จุฬาฯ กับขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อน 6 ตุลา 19
- ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
- Oct 14, 2022
- 5 min read
Updated: Oct 15, 2022

เสียงระเบิดและเสียงลั่นไกปืนที่ดังสนั่นหวั่นไหวพร้อมกับเสียงกรีดร้องของนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ถูกฝูงชนฝ่ายขวารุมประชาทัณฑ์ จับเผาทั้งเป็นและแขวนคออย่างโหดเหี้ยม ในรุ่งอรุณของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ยังเป็นเสียงที่ดังกึกก้องอยู่ในความทรงจำของสังคมไทยมาตลอดกว่าสี่ทศวรรษ ไม่มีผู้ใดคาดคิดเลยว่าการต่อสู้ ความฝัน ความหวัง และอุดมการณ์อันแรงกล้าของคนหนุ่มสาวจะนำมาซึ่งการสังหารหมู่อันโหดร้ายที่จบลงด้วยบาดแผลและรอยเลือดสีแดงฉานเจิ่งนองทั่วปฐพี ทว่าเบื้องหลังปณิธานของพลังเยาวชนก่อนวันคืนอันแสนมืดหม่นนี้ มิได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน หากแต่ถูกฟูมฟักขึ้นอย่างปราณีต โดยเฉพาะกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ชื่อว่าสุดแสนจะอนุรักษ์นิยม แต่สามารถหลุดออกจากขนบความเป็น “นิสิตจุฬาฯ” จนมีอุดมการณ์ก้าวหน้าเปล่งประกาย แม้จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่พระนามจุฬาลงกรณ์ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้ก็ตาม
ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านมาเรียนรู้ถึงช่องว่างของความทรงจำที่ขาดหายไปของพัฒนาการทางสังคมและภูมิปัญญาของนิสิตจุฬาฯ ตลอดจนภูมิทัศน์ทางการเมืองแวดล้อม ก่อนโหมโรงไปสู่การก่อรูปของขบวนการนิสิตจุฬาฯ โดยมีจุฬาฯ เป็นฉากหลัง และควันไฟของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเวลาอ้างอิง
“นิสิตจุฬา” ก่อน พ.ศ. 2500
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงไม่แปลกหากเรากล่าวว่าหนึ่งในอัตลักษณ์อันโดดเด่นของความเป็น “นิสิตจุฬาฯ” นั้นคือความยึดมั่นในขนบอนุรักษ์นิยม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ถูกโหมขึ้นด้วยระเบียบเครื่องแต่งกาย เพลงประจำสถาบัน สีประจำสถาบัน ประเพณีและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับราชสำนัก ในความเก่าแก่ดังกล่าวนี้ยังสานสัมพันธ์กับ “ระบบอาวุโส” หรือ “ระบบโซตัส” (SOTUS) อย่างแน่นแฟ้น ระบบจะคอยจรรโลงสังคมนิสิตเป็นลำดับชั้นตามปีการศึกษา นิสิตชั้นปีล่าง ๆ จะอยู่ในการดูแลของรุ่นพี่อย่างใกล้ชิด เป้าหมายสูงสุดของระบบนี้อยู่ที่ชัยชนะในการเชียร์ นิสิตรุ่นน้องจะถูกเรียกเข้าห้องประชุมเชียร์ทุกพักเที่ยง นิสิตรุ่นพี่จะตะเบ็งเสียงกระโชกโฮกฮาก ตะล่อมกล่อมขวัญนิสิตรุ่นน้องตลอดเวลา ความคิดแบบโซตัสครอบงำสังคมจุฬาฯ อย่างหนักแน่นจนกระทั่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็น “นิสิตจุฬาฯ” ในเวลาต่อมา
จุฬาฯ ภายใต้ “ยุคสายลมแสงแดด”
ราว พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมคณะปฏิวัติ ได้เข้ายึดอำนาจและ “รัฐประหาร” รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อันเป็นผลมาจากการเลือกตั้งสกปรกในปีก่อนหน้า พร้อมประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและพรรคการเมืองทั้งหมด ดำเนินการปกครองภายใต้กฎอัยการศึกและประกาศคณะปฏิวัติ เป็นเหตุให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ตลอดจนนักการเมืองฝ่ายค้าน ที่คณะปฏิวัติเห็นว่าเป็นภัยต่อระบอบเผด็จการ ถูกจับกุมหลายร้อยราย โดยไม่มีการไต่สวนแต่อย่างใด ทั้งนี้ คณะปฏิวัติยังสั่งปิดสำนักพิมพ์ ทำลาย ริบยึด ห้ามจำหน่ายหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งจับกุมคุมขัง ข่มขู่ คุกคาม นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก เพื่อควบคุมการเผยแพร่ความคิดหรืออุดมการณ์ที่เข้าข่ายว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ในห้วงเวลาดังกล่าว สิทธิเสรีภาพในการเลือกรับข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของประชาชนจึงถูกจำกัดอย่างเข้มงวด
