ทำแท้ง? ห้ามทำแท้ง? เหตุผลเบื้องหลัง Pro-life กับ Pro-choice คืออะไร?
- ชางวี ยู
- Aug 23, 2022
- 2 min read

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้มีคำตัดสินกลับคำพิพากษาคดี Roe vs Wade ซึ่งเป็นคดีสำคัญอันก่อให้เกิดบรรทัดฐานว่าการออกกฎหมายห้ามทำแท้งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิในความเป็นส่วนตัว (Right to privacy) ของสตรีชาวอเมริกัน เมื่อเกิดการกลับคำพิพากษานี้ขึ้น จึงส่งผลให้การออกกฎหมายห้ามทำแท้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป และส่งผลให้มลรัฐหลาย ๆ มลรัฐของสหรัฐอเมริกาที่มีความอนุรักษนิยมสูงเตรียมการที่จะกลับมาออกกฎหมายห้ามทำแท้งอีกครั้งหนึ่ง
จากคำตัดสินนี้ ประเด็นสังคมที่เป็นข้อถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า “การทำแท้งควรทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่” จึงกลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดเป็นวงกว้างอีกครั้งทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
เพื่อให้สังคมเข้าใจถึงแนวคิดของทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนการทำแท้ง บทความนี้จึงต้องการนำเสนอข้อถกเถียงหลักและเหตุผลสนับสนุนแนวคิดของทั้ง 2 ฝ่าย
เหตุผลเบื้องหลังข้อถกเถียงในประเด็น “ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่?”
ประเด็นถกเถียงแรกที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนแนวคิดของตนนั้นคือประเด็นที่ว่า สิ่งที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตหรือไม่
ฝ่ายผู้คัดค้านการทำแท้ง (Pro-life) มีความเห็นว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาจึงถือเป็น “ทารก” ที่มีชีวิตจิตใจแล้ว ดังนั้นการทำแท้งจึงเป็นดั่งการพรากสิทธิการมีชีวิตของทารกไป
ด้วยเหตุผลที่ว่าสิ่งที่อยู่ในครรภ์มารดาคือ “ทารก” อันมีชีวิตจิตใจ ผู้สนับสนุนฝ่าย Pro-life จึงรวมไปถึงผู้ที่เคร่งครัดศาสนาและศีลธรรมด้วย เนื่องจากหลายศาสนาทั่วโลกต่างมีคำสอนเช่นเดียวกันว่าการพรากชีวิตมนุษย์เป็นบาปอันใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์และอิสลามที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นบุตรของพระเจ้าที่มนุษย์ด้วยกันจะพรากไปมิได้ ศาสนาพุทธที่มีคำสอนว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป และศาสนาอื่น ๆ ที่มีคำสอนในทำนองเดียวกัน เมื่อนำความเชื่อทางศาสนามาประกอบกับความเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อปฏิสนธิ ก็ยิ่งเป็นเหตุผลให้มีผู้สนับสนุนแนวคิด Pro-life มากขึ้น
อนึ่ง การที่เทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบัน กล่าวคือ เทคโนโลยีอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) สามารถทำให้พ่อแม่ติดตามพัฒนาการและการเติบโตของทารกในครรภ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ใกล้ชิด และผูกพันกว่าสมัยก่อน และจากความเห็นทางการแพทย์ โดยเฉพาะของเซอร์ วิลเลียม ลิลีย์ (Sir William Liley) บิดาวิชาการแพทย์ด้านทารกในครรภ์ ที่มีความเห็นว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อปฏิสนธิ ต่างก็เป็นเหตุผลสนับสนุนในทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ว่าทารกในครรภ์นั้นมีชีวิตเป็นมนุษย์
ในขณะเดียวกัน ผู้ที่สนับสนุนให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายหรือกลุ่ม Pro-choice มีความเห็นที่แตกต่าง พวกเขามีความเห็นว่าสภาพการมีชีวิตของมนุษย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อทารกคลอดจากครรภ์มารดาและมีชีวิตอยู่รอดได้ ส่วนสิ่งที่อยู่ในครรภ์มารดาคือ “ตัวอ่อน” ซึ่งยังไม่มี “สภาพบุคคล” แต่มีเพียง “ศักยภาพในการเป็นบุคคล” เมื่อตัวอ่อนนี้ยังไม่ได้คลอดจากครรภ์มารดา จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในร่างกายสตรีเท่านั้น และสตรีควรมีสิทธิในการจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเห็นอีกว่าการห้ามไม่ให้สตรีทำแท้งคือการจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของสตรีและเป็นการตีตราสตรีว่าเป็นพลเมืองชั้นสองเช่นเดียวกับการห้ามสตรีเลือกตั้งในสมัยก่อนศตวรรษที่ 20
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า หนึ่งในประเด็นถกเถียงหลักของฝ่าย Pro-life และ Pro-choice คือ “ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่” ซึ่งความเห็นของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นไม่ตรงกัน ฝ่าย Pro-life เชื่อว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การปฏิสนธิ ส่วนฝ่าย Pro-choice เชื่อว่าชีวิตมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อคลอดและอยู่รอดได้ อนึ่ง ถึงแม้จะมีความเห็นทางการแพทย์ว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นเมื่อปฏิสนธิ แต่ความเห็นนี้ก็ยังไม่เป็นเอกฉันท์และในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าชีวิตมนุษย์เริ่มขึ้นเมื่อใด
ข้อถกเถียงด้านคุณภาพชีวิตของแม่ที่ท้องไม่พร้อมและลูกที่เกิดมา
