วัฒนธรรมวาย: ดีต่อใจ ไยสังคมมีปัญหา? (Part 2)
- ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
- Jun 28, 2022
- 2 min read

วัฒนธรรมวายนำไปสู่ ‘Queerbaiting’
จากความเดิมใน Part 1 ที่ได้พูดถึงที่มาของวัฒนธรรมวาย และอิทธิพลด้านบวกมากมายที่มีต่อสังคม อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมวายที่ดูเหมือนจะช่วยเชิดชูชาว LGBTQ+ กลับก่อหลายปัญหาที่เกิดจากการต่อยอดกระแสที่ไม่เหมาะสม รวมถึงทัศนคติของผู้ที่สร้างผลงานวายที่ไม่ได้ต้องการสนับสนุน LGBTQ+ อย่างแท้จริง โดยด้านที่เลวร้ายนั้นก็คือ การที่ใช้วัฒนธรรมวายหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำเช่นนี้ ทำให้ผู้ผลิตพยายามที่จะนำวัฒนธรรมวายเข้ามาสอดแทรกเข้ากับทุกอย่างแต่กลับไม่นำเสนอตรง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อบันเทิงคดี เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter ซึ่งผู้เขียนอย่าง J.K. Rowling ประกาศในปีค.ศ. 2007 ว่า Dumbledore หนึ่งในตัวละครสำคัญเป็นเกย์ ทั้งที่ไม่ได้มีการบอกถึงอัตลักษณ์นี้มาก่อน และตัวผู้เขียนเองยังมีกระแสว่าเป็น Homophobe หรือผู้เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน หรือซีรี่ส์ Sherlock ของ BBC ที่มีตัวละครหลักเป็น Sherlock Holmes และ John Watson ซึ่งตามนิยายนั้นเป็นเพื่อนซี้กัน แต่ผู้ชมบางส่วนมองว่าซีรี่ส์พยายามจะนำเสนอให้เหมือนทั้งคู่เป็นคู่รักกัน รวมถึงวงการเพลง ที่นักร้องหลายคนในปัจจุบันออกมาแต่งกายขัดต่อกรอบของเพศสภาพของตน เช่น Harry Styles ก็ถูกวิจารณ์ว่าแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดูมีความเป็นผู้หญิง เพื่อเรียกกระแสทั้งที่ตนก็มิใช่ LGBTQ+ หรือแม้แต่แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เช่น Calvin Klein ที่ให้ Bella Hadid เซเลบสาวชื่อดังระดับโลกจูบกับ Miqiela ซึ่งเป็น
หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เพศหญิง หรือแบรนด์ที่ใช้สีรุ้งซึ่งเป็นสีประจำชาว LGBTQ+ ในผลิตภัณฑ์
ก็ถูกมองว่าตื้นเขินเกินกว่าจะนับว่าเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนของ LGBTQ+ หรือวัฒนธรรมป็อป
ฝั่งตะวันออก เช่น อนิเมะของญี่ปุ่น เรื่อง The Millionaire Detective ที่มิได้ประกาศชัดว่าตัวละครหลักเพศกำเนิดเดียวกันคู่นั้นเป็นคู่รักกัน แต่กลับมีฉากที่เอื้อให้คิดเช่นนั้น หรือวงนักร้องไอดอลเกาหลี ซึ่งมักจะมีสมาชิกในวงแสดงความสนิทสนม จับเนื้อต้องตัวกัน หรือเล่นเกมในรายการทีวี หรือในงานแฟนมีทติ้งที่ทำให้ต้องใกล้ชิดกันมากเป็นพิเศษ เรียกว่าความสัมพันธ์แบบ ‘Bromance’ ซึ่งมาจาก Brother + Romance คือดูโรแมนติกเหมือนเป็นคู่รัก แต่เป็นแค่เพียงพี่น้องหรือเพื่อน หรือที่เห็นได้ชัดก็เป็นวัฒนธรรมการโปรโมตซีรี่ส์วายซึ่งให้นักแสดงต้องมีบทบาทราวกับว่ารักกันนอกจอ เรียกว่า ‘แฟนเซอร์วิส’ เพื่อให้ผู้ชมได้จิ้นกันนอกจากในซีรี่ส์ด้วย สิ่งเหล่านี้เรียกรวมกันว่า ‘Queerbaiting’ มาจาก Queer ซึ่งเป็นตัว Q ใน LGBTQ+ หมายถึงกลุ่มคนที่ไม่จำกัดว่าเป็นเพศใดและรักเพศใด และ bait จากคำว่า Clickbait ซึ่งเป็นเทคนิคการตั้งหัวข่าวหรือชื่อเว็บไซต์ให้น่าสนใจ แต่เนื้อหาข้างในไม่มีอะไร เพื่อ “ตก” ให้คนคลิกเข้ามาดู Queerbaiting จึงเป็นเทคนิคทางการตลาดผ่านการส่งสารที่ทำให้ผู้รับสารเข้าใจว่า อาจจะมีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบวัฒนธรรมวาย และ LGBTQ+ ไปจนถึงคนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (Homophobe) ได้ ซึ่งการกระทำนี้มิได้มีเจตนาเพื่อสนับสนุน LGBTQ+ community เลย แต่ทำเพื่อผลประโยชน์เท่านั้น
วัฒนธรรมวายในฐานะผู้ร้ายและฮีโร่
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงส่งผลให้อัตลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่สมควรเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับพวกเขาเหล่านั้นอีกด้วย เช่น วัฒนธรรมวายมักต้องมี ‘Position’ หรือ ตำแหน่งทางเพศที่บ่งบอกลักษณะ บทบาทของแต่ละฝ่าย
อยู่เสมอ คือ ฝ่ายหนึ่งดูมีความแข็งแกร่งกว่า เป็น ‘เมะ’ ส่วนอีกฝ่ายที่ดูบอบบางกว่า เป็น ‘เคะ’ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าคู่รัก LGBTQ+ ต้องเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง คู่รักบางคู่ไม่ต้องการกำหนด Position ว่าเป็นเมะเคะหรือรุกรับแต่อย่างใด ภาพลักษณ์ภายนอกก็ไม่สามารถบ่งบอกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ รวมถึงมิใช่หน้าที่ของคนในสังคมที่จะตัดสินคู่รักเหล่านั้นว่าเป็น Position ใดด้วย เพราะ Position
เหล่านี้จะมีผลก็เพียงเรื่องบนเตียงซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล คนภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือการที่วัฒนธรรมวายโอบรับเพียงกลุ่มคนหน้าตาดีตรงตาม Beauty standard หรือมาตรฐานความงามของสังคม โดยกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่มิได้ตรงตาม standard เหล่านั้นมักถูกมองเป็นตัวตลกมากกว่า หรือค่านิยมในวัฒนธรรมวายชาย-ชายที่ให้พระเอกจะต้องเป็น Straight หรือชอบผู้หญิงมาก่อน แต่มาชอบนายเอกซึ่งเป็นผู้ชายคนแรก โดยมีประโยคชวนฝันว่า “ฉันไม่ได้ชอบผู้ชายทั้งโลก ฉันชอบนายคนเดียว” อันมีผู้มองว่า เกิดจากการที่สาววายบางส่วนไม่อยากยอมรับว่าคู่ที่ตนจิ้นนั้นเป็นเกย์ แต่ยังอยากให้ชื่นชอบคนเพศกำเนิดเดียวกัน นำมาสู่คำถามว่าหรือสาววายจะเป็น Homophobe เสียเอง? ทำให้เกิด Homonormativity หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งแท้จริงนั้นขัดกับความเป็นจริง และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม นำไปสู่ Stereotype หรือการเหมารวมว่าคู่รัก LGBTQ+ จะต้องเป็นเช่นนั้น รวมถึงการละเลยความเจ็บปวดจากการถูกปฏิบัติไม่เท่าเทียม และการไม่ได้รับสิทธิที่พึงจะได้รับของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในชีวิตจริงที่เกิดจากโลกสวยงามที่ชาววายสร้างขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ยังมีผู้คนมองว่า เพราะวัฒนธรรมวายช่วยนำคู่รักเพศเดียวกันเหล่านี้ขึ้นมานำเสนอให้ชาวโลกได้รับรู้ ทำให้เกิดความคุ้นชิน และทำให้ LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากขึ้น เรียกได้ว่า ‘แม่ทำลายขวัญได้ แม่ก็สร้างขวัญได้เหมือนกัน!’
วัฒนธรรมวายกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตัดไม่ขาด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบางกระแสกล่าวว่า วัฒนธรรมวายแยกออกจากการมีอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพราะเป็นเพียงจินตนาการของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จากผลดีผลเสียที่กล่าวไปข้างต้น จึงมีกระแสอีกส่วนมองว่า วัฒนธรรมวายไม่สามารถแยกจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้ โดยในเสวนา จักรวาลซีรีส์วายไทย : โลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม พร้อมบทสำรวจ ‘จักรวาลซีรีส์วายไทย ปี 2020-2021 : โลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม’ ผ่านทาง Clubhouse ก็มีการถกเถียงในประเด็นนี้ว่า วายก็คือความรักที่ขัดต่อกรอบของสังคมตามเพศกำเนิดเช่นเดียวกัน หากโลกในจินตนาการของชาววายสวยงาม ฟินจิ้น ดีต่อใจ เหตุใดจึงไม่ร่วมออกมาเรียกร้องให้เกิดสิ่งเหล่านั้นในโลกจริงบ้าง? และอันที่จริง สื่อบันเทิงวายในสมัยก่อน เช่น ในประเทศไทย ช่วงปีค.ศ.1997 ถูกสั่งห้ามมิให้เผยแพร่อย่างเปิดเผยเนื่องจากค่านิยมของสังคมที่ยังไม่ยอมรับด้วยซ้ำ และที่ทุกวันนี้สื่อบันเทิงคดีเหล่านี้สามารถเผยแพร่ได้ ก็เกิดมาจากการขับเคลื่อนให้สังคมยอมรับการมีอยู่ของ LGBTQ+ แท้จริงแล้วสื่อบันเทิงคดีวายและ LGBTQ+ community นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ และแยกจากกันได้ยาก รวมถึงปัจจุบัน เสียงเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ ในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนก็ได้เข้าถึงคนนอกกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งรวมถึงสาววาย หรือผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมวายด้วย จึงมีการเรียกร้องให้สื่อบันเทิงคดีวายต้องออกมาช่วยสนับสนุนการเรียกร้องนี้ด้วย ต่อมาจึงมีความพยายามจากทั้งผู้ผลิตและผู้เสพสื่อซึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมวายที่จะออกมาขับเคลื่อนให้กลุ่ม LGBTQ+ มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง เช่น การที่นักแสดงซีรีส์วายออกมาประกาศในสื่อโซเชียลของตน หรือการสอดแทรกเนื้อหาเหล่านี้ในซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ โดยบางส่วนก็ทำด้วยความตั้งใจจริงที่อยากจะช่วยสนับสนุนความเท่าเทียม แต่อีกส่วนก็ทำเพื่อแสดงออกให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งอาจจะถูกมองว่าเป็น Queerbaiting ได้เพราะขาดความจริงใจ เมื่อเกิดความขัดแย้งกันเช่นนี้ จึงต้องมีการถกเถียงพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปกันต่อไปว่า วัฒนธรรมวายควรมีบทบาทอย่างไรและเพียงใดต่อ LGBTQ+ community โดยวัฒนธรรมวายนั้นก็ไม่ควรอยู่นิ่งเฉย และไม่ควรสร้างภาพจำผิด ๆ ให้กับสังคม LGBTQ+ แต่ควรช่วยสนับสนุนตามสมควรในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาจจะโดยการแสดงออกตามสื่อโซเชียลมีเดีย