การกวาดล้างจับกุมตลอดจนการควบคุมการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มงวดภายหลังการรัฐประหารดังกล่าวนี้ ส่งผลให้สโมสรนิสิตจุฬาฯ ถูกควบคุมจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด โดยจอมพลสฤษดิ์เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วยตนเอง จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมลงในปี พ.ศ. 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร จึงรับช่วงต่อในตำแหน่งเดียวกันนี้ ขณะที่พลเอก ประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ก็รั้งตำแหน่งอธิการบดีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อนึ่ง ต้องยอมรับว่ากลไกของระบบโซตัสที่คอยควบคุมชีวิตของนิสิตจุฬาฯ ได้กลายเป็นหลักประกันสำคัญที่คอยส่งเสริมการคงอยู่ระบอบอำนาจนิยมในยุครัฐบาลทหารนี้ เพราะทำให้นิสิตเกิด “ความเชื่อง” ทางการเมือง (pacification) และพร้อมที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม โดยไม่มีการต่อต้านหรือขัดขืนใด ๆ
บรรยากาศของมหาวิทยาลัยภายใต้สภาวะสุญญากาศทางปัญญานี้ จึงปลอดพ้นจากกิจกรรมทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา จึงถดถอยลงสู่ภาวะซบเซา แม้กระนั้น กิจกรรมแบบ “สายลมแสงแดด” อาทิ กิจกรรมบันเทิง สันทนาการ และงานกีฬา กลับคึกคักเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเชียร์กีฬาสำหรับการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อย่างไรก็ดี ก็มักเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในหมู่นิสิต ที่มิได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง หากแต่เป็นความรุนแรงของการทะเลาะวิวาทกันระหว่างนิสิตต่างคณะ ดังเช่นในปี พ.ศ. 2509 นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ก่อเหตุวิวาทกัน เพราะความขัดแย้งในการแข่งขันบาสเกตบอล จนตำรวจต้องนำกำลังไปตรึงและปิดทำการมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 วัน
ภายใต้บรรยากาศอันฉาบฉวยใน “ยุคสายลมแสงแดด” นิสิตบางส่วนกลับเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายต่อกิจกรรมในมหาวิทยาลัยและกระตือรือร้นในการก้าวออกจากขอบรั้วของตนเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมภายนอก ในอีกไม่ช้า “ยุคแสวงหา” กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
เมื่อนิสิตจุฬาฯ “แสวงหาความหมาย”
ก่อน พ.ศ. 2500 นิสิตนักศึกษายังคงเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม สถาบันในระดับอุดมศึกษาขณะนั้นมีเพียงห้าแห่งเท่านั้น อย่างไรก็ดี การเปิดสถานศึกษาเพิ่มขึ้นหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่งออกบังคับใช้ ทำให้ปริมาณนิสิตนักศึกษาเพิ่มขึ้นสูงอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเปิดรับนักศึกษาโดยไม่จำกัดจำนวน แม้ระยะต่อมานิสิตนักศึกษาจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในสังคม ทว่าบรรยากาศของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการ ที่ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดความอ่านนั้น ย่อมส่งผลให้เยาวชนคนหนุ่มสาวโดยทั่วไปขาดความตื่นตัวทางการเมือง เมื่อรวมเข้ากับวัฒนธรรมอเมริกันที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกระแสวัตถุนิยมจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ยิ่งทำให้พวกเขาต่างพากันหลับใหลต่อเรื่องการบ้านการเมือง นิสิตจุฬาฯ บางกลุ่มที่ต้องการ “มาหาความหมาย” ของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ต่างพากันรู้สึกผิดหวัง ซ้ำต้องเผชิญแรงกดดันจากบรรดารุ่นพี่ รวมทั้งเพื่อนฝูงที่ยึดมั่นในระบบโซตัส
อย่างไรก็ตาม นิสิตจุฬาฯ บางส่วนก็ไม่ได้เฉยชาต่อการบ้านการเมืองเสียทีเดียว เพราะมีโอกาสไปเปิดโลกทัศน์ผ่านการออก “ค่ายอาสาพัฒนาชนบท” จัดโดยสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในปี พ.ศ. 2502 ภายใต้การนำของวิจิตร ศรีสอ้าน อุปนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ นับเป็นค่ายอาสาสมัครนำร่องครั้งแรกของประเทศไทย นับแต่นั้น นิสิตจุฬาฯ จึงมีโอกาสเรียนรู้จากการพบเจอโลกภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างเต็มตา พวกเขาได้สัมผัสกับความทุรกันดารและความเสื่อมโทรมในชนบทด้วยตนเอง นั้นทำให้พวกเขาตระหนักถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองกับชาวชนบท ซึ่งอยู่บนความไม่เท่าเทียมกัน จนเกิดสำนึกทางสังคมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ครั้นถึงปลายทศวรรษที่ 2500 ความนิยมในการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทก็เกิดขึ้นแทบทุกมหาวิทยาลัย
แม้พื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดและกิจกรรมทางการเมืองจะถูกจำกัดอย่างเข้มงวด แต่ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น วารสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” วารสารราย 3 เดือน ซึ่งมีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการ ถูกตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ในปี พ.ศ. 2506 ที่มุ่งสร้างพื้นที่สาธารณะให้ปัญญาชนของสังคมไทยนำเสนอข้อเขียนเชิงวิพากษ์จากมุมมองที่หลากหลายอย่างเปิดกว้างและเสรี
ในระยะต่อมาวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเจริญรอยตาม ด้วยการตีพิมพ์หนังสือรายสะดวกของตนวางจำหน่ายจ่ายแจกกันเองในราคาย่อมเยาว์ ที่มักเรียกกันว่า “หนังสือเล่มละบาท” เนื้อหาในงานเหล่านี้ มักประกอบไปด้วยผลงานของนิสิตนักศึกษาทั้งบทความวิชาการ บทกวี เรื่องสั้น ความเรียง ซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือการวิพากษ์วิจารณ์สภาพสังคม สะท้อนถึงความหวังต่อชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมผลิตสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้กลายเป็นสะพานเชื่อมปัญญาชนกับนิสิตนักศึกษาเข้าด้วยกัน ในฐานะของ “ชุมทางวาทกรรม” สำหรับแนวคิดจากหลากกระแสหลากอุดมการณ์
ในไม่ช้าคลื่นความคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคมผ่านอิทธิพลของตัวอักษรก็แผ่ขยายมาถึงสังคมจุฬาฯ ผ่านพื้นที่สื่อสารลักษณะต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ “มหาวิทยาลัย” วารสารรายปีของสโมสรนิสิตเพื่อแจกในงานที่ระลึกวันปิยมหาราช ที่เป็นพื้นที่เผยแพร่ความคิดเห็นผ่านการส่งข้อเขียนตีพิมพ์ รวมไปถึง “นิสิตนักศึกษา” วารสารรายสัปดาห์ของนิสิตภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ ที่ออกฉบับปฐมฤกษ์ในปี พ.ศ. 2510 และ “จุฬาสาร” สิ่งพิมพ์ของสโมสรนิสิต ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 กระนั้นเอง ยังมีกลุ่มอิสระและพรรคการเมืองนิสิตในจุฬาฯ ที่ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดจน “หนังสือเล่มละบาท” ของตนเช่นกัน จึงไม่แปลกนัก หากในเวลาต่อมา การตั้งคำถามกับอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย กับนิยามอัตลักษณ์ใหม่ของนิสิตจุฬาฯ อาจพบเห็นได้ในสื่อสิ่งพิมพ์ของนิสิตเอง ไม่ว่าจะใน “มหาวิทยาลัย” “นิสิตนักศึกษา” หรือ “จุฬาสาร” เองก็ตาม
กล่าวได้ว่าในระยะนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ทางเลือกได้ช่วยตระเตรียมคนรุ่นใหม่ในแง่ความคิดอ่าน โลกทัศน์ของคนหนุ่มสาวจึงขยายตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เยาวชนต่างพากัน “ตื่น” ขึ้นจากการหลับใหล แต่กระนั้นแล้ว พวกเขายังได้รับอิทธิพลจากแนวคิดต่างประเทศภายใต้กระแส “ซ้ายใหม่” (New Left) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากการรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนามของนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แนวคิดดังกล่าวมุ่งเน้นถึงพลังนิสิตนักศึกษา (Student Power) ในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม อิทธิพลวิธีคิดแบบซ้ายใหม่นี้ให้แรงบันดาลใจแก่นิสิตนักศึกษาอย่างคึกคัก หลังสมาทานเข้าสู่สังคมไทยราว พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา อาจารย์จุฬาฯ บางส่วนถึงกับสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างจริงจัง ด้วยเห็นว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยมีผลต่อการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย สังคมควรให้การสนับสนุนพลังของนิสิตนักศึกษาซึ่งเปี่ยมไปด้วยความไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ใจ อีกไม่นานกระแสโลกของกิจกรรมขบถของคนหนุ่มสาวก็คืบคลานเข้าสู่สังคมไทย พร้อมกับวัฒนธรรมการประท้วงภายใต้การนำของนิสิตนักศึกษาที่กำลังปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น