อีกหนึ่งประเด็นถกเถียงหลักที่ทั้งฝ่ายคัดค้าน (Pro-life) และฝ่ายสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย (Pro-choice) ต่างมีเหตุผลสนับสนุนของตนเอง คือ ประเด็นเกี่ยวเนื่องด้วยคุณภาพชีวิตของแม่ที่ท้องไม่พร้อมและลูกที่เกิดมา และการยอมรับของสังคมต่อบุคคลทั้งสอง
ฝ่าย Pro-life มองว่า แทนที่จะออกกฎหมายคร่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งไป รัฐบาลควรมีมาตรการสนับสนุนให้แม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวและลูกที่เกิดมา มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม พวกเขายังเชื่ออีกว่าในปัจจุบันสังคมให้การยอมรับแม่ที่ท้องไม่พร้อม แม่เลี้ยงเดี่ยว และลูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมมากขึ้นแล้ว ดังนั้นการสร้างสังคมที่เหมาะสมให้แก่แม่ลูกเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการอนุญาตให้มีการตัดโอกาสการมีชีวิตของทารก
เคที แอสคัฟ (Katie Ascough) อดีตประธานองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงดับลินแสดงความเห็นว่า แทนที่จะออกกฎหมายการทำแท้งเสรี รัฐบาลไอร์แลนด์ควรมุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนให้แม่ที่ท้องไม่พร้อมและลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในทางการเงิน การเลี้ยงดูบุตร และการยอมรับจากสังคม เธอยังเน้นย้ำอีกว่า หากมีความมุ่งมั่นผลักดันทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ย่อมเกิดขึ้นได้
ในทางกลับกัน ฝ่าย Pro-choice มีความเห็นในประเด็นนี้ว่า การคาดหวังให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือในการสร้างสังคมอันมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อรองรับกลุ่มแม่ลูกเหล่านี้เป็นการคาดหวังในเรื่องที่เป็นไปได้ยาก และความคิดที่ว่าสังคมเริ่มให้การยอมรับแม่ลูกเหล่านี้มากขึ้นแล้วเป็นความคิดที่โลกสวยมากเกินไป ซึ่งเหตุการณ์ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็เป็นเหตุผลสนับสนุนในแนวคิดของฝ่าย Pro-choice ได้มากเช่นกัน
ความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมในสังคมเอเชียเป็นหนึ่งในหลักฐานที่บ่งบอกว่าสังคมยังไม่ได้ยอมรับสตรีที่ท้องไม่พร้อมอย่างแท้จริง ข้อมูลจากสถาบัน Guttmacher ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาในด้านสิทธิและสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์ เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2557 6 % ของสตรีที่เสียชีวิตทั้งหมดในเอเชียมีสาเหตุการเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนที่ไม่ปลอดภัย อาทิ ในประเทศอินโดนีเซียที่มีกฎหมายห้ามทำแท้ง รารา (นามแฝง) เป็นหนึ่งในสตรีชาวอินโดนีเซียที่ท้องไม่พร้อมและเลือกทำแท้งกับคลินิกเถื่อนเพราะตนไม่อยากถูกตีตราว่าเป็นหญิงที่ไม่รักนวลสงวนตัว นอกจากนี้ เธอก็ไม่อยากให้พ่อและแม่ของเธอที่เคร่งศาสนาผิดหวังในตัวเธอ
จากข้อมูลดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องศีลธรรมและศาสนา และการตีตราจากสังคมถือได้ว่าเป็นแรงกดดันอย่างหนักต่อสตรีที่อุ้มท้องอย่างไม่พร้อม
นอกจากแรงกดดันทางสังคมและศีลธรรมแล้ว ความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจของแม่ที่ท้องไม่พร้อมก็อาจนำไปสู่การทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กและบ้านเด็กกำพร้าเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีแนวคิด “Baby Box” หรือ “กล่องรับเด็กทารก” ที่เปิดโอกาสให้พ่อแม่ที่ไม่พร้อมเลี้ยงดูทารกสามารถนำลูกของตนมาใส่ในกล่องเพื่อให้ทางผู้รับเลี้ยงดูแลให้ชั่วคราว แต่กลายเป็นว่าเมื่อพ่อแม่เหล่านี้นำลูกมาฝากไว้ใน Baby Box แล้วก็ไม่กลับมาหาลูกอีกเลย นับตั้งแต่ประเทศเกาหลีใต้ผุดไอเดีย Baby Box ในปี พ.ศ. 2552 จนถึงปี พ.ศ. 2563 มีทารกที่ถูกทอดทิ้งผ่าน Baby Box กว่า 1,800 คน ทารกเหล่านี้จะถูกนำส่งต่อไปยังบ้านเด็กกำพร้าหรือบ้านอุปถัมภ์ ซึ่งแม้พวกเขาเหล่านี้จะมีชีวิตรอดได้ แต่ก็เป็นชีวิตที่ขาดความอบอุ่นจากพ่อและแม่ และอาจสร้างปมในใจให้พวกเขาอีกด้วย
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ จึงเห็นได้ว่า ฝ่าย Pro-life มีแนวคิดและความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีการยอมรับแม่ที่ท้องไม่พร้อมและลูก ๆ ได้มากขึ้น และมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พวกเขาได้ ในขณะที่ฝ่าย Pro-choice มีความเห็นว่า ถึงแม้แนวคิดของฝ่าย Pro-life จะเต็มไปด้วยความหวัง แต่จากตัวอย่างเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ได้ยกขึ้นมา ก็แสดงให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตที่ดีและการยอมรับของสังคมต่อแม่ลูกเหล่านี้ยังเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน และหากต้องเฝ้ารอให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น คงมีอีกหลายชีวิตที่ต้องสูญเสียไปทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จุดกึ่งกลางของ Pro-life และ Pro-choice ควรเป็นอย่างไร?
