top of page

วัฒนธรรมวาย: ดีต่อใจ ไยสังคมมีปัญหา? (Part 1)



วัฒนธรรมวายคือภาพสะท้อนความหลากหลายทางเพศ?


“ความรักเกิดได้ไม่จำกัดเพศ” หากจะกล่าวประโยคนี้เมื่อสักร้อยปีก่อน ผู้ที่กล่าวคงจะถูกมองว่าเป็นคนบ้า มีอาการทางจิต หรือเป็นซาตานและต้องถูกลงโทษ แต่หากกล่าวในปัจจุบัน คนในสังคมต่างยอมรับว่าประโยคนี้เป็นจริงกันมากขึ้น เพราะกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศไม่ตรงกับบรรทัดฐานที่เคยมีมาก็ได้แสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาและออกมาเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาควรมีเช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงทั่วไป รวมถึงคนในสังคมที่ยังคงนิยมเพศตรงข้าม ก็ยังสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข อย่างไรก็ตาม ค่านิยมเรื่องความรักต่างเพศนั้นฝังรากลึกทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ในบางศาสนายังกำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้มีบาป จึงยังต้องมีการออกมาเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเพื่อนำเสนอแนวคิดนี้ให้สังคมเปิดใจยอมรับ และทำให้พวกเขาได้สิทธิที่พวกเขาควรได้ เช่น การสมรสเท่าเทียม เป็นต้น


อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมของคู่รักเพศกำเนิดเดียวกันมีมานานแสนนาน ก่อนที่จะมีขบวนการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิให้คู่รักเหล่านี้เสียอีก เห็นได้จากทั้งภาพวาดการร่วมรักของคนเพศเดียวกันของญี่ปุ่น หรือตำนานฮ่องเต้ตัดแขนเสื้อเพื่อให้ชายคนรักที่นอนหลับบนแขนเสื้อไม่ตกใจตื่น แต่วัฒนธรรมของคู่รักเพศกำเนิดเดียวกันเริ่มมาเป็นกระแสจากการ์ตูนวายของญี่ปุ่น โดย รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านนวนิยายวาย เล่าให้ BBC ไทยฟังว่า คำว่า "วาย" มาจากคำภาษาญี่ปุ่นว่า "Yaoi" หรือยาโออิ เดิมทีเป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อล้อเลียนงานต้นฉบับซึ่งเรียกว่า “แฟนฟิคชั่น” โดยจับให้ตัวละครชายที่มีชื่อเสียงมีความสัมพันธ์แบบชายรักชาย โดยฝ่ายชายที่เป็นฝ่ายรุกเรียกว่า "พระเอก" หรือ "เซเมะ" จะถูกออกแบบให้ดูเหมือนเป็นผู้ชายมากกว่า ส่วนตัวละครคู่ที่เป็นฝ่ายรับจะเรียกว่า "นายเอก" หรือ "อุเคะ" จะยังคงมีภาพลักษณ์เป็นชายแต่จะมีลักษณะภายนอกบอบบางกว่า ทั้งที่ในเรื่องต้นฉบับนั้น ตัวละครคู่นี้มิได้เป็นคู่รักกัน หลังจากนั้นจึงเกิดวัฒนธรรมในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กสาว ที่เรียกกันว่า “สาววาย” มักจะนำตัวละครชายสองคนของสื่อบันเทิงคดีต่าง ๆ มา “จิ้น” กัน ซึ่งคำว่า จิ้น ก็มาจากคำว่า imagine คือการจินตนาการว่าทั้งสองคนรักกันนอกจอ เกิดเป็น “คู่จิ้นวาย” ขึ้น ต่อมาก็เริ่มนำไปสู่การจิ้นบุคคลที่มีตัวตนจริง เช่น นักแสดง นักร้อง หรือในประเทศไทยก็มีการจิ้นเน็ตไอดอลและเดือนมหาลัยด้วย เกิดเป็นวัฒนธรรมการจิ้นที่แบ่งบาน สะท้อนผ่านการผลิตแฟนฟิคชั่นอันมีตัวละครหลักเป็นดารานักร้องที่มีตัวตนจริง หรือการใช้แฮชแท็กเพื่อ “หวีด” คือ การแสดงความตื่นเต้นชอบใจกับ “โมเมนท์” หรือการแสดงออกซึ่งความใกล้ชิดสนิทสนมของคู่นั้น ๆ โดยในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดวัฒนธรรมวายก็มีสื่อบันเทิงคดีซึ่งมีคู่หลักเป็นเพศกำเนิดเดียวกันขึ้นมาด้วย เรียกว่า สื่อบันเทิงวาย เช่น นิยายวาย อนิเมะวาย ซีรีส์วาย ทำให้สาววายยิ่งอิน ฟิน จิ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนในประเทศไทย สื่อบันเทิงคดีวาย โดยเฉพาะซีรีส์วาย ก็ได้รับความนิยมอย่างมากไม่แพ้ในญี่ปุ่นเช่นกัน ซึ่งกระแสนี้เองที่ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านดีและด้านลบต่อสังคมอย่างมาก