ในปี พ.ศ. 2513 ประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ณ ขณะนั้น ได้นำนิสิตหลายพันคนเข้าเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้สอบสวนผู้บริหารมหาวิทยาลัยในกรณีทุจริตที่ดินและสิ่งปลูกสร้างศูนย์การค้าและโรงแรมของมหาวิทยาลัยที่บริเวณสยามสแควร์และย่านปทุมวัน ท้ายที่สุดแล้วจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะของนายกรัฐมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัย จึงต้องยอมตั้งคณะกรรมการสอบสวน นำมาสู่การลงโทษทางวินัยแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต นับเป็นชัยชนะขั้นแรกของขบวนการนิสิตจุฬาฯ ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้น
“กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่”
ความตื่นตัวทางปัญญาจากการขยายตัวของพื้นที่การเขียนเชิงวิพากษ์ประกอบกับกระแส “ซ้ายใหม่” ส่งผลให้ระบบโซตัสที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “วัฒนธรรมอันสูงส่ง”กลับถูกวิจารณ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความป่าเถื่อนและความล้าหลังอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ก่อนที่กลุ่มนิสิตหัวก้าวหน้าในจุฬาฯ นำโดย พิรุณ ฉัตรวณิชกุล จะก่อตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” เพื่อต่อต้านระบบดังกล่าวที่ดำเนินอยู่ และหันไปสู่ความหมายที่แท้จริงของโซตัสนั้นคือ Seniority (น้ำใจ) Order (ระเบียบ) Tradition (ประเพณี) Unity (ความสามัคคี) Spirit (อาวุโส) การเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนอย่างมากต่อสังคมจุฬาฯ กลุ่มนิสิตรุ่นพี่และอาจารย์ที่ต้องการรักษาระบบรับน้องแบบเดิมได้รวมกำลังกันต่อต้าน กลายเป็นกระแสอภิปรายกันในสังคมจุฬาฯ หลังจากนั้นไม่นานกลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ ก็ได้ออกจำหน่าย “หนังสือเล่มละบาท” วิพากษ์วิจารณ์ระบบโซตัส และสภาพการเรียนการสอนอย่างท้าทาย นั้นทำให้ “ระบบโซตัส” ที่เป็นส่วนหนึ่งของฐานล่างรองรับการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย กำลังเผชิญกับการตั้งคำถามครั้งสำคัญ สภาพเช่นนี้กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งสำคัญของนิสิตจุฬาฯ หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนของระบอบอำนาจนิยมที่กำลังพังทลายลง
จากจุฬาฯ สู่ “ความเคลื่อนไหว”
พื้นที่เคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาก็เริ่มแผ่ขยายอาณาเขตจากหน้ากระดาษหนังสือสู่สนามการเมืองระดับชาติ เมื่อรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งจัดตั้ง “กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง” ขึ้นในปีเดียวกัน ก่อนจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้นักกิจกรรมต่างสถาบันได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก จนสามารถก่อร่างสร้างเครือข่ายและนำไปสู่การจัดตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) ในเวลาต่อมา
ท่ามกลางขบวนการของนิสิตนักศึกษาที่กำลังเริ่มฟูมฟักขึ้น ไม่มีใครคาดคิดว่าในปี พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร จะตัดสินใจก่อการรัฐประหารตัวเอง พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และประกาศกฎอัยการศึก ส่งผลให้สังคมไทยพลันต้องกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบอีกครั้ง