จากการวิเคราะห์เหตุผลและเจตนารมณ์ที่ยกมาของทั้งฝ่าย Pro-life และ Pro-choice บทความนี้มีความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตนารมณ์ในการคัดค้านและสนับสนุนการทำแท้งคล้ายคลึงกัน นั่นคือ “การรักษาชีวิตและปกป้องสิทธิ” ฝ่าย Pro-life ต้องการรักษาชีวิตของลูกในครรภ์และปกป้องสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับแม่และลูกหลังคลอด ในขณะที่ฝ่าย Pro-choice ก็ต้องการรักษาชีวิตของแม่ไว้และปกป้องสิทธิในความเป็นส่วนตัวของสตรี รวมถึงสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งแม่และลูกด้วยเช่นกัน
เมื่อเจตนารมณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายต่างเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แม้จะมีเหตุผลและมุมมองที่ต่างกัน แต่ทั้งสองฝ่ายย่อมสามารถหาจุดกึ่งกลางร่วมกันได้อย่างแน่นอนในอนาคต และที่สำคัญคือ ข้อตกลงอันเป็นจุดกึ่งกลางนี้ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมและเป็นฐานในการสร้างสังคมที่เหมาะสมไม่ว่าจะสำหรับแม่ที่เลือกทำแท้งหรือแม่และลูกที่เกิดมาจากการท้องไม่พร้อมก็ตาม
เรื่อง : ชางวี ยู
พิสูจน์อักษร : ธนพล สิริชอบธรรม
ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา
แหล่งข้อมูล :
กรุงเทพธุรกิจ (27 มิถุนายน 2565). ทำแท้งในเอเชีย:ทางเลือกที่จำกัดและมีความซับซ้อน. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/world/1012146
กษิต ภิรมย์. (13 กรกฎาคม 2565). อนุญาตให้ทำแท้งหรือไม่ : Pro Life vs Pro Choice. naewna. https://www.naewna.com/politic/columnist/36727
ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ. (27 มิถุนายน 2565). อเมริกายุคหลังกลับคำตัดสินคดี Roe v. Wade: เมื่อสิทธิสตรีกำลังจะถูกลิดรอนโดยรัฐบาลท้องถิ่น. The Standard. https://thestandard.co/roe-v-wade-is-overturned/#:~:text=ภูมิทัศน์ในทางกฎหมาย,ว่ารัฐบาลมลรัฐไม่สามารถ
วิลาสินี พนานครทรัพย์. (2554). การทำแท้ง: มุมมองที่แตกต่าง. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา, 30(1). 92-113. https://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/
2012/02/JSA-30-1-wilasinee.pdf
Karoonp. Chetpayark (27 มิถุนายน 2565). ทอดทิ้งลูกเมื่อไม่พร้อม ‘Broker’ กับคอนเซปต์กล่องรับเด็กทารกและสิทธิทำแท้ง. The MATTER. https://thematter.co/entertainment
/concept-broker-baby-box-and-abortion/178950
Nation Online (18 พฤษภาคม 2565). ชาวญี่ปุ่นดราม่ามีลูกไม่พร้อม หย่อนลง BABY BOX. Nation Online. https://www.nationtv.tv/news/378873388
Green, E. (19 มกราคม 2561). Science Is Giving the Pro-life Movement a Boost. The Atlantic. https://www.theatlantic.com/politics/archive/2018/01/pro-life-pro-science /549308/
Guttmacher Institute (มีนาคม 2561). Abortion in Asia. Guttmacher Institute. https://
www.guttmacher.org/sites/default/files/factsheet/ib_aww-asia.pdf
Taylor, K. (6 กรกฎาคม 2565). Abortion Is About Freedom, Not Just Privacy. The New Yorker. https://www.newyorker.com/news/our-columnists/abortion-is-about-freedom-
not-just-privacy
Comments