หรือการสอดแทรกเนื้อหาการเรียกร้องในสื่อบันเทิงคดีต่าง ๆ หรือมิฉะนั้นก็เพียงแค่แสดงภาพ LGBTQ+ ในฐานะคนทั่วไปที่อยู่ในสังคมได้ปกติ มิได้มีสิ่งใดผิดแปลกแตกต่างไปจากกลุ่มคนที่มีเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศตรงตามขนบของสังคม เพื่อช่วยทำลายกำแพงของสังคม และส่งต่อโลกในอุดมคติที่มีความสุขของชาววาย ให้เกิดขึ้นในความเป็นจริงต่อไป ผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมวาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนวายนะแม่…
เรื่อง : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
พิสูจน์อักษร : ชางวี ยู
ภาพ : เทียนญาดา ศรัณย์ชล
แหล่งข้อมูล :
ปรเมศวร์ ตั้งสถาพร. (4 กุมภาพันธ์ 2563). กดซ้ำ กดซ้อน: บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน กับซีรีส์วาย. https://spectrumth.com/2020/02/04/กดซ้ำ-กดซ้อน-บรรทัดฐานค/
วัชชิรานนท์ ทองเทพ. (10 เมษายน 2563). เพราะเราคู่กัน : วัฒนธรรมวายคืออะไร ทำไม #คั่นกูจึงเพิ่มความสนใจต่อ ซีรีส์ "คู่จิ้นชาย-ชาย".https://www.bbc.com/thai/features-52240707
Prepanod Nainapat. (6 เมษายน 2560). รู้จักกับ ‘แฟนเซอร์วิส’ จากอนิเมชั่นลมพัดกระโปรงสู่โลกความจริงที่ผู้ชายจุ๊บกัน.https://thematter.co/entertainment/fanservice-savisu/21641
Karoonp. Chetpayark. (21 พฤศจิกายน 2562). ห้าม Y ห้ามฉายรักร่วมเพศ วัฒนธรรมการเสพซีรีส์ Y ในจีน ประเทศที่แบนเนื้อหาของเพศที่ 3. https://thematter.co/social/gender/y
-drama-china/91439
สิทธิศักดิ์ บุญมั่น. (18 ตุลาคม 2564). ภาพจำของซีรีส์วายในประเทศไทย : เมื่อความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอ. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/923/
เกศสิริ ขาวเผือก. (24 มกราคม 2565). ซีรีส์วายและการส่งเสียงเพื่อ LGBTQ+ สรุป 7 ข้อ สำคัญจากไลฟ์ของครูลูกกอล์ฟ. https://thestandard.co/y-series-and-lgbtq-by-loukgolflg/
workpointTODAY. (16 มิถุนายน 2564). ตั้งวงคุยในเสวนาจักรวาลซีรีส์วายไทย กับโลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม. https://workpointtoday.com/series-y/
ผู้จัดการออนไลน์. (1 มกราคม 2565). เป็นไปแล้ว "ปรมาจารย์ลัทธิมาร" ยอดผู้ชมทะลุ "10,000 ล้านวิว". https://mgronline.com/entertainment/detail/9640000129137
พิมพ์ชนก โรจนันท์. (22 มีนาคม 2565). รู้จัก ‘Queerbaiting’ การตลาดที่ลดทอนความหลากหลายทางเพศให้กลายเป็นคอนเทนต์. https://themomentum.co/gender-queerbaiting/
Peeranat Chansakoolnee. (10 สิงหาคม 2564). ตีแผ่กระแส “Queerbaiting” เมื่อวงการ บันเทิงหากินกับความหลากหลายทางเพศจนเกินงาม. https://www.vogue.co.th/fashion/
article/queerbaiting-story-analysis
Chanan Yodhong. (1 กรกฎาคม 2565). วายคือวาย ไม่ใช่ LGBTQ? การปะทะกันของความหมายเพศชายรักกัน. https://thematter.co/thinkers/y-culture-and-lgbtq/147689
Comments