ทดลองผี ติดต่อวิญญาณ ท้าทายความตาย : เมื่อวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์ว่าผีมีอยู่จริง
- อภิญญา วัชรพิบูลย์
- Oct 26, 2022
- 2 min read

ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกหนีไม่ได้ แม้จะเป็นเช่นนั้นแต่กลับยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้เลยว่าโลกหลังความตายเป็นอย่างไรนอกจากผู้ล่วงลับ โลกหลังความตายจึงกลายเป็นเรื่องงมงาย หรือความเชื่อทางศาสนาที่ถูกยกมาถกเถียงกันตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ บนหลักความเป็นจริง แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากนักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบทางข้อเท็จจริงมาอธิบายเรื่องโลกหลังความตาย บางทีโลกหลังความตายอาจไม่ใช่จุดสิ้นสุดแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางอีกครั้งก็ได้
แบบไหนถึงเรียกว่าตาย ?
ก่อนจะกล่าวถึงโลกหลังความตาย เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการตายคืออะไร การตายถูกอธิบายไว้ในหลาย ๆ ศาสตร์ด้วยกัน อย่างไรก็ตามการตายตามหลักการแพทย์เป็นหลักที่ได้รับการยอมรับและนิยมนำมาใช้มากที่สุด ตามหลักการแพทย์ การจะบอกว่าใครซักคนหนึ่งตายต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของสัญญาณชีพ คือ การหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น หรือสมองหยุดทำงาน ซึ่งเกณฑ์ทั้งหมดเป็นเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นโดยเชื่อว่า หากไม่มีสัญญาณชีพแล้วร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป การที่ร่างกายทำงานไม่ได้ หรือไม่มีความสามารถที่จะใช้งานได้อีกต่อไปจึงเป็นหัวใจหลักของการตายในทางการแพทย์ หรือเรียกอีกอย่างว่าการตายในเชิงชีววิทยา
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อสังเกตว่าความหมายของการตายในแต่ละศาสตร์มีความแตกต่างกัน ทั้งการกำหนดความหมายของคำว่าตายในแต่ละศาสตร์ยังมีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้ของศาสตร์นั้น ๆ โดยเฉพาะกับการแพทย์และกฎหมาย จึงกล่าวได้ว่าความหมาย และนิยามของคำว่าตายยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการจำกัดความหมายตายตัว ยังคงเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มนุษย์สามารถใช้จินตนาการออกแบบได้อย่างเสรี
Near-death experiences (NDEs)
ไม่มีใครรู้เรื่องโลกหลังความตายได้ดีกว่าคนตาย แล้วถ้าคนตายกลับมามีชีวิตอีกครั้งหล่ะ! เหตุการณ์นี้เรียกว่า “ประสบการณ์ใกล้ตาย (Near-death experiences)”
Near-death experiences เป็นเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านคนที่ตายไปแล้วชั่วขณะหนึ่งหรืออยู่ในอาการใกล้ตาย แต่สามารถกู้ชีพกลับมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่บอกเล่าคล้ายกันว่าเห็นแสงสว่างจ้า ได้พูดคุยมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ตัวที่เสียชีวิตไป หรือเห็นตัวเองที่กำลังนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาลคล้ายวิญญาณหลุดออกจากร่าง
ซึ่งตามทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า เมื่อมนุษย์เสียชีวิตระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้หยุดทำงานสมบูรณ์โดยทันที การที่ร่างกายจะหยุดทำงานได้ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่าก่อนที่ร่างกายจะหยุดทำงานโดยสมบูรณ์ ในสภาวะที่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นและความตาย ร่างกายยังคงมีความสามารถในการจดจำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นได้ ทำให้ในบางเคสผู้ผ่านประสบการณ์ Near-death experiences สามารถจดจำบทสนทนาที่แพทย์หรือพยาบาลพูดในขณะที่ตนเสียชีวิตได้
ในปัจจุบัน Near-death experiences ยังคงได้รับความสนใจ และถูกนำมาศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลาย ๆ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวได้ในบางเรื่อง เช่น แสงสว่างจ้าที่เห็น อาจเกิดจากความดันเลือดบริเวณดวงตาลดลง รูม่านตาจึงหดตัว ทำให้แสงผ่านเข้าตาน้อยเป็นจุดเล็ก ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างคลอบคลุม ดังนั้นเรื่อง Near-death experiences จึงยังคงเป็นปริศนาที่รอวันพิสูจน์ต่อไป
21 Grams Experiment
ต่อเนื่องจากข้อสันนิษฐานในเรื่อง Near-death experiences ว่าหากตายแล้ววิญญาณของผู้เสียชีวิตจะหลุดออกจากร่างคือความจริง จะเป็นไปได้มั้ยว่าเมื่อวิญญาณออกจากร่าง น้ำหนักของร่างกายผู้เสียชีวิตจะลดลงตามไปด้วย ?
การทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1901 โดยดันแคน แม็คดูกัลล์ (Duncan MacDougall) แม็คดูกัลล์เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาได้คัดเลือกผู้ป่วยระยะวิกฤต 6 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการประเมินว่าสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน และอยู่ในสภาวะอ่อนแรงไม่สามารถขยับตัวได้มาก โดยแม็คดูกัลล์ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปนอนบนเตียงซึ่งดัดแปลงให้วางบนเครื่องชั่งน้ำหนักขนาดใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว และพยายามควบคุมปัจจัยซึ่งส่งผลต่อน้ำหนักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียน้ำ การขับถ่าย หรือการหายใจ
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตน้ำหนักร่างกายจะลดลงทันทีประมาณ 21.3 กรัม แม็คดูกัลล์จึงสรุปว่าวิญญาณของมนุษย์มีน้ำหนัก 21 กรัม และตั้งชื่อการทดลองนี้ว่า 21 Grams Experiment อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของผู้ป่วยแต่ละคนกลับไม่เท่ากัน อีกทั้งยังเป็นเรื่องยากในสมัยนั้นที่จะสามารถสังเกตน้ำหนักตัวของผู้ตายได้ทันทีที่เสียชีวิต ทำให้ผลการทดลองที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นน้ำหนักที่เกิดขึ้นทันทีหลังผู้ป่วยเสียชีวิต การทดลองดังกล่าวจึงยังคงได้รับข้อโต้แย้งต่าง ๆ รวมถึงถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความน่าเชื่อถือจริงในการทดลองนี้หรือไม่
The Spirit Phone
ถ้าวิญญาณคือพลังงานรูปแบบหนึ่ง คนที่ยังมีชีวิตก็น่าจะสื่อสารกับวิญญาณได้ ! สมมุติฐานดังกล่าวเป็นของโทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงวิทยาศาสตร์ หรือรู้จักกันในนามผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ ของใช้ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เอดิสันเป็นผู้ที่เชื่อในโลกหลังความตายมาก ในบันทึกของเขาเขียนถึงวิธีติดต่อวิญญาณในรูปแบบต่าง ๆ เอาไว้แต่ไม่ได้รับการเปิดเผย เนื่องจากการเชื่อในเรื่องโลกหลังความตายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ในยุคนั้น และอาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงอย่างเขา เวลาผ่านไปเมื่อบันทึกดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ แนวคิดของเอดิสันจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง Spirit phone เพื่อสื่อสารกับคนตายในยุคต่อมา
การทดลองติดต่อวิญญาณเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา แต่การทดลองติดต่อคนตายที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1956 แอตติลา วอน ซาเลย์ (Attila von Szalay) อ้างว่าเขาได้บันทึกเสียงคนที่ตายได้หลังจากความพยายามในการปรับแต่งเครื่องบันทึกเสียงวิญญาณถึง 15 ปี การค้นคว้าดังกล่าวถูกกล่าวถึงในบทความ The Dead Speak To Us นอกจากนี้ยังมีการทดลองของคอนสแตนติน รอดดีฟ (Konstantin Raudive) และเฟรดริช ยูเกนสัน (Friedrich Jürgenson) ในตอนแรกยูเกนสันบันทึกเสียงคนปริศนาได้โดยบังเอิญ เขาจึงทดลองบันทึกเสียงเพิ่ม และปรากฎว่าเขาสามารถบันทึกเสียงบุคคลปริศนาได้จำนวนมาก ในปี 1960 รอดดีฟจึงสร้างห้องทดลอง และติดตั้งฉนวนเพื่อป้องกันสัญญาณวิทยุสื่อสารจากภายนอกไม่ให้หลุดรอดเข้าไปได้ แต่พวกเขายังคงได้ยินเสียงคนพูดผ่านเครื่องบันทึกเสียงเหมือนเดิม
ปัจจุบัน Electronic Voice Phenomena หรือปรากฏการณ์ตรวจจับและบันทึกเสียงลึกลับ ถูกวิจารณ์ว่าเป็น Pseudo-Science หรือการลวงให้หลงเชื่อว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แม้การทดลองดังกล่าวจะถูกตั้งคำถามมากมาย แต่ก็ยังไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ใดมาพิสูจน์ที่มาของเสียงปริศนาเหล่านี้ได้
Ghost Images
ต่อเนื่องจากแนวคิดของโทมัส อัลวา เอดิสัน เรื่องวิญญาณเป็นพลังงานรูปหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนั้นนอกจากเราจะสามารถสื่อสารกับวิญญาณได้แล้ว ก็น่าจะสามารถเห็นวิญญาณได้เหมือนกันรึเปล่า ?