ในปีถัดมา ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงเริ่มปรากฎขึ้นให้เห็นเมื่อ ธีรยุทธ บุญมี นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศนท. สมัยปีการศึกษา พ.ศ. 2515 โดย ศนท. จัดการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเพื่อชักชวนให้ประชาชนเกิดสำนึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และตระหนักถึงภัยคุกคามทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่น ต่อด้วยการชุมนุมคัดค้านกฎหมายโบว์ดำ หรือ “ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 299” ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลแทรกแซงการแต่งตั้งผู้พิพากษา การเคลื่อนไหวทั้งสองกรณีดังกล่าว ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากนิสิตนักศึกษาและประชาชน จนรัฐบาลต้องโอนอ่อนผ่อนตาม ทั้งยังกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่นักศึกษาต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ณ จุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า ขบวนการนิสิตนักศึกษาได้กลายเป็นแกนกลางของขบวนการมวลชนไปเสียแล้ว
จุดพลิกผันสำคัญที่นำไปสู่การยกระดับความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา เกิดขึ้นกับกรณีเหตุอื้อฉาวที่เรียกว่า “กรณีทุ่งใหญ่” ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2516 เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกลำหนึ่ง ประสบอุบัติเหตุตกที่จังหวัดนครปฐม ณ จุดเกิดเหตุนอกจากจะพบร่างไร้วิญญาณของผู้โดยสารแล้ว ยังพบซากสัตว์ป่าสงวนจำนวนมากในเครื่องดังกล่าว ถึงตอนนั้น แทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า จะมีข้าราชการระดับสูงได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางการ ออกไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี แม้ต่อมารัฐบาลจะอ้างว่าเป็น “ราชการลับ” แต่การเปิดเผยของนิสิตนักศึกษาจากชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว พบว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ในเวลาเดียวกันนี้พลเอกประภาส จารุเสถียร ก็ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพล และได้ต่ออายุราชการไปอีก 1 ปี
กระแสทุ่งใหญ่บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลทหารลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การขยายตัวของกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างเช่น ศนท. ที่ออกมารณรงค์และเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเหล่าพรานป่าก่อนจัดพิมพ์ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” เพื่อเปิดโปงข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมไปถึง “ชมรมคนรุ่นใหม่” ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ออกหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” พร้อมโปรยข้อความเสียดสีรัฐบาลขณะนั้นว่า “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ” ด้วยเหตุนี้ทำให้ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัดสินใจคัดชื่อนักศึกษา 9 คนที่เกี่ยวข้อง ออกจากสภาพความเป็นนักศึกษา เป็นเหตุให้ ศนท. จัดการชุมนุมประท้วงที่หอประชุมจุฬาฯ ก่อนเดินขบวนกันไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาที่ถูกลบชื่อ รัฐบาลจึงตัดสินใจถอยแบบไม่มีเงื่อนไข นักศึกษาทั้ง 9 คนได้กลับเข้ามาเรียนตามเดิม ในขณะที่ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ได้ประกาศลาออกในเวลาต่อมา
วันนี้เป็น “วันมหาวิปโยค”
