่ Osama bin Laden หลบหนีไปกบดานที่ปากีสถาน ทว่าต่อมาถูกสหรัฐฯ ไล่ล่า และสังหารได้ในปี ค.ศ. 2011
ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะสามารถสังหาร Osama bin Laden ได้สำเร็จ รวมทั้งได้ดำเนินการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไปแล้วในปี ค.ศ. 2021 ที่ผ่านมา ทว่าสงครามในครั้งนี้ ก็ทำให้ชาวอัฟกานิสถานต้องประสบกับปัญหาความยากจนข้นแค้นแสนสาหัส ขาดแคลนอาหารรวมไปถึงยารักษาโรคอย่างรุนแรง และคร่าชีวิตผู้คนไปราว 2 แสนคน ทั้งทหารและพลเรือนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยการถอนทหารของสหรัฐฯ ดังกล่าว ยังทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานล่มสลายลงในทันที ประกอบกับถูกรัฐบาลทหาร Talibun กลับเข้ามายึดและปกครองประเทศอีกครั้ง จึงนับว่าสภาวะของอัฟกานิสถานไม่ต่างอะไรกับ “รัฐล้มเหลว” (failed state)

ประธานาธิบดี Barack Obama พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังรับชมปฏิบัติการสังหาร Osama bin Laden (Operation Neptune Spear) ณ ห้องสถานการณ์ (Situation Room) ในปี ค.ศ. 2011
อิรัก : ปฏิบัติการ “ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม”
ในเวลาต่อมา การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on terror) ของสหรัฐฯ ไม่จำกัดแค่รัฐ หรือประเทศที่เป็นที่พักพิง หรือให้การสนับสนุนกลุ่มการก่อการร้ายเพียงเท่านั้น ทว่ายังขยายขอบเขตไปยังประเทศที่สหรัฐฯ เชื่อว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงต่อตนเอง และสันติภาพของโลกในอนาคต หรือเป็น “แกนกลางแห่งความชั่วร้าย” (Axis of Evil) ตามคำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ในกรณีนี้คือ “อิรัก” ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากำลังวิจัย และผลิตอาวุธที่มีพลานุภาพในการทำลายล้างสูง (WMD-Weapons of Mass Destruction) ส่งผลให้สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ตัดสินใจเปิดฉากเคลื่อนพลเข้าถล่มอิรักในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2003 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดี Saddam Hussein โดยหวังเปลี่ยนระบบให้อิรักเป็นกุญแจสู่ระบอบประชาธิปไตยในดินแดนตะวันออกกลาง (regime change) รวมทั้งดำเนินการปลดอาวุธที่มีพลานุภาพในการทำลายล้างสูง โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ก่อนที่อิรักจะพัฒนาอาวุธจนเป็นภัยคุกคามที่สหรัฐไม่สามารถรับมือได้ ซึ่งเป็นการอ้างความชอบธรรมในการชิงลงมือทำสงครามล่วงหน้าก่อน (pre-emptive war) ไม่นานนักสหรัฐฯ ก็สามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการ และจับกุม Saddam Hussein ได้สำเร็จ โดย Saddam Hussein ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในปี ค.ศ. 2006
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการบุกถล่มอิรักที่ดำเนินคู่เคียงไปกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย เพราะนอกจากอิรักจะไม่ได้ครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพในการทำลายล้างสูงตามที่กล่าวอ้างกันมาแล้ว สหรัฐฯ ก็ไม่สามารถสถาปนาสันติภาพ หรือความมั่นคงในดินแดนพระจันทร์เสี้ยวได้แต่อย่างใด อิรักยังคงมีลักษณะใกล้เคียงกับ “รัฐล้มเหลว” (failed state) เฉกเช่นเดียวกับอัฟกานิสถาน อีกทั้งการต่อต้านสหรัฐฯ และพันธมิตรในอิรักยังคงมีอยู่ จนกระทั่งสหรัฐฯ ยุติปฏิบัติการทางทหาร และเริ่มถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011
