ลากอม (LAGOM): แวะเติมความกลมกล่อมให้ชีวิตกับปรัชญาสวีดิช สุข สมดุล อยู่แค่เอื้อม
- เฌอเดีย
- Sep 15, 2022
- 2 min read

หากคุณสามารถเลือกของขวัญชิ้นพิเศษชิ้นหนึ่งให้กับคนที่คุณรัก โดยมีเงื่อนไขว่าของขวัญชิ้นนั้นต้องไม่ใช่เงินตราและไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ คุณจะมอบอะไรให้แก่เขา… ผู้คนจำนวนมากอยาก “มีความสุข” และอยากให้คนที่เราปรารถนาดีด้วย “มีความสุข” เช่นเดียวกัน
ทว่าในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สภาพสังคมที่บีบคั้นให้เราต่างต้องดิ้นรนและแข่งขัน ความรู้สึกทุกข์จากการไม่มีหรือมีไม่พอ กลับยิ่งแจ่มชัดขึ้นไปทุกที เมื่อใดที่เรารู้สึกขาด เรามักต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเติมเต็ม ตามที่ปรากฏให้เห็นในสังคมว่าหลายคนพยายามไขว่คว้าหาความสุขจากวัตถุ ใช้จ่ายไปกับสิ่งของและกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกพึงพอใจ บางคนอาจมีพฤติกรรมเล่นการพนัน หรือใช้สารเสพติดร่วมด้วย กิจกรรมเหล่านี้เป็นแหล่งกระตุ้นสารแห่งความสุขชั้นเยี่ยมที่ชื่อว่า “โดพามีน (dopamine)” ทว่าความสุขที่มาจากกิจกรรมดังกล่าวช่างไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย
นอกจากนี้ บ่อยครั้ง เรายังแบกความคาดหวังอันหนักอึ้งไว้บนบ่าของเรา จนเผลอทำความสุขหล่นหายไประหว่างทาง “ความคาดหวัง” ในที่นี้ อาจมาจากทั้งพ่อแม่และตัวเราเอง เช่น ความคาดหวังที่จะต้องเป็นคนเก่ง เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น ความทะเยอทะยานอันเกิดจากความคาดหวังผลักดันให้เราพยายามมากขึ้น ทำงานหนักขึ้น ทุ่มเทอุตสาหะ ซึ่งก็เปรียบได้กับเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งทำให้เรากระตือรือร้นที่จะก้าวหน้า ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราเครียด หรือมีอารมณ์แง่ลบจนทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) หลั่งออกมามากเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้
คำว่า “ความคาดหวัง (expectation)” มีคำว่า “ความหวัง (hope)” ประกอบอยู่ด้วยเสมอ ผู้เขียนเห็นว่าความหวังเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชะโลมใจมนุษย์ จึงสำคัญยิ่ง มิเช่นนั้น เราคงมีชีวิตอยู่อย่างหม่นเศร้าหากปราศจากความหวัง (hopeless) แต่ความคาดหวังนั้นจำเป็นจริงหรือ ความคาดหวังแฝงไปด้วยความพยายามจะ “ควบคุมผลลัพธ์” ให้ออกมาเป็นแบบใดแบบหนึ่งตามความต้องการของเรา อย่างไรก็ดี ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การพยายามจะไปควบคุมสิ่งใด ๆ ให้เป็นไปตามอำเภอใจของตน คงทำให้จิตใจเราหวั่นไหวอยู่ไม่ใช่น้อย
ความสุขที่จริงแท้ไม่ใช่การบริโภคมาก ๆ ต้องการสิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ตามที่ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวไว้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความสำราญใจในระดับเปลือกผิวของชีวิต ความสุขที่แท้จริงนั้นจะมาพร้อมกับอิสรภาพและ “ความรู้สึกพอ”
เมื่อจิตใจไหวหวั่น ในวันที่เมฆทุนนิยมปกคลุมทั่วฟ้า นำมาสู่การตามหาความสุขที่หล่นหาย สไตล์สวีดิช
ข้อมูลจาก Happiest Countries in the World 2022 พบว่า สวีเดนครองลำดับที่ 7 จาก 146 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก โดยเกณฑ์ในการวัดดัชนีความสุข พิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) อัตราการคอร์รัปชัน (lack of perceived corruption) และอัตราการก่ออาชญากรรมที่ต่ำ (low crime rate) ส่วนในประเทศไทย เราติดลำดับที่ 53 จาก 146 ประเทศ