วัฒนธรรมวายเป็นบันไดสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ


หากมองในด้านดี เมื่อมีผู้ที่นิยมชมชอบการจิ้นเป็นชีวิตจิตใจจำนวนมาก เห็นได้จากยอดอ่านแฟนฟิคชั่น ยอดอ่านนิยายวาย หรือยอดแฮชแท็กเกี่ยวกับการจิ้นวาย หรือสื่อบันเทิงคดีวายที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ยิ่งกว่าน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงบันเทิงหรือแวดวงธุรกิจในประเทศที่มิได้มีกฎหมายห้าม โดยเฉพาะประเทศไทย ต่างมองเห็นช่องทางในการทำเงินจากวัฒนธรรมวายนี้ จึงต่างก็ผลิตสื่อบันเทิงวายออกมามากมาย ผลักดันจนสื่อบันเทิงวายเผยแพร่ไปทั่วโลก สร้างกำไรมหาศาล เนื่องจากกลุ่มผู้ชื่นชอบวายที่มีอยู่มากมาย รวมถึงกลุ่มที่มาจากประเทศที่กฎหมายห้ามมิให้มีสื่อประเภทนี้ก็ต้องมาเสพสื่อเหล่านี้จากประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากซีรี่ส์ “คั่นกู:เพราะเราคู่กัน” ของ GMMTV ซึ่งมียอดวิวรวมสูงถึง 610 ล้านวิว และแฮชแท็ก #เพราะเราคู่กัน ในทวิตเตอร์ติดเทรนด์โลกอันดับ 1 ด้วย หรือแม้แต่ซีรีส์ “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ซึ่งมาจากประเทศจีนที่มีกฎหมายห้ามจึงต้องนำเสนอในรูปแบบของมิตรภาพลูกผู้ชาย อย่างไรก็ตามยังมียอดวิวถึงกว่า 10,000 ล้านวิวจากทั้งในจีนและต่างประเทศ รวมถึงทำให้คู่จิ้นวายเหล่านั้นโด่งดังอย่างรวดเร็วมากกว่านักร้องนักแสดงทั่วไปหลายเท่า อย่างไรก็ดีเหรียญย่อมมีสองด้าน กระแสที่ไหลหลากยิ่งกว่าน้ำป่าก็ย่อมมีข้อดีและข้อเสีย ส่วนข้อเสียจะมีอะไรบ้างนั้น รอติดตามใน Part 2 ได้เลย



เรื่อง : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์

พิสูจน์อักษร : ชางวี ยู

ภาพ : เทียนญาดา ศรัณย์ชล



แหล่งข้อมูล :


ปรเมศวร์ ตั้งสถาพร. (4 กุมภาพันธ์ 2563). กดซ้ำ กดซ้อน: บรรทัดฐานความรักเพศเดียวกัน กับซีรีส์วาย. https://spectrumth.com/2020/02/04/กดซ้ำ-กดซ้อน-บรรทัดฐานค/


วัชชิรานนท์ ทองเทพ. (10 เมษายน 2563). เพราะเราคู่กัน : วัฒนธรรมวายคืออะไร ทำไม #คั่นกูจึงเพิ่มความสนใจต่อ ซีรีส์ "คู่จิ้นชาย-ชาย".https://www.bbc.com/thai/features-52240707


Prepanod Nainapat. (6 เมษายน 2560). รู้จักกับ ‘แฟนเซอร์วิส’ จากอนิเมชั่นลมพัดกระโปรงสู่โลกความจริงที่ผู้ชายจุ๊บกัน.https://thematter.co/entertainment/fanservice-savisu/21641


Karoonp. Chetpayark. (21 พฤศจิกายน 2562). ห้าม Y ห้ามฉายรักร่วมเพศ วัฒนธรรมการเสพซีรีส์ Y ในจีน ประเทศที่แบนเนื้อหาของเพศที่ 3. https://thematter.co/social/gender/y

-drama-china/91439


สิทธิศักดิ์ บุญมั่น. (18 ตุลาคม 2564). ภาพจำของซีรีส์วายในประเทศไทย : เมื่อความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอ. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/923/


เกศสิริ ขาวเผือก. (24 มกราคม 2565). ซีรีส์วายและการส่งเสียงเพื่อ LGBTQ+ สรุป 7 ข้อ สำคัญจากไลฟ์ของครูลูกกอล์ฟ. https://thestandard.co/y-series-and-lgbtq-by-loukgolflg/


workpointTODAY. (16 มิถุนายน 2564). ตั้งวงคุยในเสวนาจักรวาลซีรีส์วายไทย กับโลกของชายแท้รักกันยังเหมือนเดิมอยู่ไหม. https://workpointtoday.com/series-y/


ผู้จัดการออนไลน์. (1 มกราคม 2565). เป็นไปแล้ว "ปรมาจารย์ลัทธิมาร" ยอดผู้ชมทะลุ "10,000 ล้านวิว". https://mgronline.com/entertainment/detail/9640000129137


พิมพ์ชนก โรจนันท์. (22 มีนาคม 2565). รู้จัก ‘Queerbaiting’ การตลาดที่ลดทอนความหลากหลายทางเพศให้กลายเป็นคอนเทนต์. https://themomentum.co/gender-queerbaiting/


Peeranat Chansakoolnee. (10 สิงหาคม 2564). ตีแผ่กระแส “Queerbaiting” เมื่อวงการ บันเทิงหากินกับความหลากหลายทางเพศจนเกินงาม. https://www.vogue.co.th/fashion/

article/queerbaiting-story-analysis


Chanan Yodhong. (1 กรกฎาคม 2565). วายคือวาย ไม่ใช่ LGBTQ? การปะทะกันของความหมายเพศชายรักกัน. https://thematter.co/thinkers/y-culture-and-lgbtq/147689


 
 
 

Comments


bottom of page