ที่น่าสังเกตคือ ปฏิบัติการบุกถล่มอิรักดังกล่าว เป็นการดำเนินการของสหรัฐฯ ฝ่ายเดียว (unilateralism) ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศทั้งปวง เนื่องจากภัยคุกคามในกรณีของอิรักนั้น ยังไม่เป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้าที่เห็นได้ชัด (Imminent Threat) จนสหรัฐฯ สามารถอ้างสิทธิในการชิงทำสงครามล่วงหน้าเพื่อป้องกันตัวก่อนได้ (pre-emptive war) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายชาติที่ได้ให้ความเห็นต่างออกไปว่าแม้มาตรการส่วนตัวของสหรัฐอย่าง หลักการใช้กำลังฝ่ายเดียว (unilateralism) หรือ การชิงทำสงครามล่วงหน้าก่อนถูกรุกราน (pre-emptive war) จะเป็นมาตรการที่ผิดต่อกฎหมาย แต่ก็มีความชอบธรรมในสถานการณ์จริง เพราะกฎบัตรสหประชาชาติมีความล้าหลัง และไม่ทันต่อการแก้ไขข้อพิพาท หรือวิกฤติการณ์ชนิดใหม่ นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการ และนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมใหม่ (neoconservative) ของสหรัฐฯ บางส่วนที่มีความเห็นว่า หากรั้งรอการจัดการกับศัตรูในแบบของการสกัดกั้นการโจมตี (containment) สหรัฐฯ อาจสูญเสียความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวลง ดังนั้น จึงต้องมีนโยบาย “รุก” อย่างเต็มที่คือ โจมตีด้วยกำลังทหาร (military attack) ก่อนเสียด้วย
เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) จึงนับได้ว่าเป็นเส้นแบ่งสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ หันกลับมาสร้างบทบาทของเจ้าจักรวรรดิของตนใหม่ ที่มิใช่การทำสงครามสร้างจักรวรรดิแบบเก่าเพื่อแผ่ขยายดินแดน ทว่าเป็นการทำสงครามสร้างจักรวรรดิในนามของประชาธิปไตย และระเบียบโลกชุดใหม่ เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) คงเป็นเพียงเหตุผลใหม่ที่สหรัฐฯ ใช้เพื่อขยายอิทธิพล และอำนาจแบบจักรวรรดิของตนออกไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น สหรัฐฯ เลือกก่อสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ยืดเยื้อยาวนานไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น แม้พื้นที่การรบในดินแดนอัฟกานิสถาน และอิรักจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่โจทย์ทางการเมืองที่ทั้งสองประเทศต้องเผชิญหลังการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าเก็บไว้ขบคิดต่อไป
ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาคำตอบว่า แม้โลกได้เดินทางผ่านยุคสมัยของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาร่วม 2 ทศวรรษแล้ว ในอนาคตสงครามนี้จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นเช่นไร สงครามนี้สามารถสร้างสันติภาพ และความมั่นคงให้แก่โลกใบนี้ได้จริงหรือ และใครจะเป็นผู้เข้ามากุมบังเหียนระเบียบโลกรายต่อไป
เรื่อง : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
พิสูจน์อักษร : อภิญญา วัชรพิบูลย์
ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ
แหล่งข้อมูล:
หนังสือและวารสาร
จิตติภัทร พูนขำ. (2553). พินิจทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวสัจนิยมใหม่ (Neorealism): ว่าด้วยความเป็นเจ้าของสหรัฐอเมริกากับดุลแห่งอำนาจในยุคหลังสงครามเย็น. วารสารสังคมศาสตร์, 41(1), 1–31.