สุภาษิตของชาวสวีเดน “Lagom är bäst” หมายความว่า ความพอดี ดีที่สุด กุญแจสู่การค้นพบความสุขในแบบของเราไม่ใช่การกระทำสิ่งใด ๆ อย่างมากหรือน้อยไป (not too little, not too much, just right) แต่กระทำด้วย “ความพอดี” ปรัชญาลากอมได้กลายมาเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิตของชาวสวีเดน ซึ่งประยุกต์ใช้ได้ในทุก ๆ ด้านของชีวิต เช่น ทัศนคติ ความสัมพันธ์ และการทำงาน
แหล่งข้อมูลเชื่อกันว่า ลากอม มีรากศัพท์มาจากวลี “Laget Om” ในภาษาไวกิ้ง ซึ่งเป็นวลีที่กล่าวกันขณะส่งแก้วไวน์กันไปรอบ ๆ โต๊ะ โดยทุกคนจะดื่มปริมาณพอเหมาะ ให้เหลือพอทุกคนดื่มกันได้ครบนั่นเอง
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ “พอดี” (just right)
หากลองประยุกต์ปรัชญาลากอมเข้ากับการทำงาน เราสามารถปรับสภาพแวดล้อมที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ ทั้งไม่บั่นทอนสุขภาพในระยะยาวของเรา เช่น การเลือกนั่งทำงานริมหน้าต่าง งานวิจัยของ Northwestern University in Chicago พบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับแสงแดดกับคุณภาพในการนอนหลับและคุณภาพของชีวิต
หมั่นลุกขยับเส้นขยับสายบ้าง Gretchen Reynolds นักวิจัยท่านหนึ่ง แนะนำให้ลุกขึ้นทุก ๆ 20 นาทีเพื่อสุขภาวะที่ดี ตาม The 20-minute rule อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดทางการงาน อาจทำให้เราไม่สามารถลุกขึ้นบ่อยได้เช่นนั้น เพียงแต่แก่นสำคัญอยู่ที่ว่า “ให้เราขยับบ้าง”
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า สีเขียว สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเราได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การตั้งต้นไม้ไว้บนโต๊ะทำงาน นอกจากจะทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นแล้ว ยังทำให้อากาศในห้องนั้นดีขึ้นด้วย
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราต้องติดต่อสัมพันธ์และพึ่งพากันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่เสมอ เมื่อลองปรับใช้ปรัชญาลากอมกับความสัมพันธ์ เราสามารถทำได้ ดังนี้ การใช้เวลากับคนตรงหน้าอย่างตั้งใจ (active listening) ทว่า บ่อยครั้งในร้านอาหาร เรามักจะพบผู้คนที่กายนั้นอยู่ด้วยกัน แต่จิตใจกลับจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ คงจะดีไม่น้อย หากเราใช้เวลาดื่มด่ำกับทุกชั่วขณะ ณ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ใช้เวลากับกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้าอย่างแท้จริง (undivided attention)
และทั้งยังเป็นการให้เกียรติอีกฝ่ายด้วย จะเห็นได้ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถนำมาสู่ความสุขอันเรียบง่ายและสุขภาวะที่ดีขึ้นในชีวิตของเราได้
“กดดันน้อยลง” เครียดน้อยลง” และ “มีเวลาทำสิ่งที่รักมากขึ้น” ด้วยปรัชญาลากอม
ความเรียบง่าย ความพอดี ที่เปลี่ยนวันธรรมดา ๆ ให้เป็นวันที่แสนพิเศษ
เรื่อง : เฌอเดีย
พิสูจน์อักษร : ธนพล สิริชอบธรรม
ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ
แหล่งข้อมูล:
Journal of Sleep and Sleep Disorders Research, 2013, 36(1); http://www.journalsleep.org/resources/documents/2013AbstractSupplement.pdf
Nieuwenhuis, M., Knight, C., Postmes, T. & Haslam, S.A., ‘The relative benefits of green versus lean office space: Three field experiments’. Journal of Experimental Psychology, Sept 2014, 20 (3), doi; 10.1037/xap0000024
Comentarios