“ผี” เป็นปรากฏการณ์ลึกลับที่ผู้คนมากมายทั่วทุกมุมโลกอาจเคยมีประสบการณ์ประสบพบเจอ ซึ่งผีที่แต่ละคนเห็นก็มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์หรือความเชื่อ แต่โดยรวมก็เข้าใจกันว่าผีหรือวิญญาณคือคนที่ตายไปแล้ว แต่ยังคงวนเวียนตามหลอกหลอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้เรื่องผียังเป็นความเชื่อที่เป็นสากล หลาย ๆ ท้องถิ่นมีความเชื่อเรื่องผี หรือวิญญาณเป็นของตัวเอง เช่น เทศกาลฮาโลวีน ซึ่งถือว่าคืนวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันที่โลกของคนตายกับคนเป็นเชื่อมต่อกัน เหล่าวิญญาณ และผีจะเดินทางกลับสู่โลกคนเป็น
ในทางวิทยาศาสตร์เองก็พยายามหาข้อเท็จจริงมาอธิบายเรื่องผี โดยเชื่อว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เราคิดว่าเป็นผีหรือวิญญาณ อาจเกิดจากการหลอน หูแว่ว หรือเป็นเพียงภาพในจินตนาการที่คน ๆ นั้นสร้างขึ้นมาขณะนอน หวาดกลัว หรือขณะได้รับสารพิษบางอย่าง วิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าผีจึงไม่มีจริง
แม้เรื่องผีจะเป็นเรื่องที่สามารถหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้ แต่ว่าในปัจจุบันก็มีเหตุการณ์การเจอผีหรือวิญญาณต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้อีกมากมาย เช่น การที่เครื่องใช้ในบ้านขยับได้เอง คนที่อ้างว่าถูกผีทำร้ายหรือถูกสิง เป็นต้น นอกจากนี้การท้าพิสูจน์ผีด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงเรื่องเล่าลี้ลับที่เชื่อว่าเกิดจากผีก็ยังมีมากเช่นเดียวกับในอดีต จนเกิดเป็นคำถามว่า หรือแท้จริงแล้วผีอาจจะมีอยู่จริง ?
โลกหลังความตายมีจริงรึเปล่า ?
จากตัวอย่างการทดลองที่ได้ยกไปแล้วในข้างต้น ทำให้เห็นว่าแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีข้อสรุปใดที่สามารถให้คำตอบได้ว่าโลกหลังตวามตายมีจริงหรือไม่ แต่การทดลองทั้งหมดก็ใช่ว่าจะสูญเปล่า แต่กลับได้สร้างองค์ความรู้เพิ่มทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงนำไปสู่การถกเถียงเพื่อหาคำตอบที่สามารถนำมาหาข้อพิสูจน์เรื่องโลกหลังความตาย ผู้เขียนเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีคำตอบ ไม่ว่าคำตอบนั้นจะออกมาในรูปแบบใด อีกทั้งยังคงมีผู้คนอีกมากมายที่เชื่อ และพยายามคิดค้นวิธีเพื่อหาคำตอบเรื่องโลกหลังความตาย มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้ อยากเห็น อยากลองโดยธรรมชาติ ในไม่ช้าปริศนาดังกล่าวจะต้องได้รับการพิสูจน์และมีข้ออธิบายอย่างแน่นอน
เรื่อง : อภิญญา วัชรพิบูลย์
พิสูจน์อักษร : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
ภาพ : เทียนญาดา ศรัณย์ชล
แหล่งอ้างอิง:
Laura Overstreet. (13 เมษายน 2557). Death and Dying. https://www.youtube.com/watch?v=rruDCCrFwPA.
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ พนัส เฉลิมแสนยากร.
(7 ตุลาคม 2554). ตาย: ความตาย (Death) https://haamor.com/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2#article101.
Ben Brumfield, CNN. (10 เมษายน 2556 ). 'Afterlife' feels 'even more real than real,' researcher says. https://edition.cnn.com/2013/04/09/health/belgium-near-death-experiences/index.html.
PSUSci Channel. (14 กรกฎาคม 2565). วิทยาศาสตร์กับ "วิญญาณ" | Stranger Science EP28. https://www.youtube.com/watch?v=VNMVOyHuWW8.
ตนุภัทร โลหะพงศธร. (27 พฤษภาคม 2564). พิสูจน์ผี หาวิธีโกงความตาย เมื่อวิทยาศาสตร์มองหาความเป็นไปได้มาอธิบายเรื่องลึกลับ. https://becommon.co/life/the-science-of-ghosts-spirits-and-death/.
Everyday Einstein Sabrina Stierwalt. (25 กุมภาพันธ์ 2562). 6 Possible Scientific Reasons for Ghosts. https://www.scientificamerican.com/article/6-possible-scientific-reasons-for-ghosts/.
Kathryn Hulick. (31 ตุลาคม 2562) The science of ghosts. https://www.snexplores.org/article/science-ghosts.
พรรณพร กะตะจิตต์. (19 มีนาคม 2562). วิทยาศาสตร์อธิบายประสบการณ์ใกล้ตายได้หรือไม่ ? . https://www.scimath.org/article-biology/item/9579-2018-12-13-07-37-32.
Jim H. (ม.ป.ป.). Weighing Human Souls – The 21 Grams Theory . https://www.historicmysteries.com/the-21-gram-soul-theory/.
NATALIE ZARRELLI. (18 ตุลาคม 2559). Dial-a-Ghost on Thomas Edison’s Least Successful Invention: the Spirit Phone. https://www.atlasobscura.com/articles/dial-a-ghost-on-thomas-edisons-least-successful-invention-the-spirit-phone.
Comments