จุลชีพ ชินวรรโณ. (2557). โลกในศตวรรษที่ 21 : กรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฉันทิมา อ่องสุรักษ์. (2548). นโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา 2001-2004 : หลักการบุช (Bush doctrine). กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ประทุมพร วัชรเสถียร. (2548). โลกร่วมสมัย ตอบคำถามของคนรุ่นใหม่. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ปาเจรา.
ประทุมพร วัชรเสถียร. (2557). โลกร่วมสมัย 2 คำตอบที่คนรุ่นใหม่ใคร่รู้. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ปาเจรา.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2546). การบริหารจัดการในโลกยุคหลังสงครามเย็น (Governance in the Post-Cold War World). วารสารสังคมศาสตร์, 34(1), 1–34.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2549). รัฐ-ชาติกับ(ความไร้)ระเบียบโลกชุดใหม่. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิภาษา.
Kenneth N. Waltz. (2000). Structural Realism after the Cold War. International Security, 25(1), 5–41.
ข้อมูลออนไลน์
กองบรรณาธิการ WAY MAGAZINE. (11 กันยายน 2564). มรดก 9/11 (2001-2021). สืบค้น 3 สิงหาคม 2565, จาก https://waymagazine.org/legacy-of-9-11/
กรุณพร เชษฐพยัคฆ์. (17 สิงหาคม 2564). 20 ปีสงครามอัฟกัน มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? กำเนิดตาลีบัน การหวนคืนอำนาจ และอนาคตของประเทศ. สืบค้น 9 สิงหาคม 2565, จาก https://thematter.co/social/20-years-war-of-afghanistan/152470
ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ. (11 กันยายน 2564). 20 ปี เหตุวินาศกรรม 9/11 ถึงวันสิ้นสุดสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน. สืบค้น 3 สิงหาคม 2565, จาก https://thestandard.co/9-11-20-years-2/
บีบีซีไทย. (5 สิงหาคม 2564). 11 ก.ย. : เกิดอะไรขึ้นในเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อ 20 ปีก่อน. สืบค้น 2 สิงหาคม 2565, จาก https://www.bbc.com/thai/international-58092615
ปิติ ศรีแสงนาม. (20 สิงหาคม 2564). 10 บทเรียนจาก 20 ปีสงครามอเมริกันในอัฟกานิสถาน. สืบค้น 9 สิงหาคม 2565, จาก https://www.the101.world/ten-lessons-us-war-afghanistan/
ปิติ ศรีแสงนาม. (14 กันยายน 2564). 20 ปีเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001-2021 เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง. สืบค้น 9 สิงหาคม 2565, จาก https://www.the101.world/20-year-911-lessons/
มติชนสุดสัปดาห์. (18 กันยายน 2564). ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มองอเมริกาภายใต้ความท้าทายใหม่ 20 ปีใหม่ 20 ปีให้หลังสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ที่ล้มเหลว? และอนาคตของประเทศ. สืบค้น 3 สิงหาคม 2565, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_464838
มติชนสุดสัปดาห์. (9 กันยายน 2564). 20 ปีที่สูญเปล่า? สหรัฐกับสงครามต่อต้านก่อการร้าย. สืบค้น 3 สิงหาคม 2565, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_460735
อาทิตย์ ทองอินทร์. (13 กันยายน 2564). 20 ปี เหตุการณ์ 9/11 20 ปีสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การเมืองอัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบัน. สืบค้น 7 สิงหาคม 2565, จาก https://plus.thairath.co.th/topic/spark/100456
Peter Beaumont. (14 August 2021). Kandahar’s fall to the Taliban is a moment of huge significance. Retrieved 7 August 2022, from https://www.theguardian.com/world/2021/aug/14/kandahars-fall-to-the-taliban-is-a-moment-of-huge-significance
Peter Bergen. (11 September 2021). Osama bin Laden changed history on 9/11, but not in the ways he expected. Retrieved 3 August 2022, from https://edition.cnn.com/2021/09/11/opinions/osama-bin-laden-changed-history-bergen/index.html
Comments