สามเดือนให้หลังกรณีลบชื่อนักศึกษา ธีรยุทธ บุญมี พร้อมด้วย ปรีดี บุญซื่อ และประสาร มฤคพิทักษ์ ก่อตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแก่ประชาชน ปรากฏว่าคราวนี้ รัฐบาลทหารตอบสนองด้วยการใช้อำนาจจับกุมแกนนำกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขณะเดินแจกใบปลิวบริเวณย่านประตูน้ำ ก่อนออกหมายจับเพิ่มเติมจนได้ผู้ต้องหารวม 13 คน ผลของการจับกุมครั้งนี้ ได้กลายเป็นชนวนของการชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝูงชนต่างแห่แหนออกมาชุมนุมแบบมืดฟ้ามัวดิน ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ทว่ารัฐบาลกลับใช้วิธีสลายการชุมนุมโดยการล้อมปราบอย่างโหดร้ายในเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนพื้นถนนราชดำเนินเจิ่งนองไปด้วยเลือด ทั้งยังเป็นเหตุให้ สมเด็จ วิรุฬพล นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะมุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ป้ายรำลึกของ สมเด็จ วิรุฬหผล ในห้องสโมสรนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ที่มา: เฟซบุ๊ก Netwit Ntw
แม้จะเกิดความสูญเสียเหลือคณานับ กระนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายนิสิต นักศึกษาและประชาชน รัฐบาลทหารที่ปกครองบ้านเมืองมาอย่างนมนาน หมดสิ้นความชอบธรรมลงในชั่วพริบตา ท่ามกลางช่วงเวลาอันแสนสับสนวุ่นวายดังกล่าวจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็เดินทางออกนอกประเทศในเวลาต่อมา
ถึงคราว “โซตัสจุฬาฯ” พังทลาย
ชัยชนะของขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นอกจากจะเปรียบเสมือนกับแสงของวันใหม่ที่สว่างเรืองรองจับเส้นของฟ้าแล้ว นี่ยังเป็นนิมิตหมายสำคัญของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ในสังคมจุฬาฯ เพราะสามารถหยุดยั้งมรดกอนุรักษ์นิยมที่สำคัญที่สุดอย่างระบบโซตัสลงได้ นิสิตหัวก้าวหน้าบางรายถึงขนาดร่วมมือกับอาจารย์รุ่นใหม่ในการปลดเนคไทออกจากเสื้อและเดินขึ้นบันไดที่ห้ามนิสิตขึ้น อันเป็นการขบถต่อค่านิยมเก่าอย่างรุนแรงเพราะแสดงถึงนัยยะของการไม่เชื่อฟัง ในสภาวะเช่นนี้ ระบบโซตัสจึงพังทลายลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กิจกรรมสังคมการเมืองหรือ “กิจกรรมใหม่” เริ่มรุกเข้าสู่ทุกพื้นที่ในจุฬาฯ แทนการเชียร์ และการแข่งกีฬา นำมาสู่การยุติคณะนิยมและการวิวาทระหว่างคณะในจุฬาฯ
กำเนิด “สภานิสิตจุฬาฯ”
กระแสธารประชาธิปไตยหลังความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้มีการจัดตั้ง “สภานิสิต” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณางบประมาณ มีการจัดตั้งพรรคการเมืองของนิสิต ขึ้นมาแข่งขันกันเช่นเดียวกับพรรคการเมืองภายนอก สภานิสิตกลายเป็นผู้ให้อำนาจนิสิตหัวขบถทำหน้าที่พิจารณางบประมาณต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เมื่อเกิดการอภิปรายใด ๆ ก็ต้องมีการประชันกันอย่างไม่ลดราวาศอก การประชุมสภาบางครั้งดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนและยาวนานข้ามคืน ทั้งนี้ ราว พ.ศ. 2517 สภานิสิตเข้าแทรกแซงการประท้วงขับไล่คณบดีเภสัชศาสตร์ด้วยการรับรองความชอบธรรมในการประท้วงของบรรดานิสิตผู้ชุมนุม จนสภามหาวิทยาลัย มีมติให้ รศ.ดร. วิเชียร จีรวงศ์ คณบดีพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความตกตะลึงเป็นอย่างมากที่นิสิตผู้น้อยสามารถล่วงละเมิดสถานะอันทรงเกียรติของอาจารย์ผู้ใหญ่
รับ “อุดมการณ์สังคมนิยม”
นิสิตจุฬาฯ ในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นี้ยังคงเป็นหนุ่มสาวที่ได้รับสืบทอดอุดมการณ์จากยุคก่อนหน้า หากแต่สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างไปจากเดิมคือการรับอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กระแสธารความคิดดังกล่าวเริ่มเติบโตขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษาและปรากฎให้เห็นเป็นระยะดังเช่น ฝ่ายวิชาการของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตีพิมพ์เรื่อง “จีน: แผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล” ออกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2516 ล่วงมาถึงการจัด “นิทรรศการ จีนแดง” ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2517 เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับจีนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน มีการจำหน่ายหนังสือ “ปรัชญานิพนธ์เหมาเจ๋อตง” อย่างโจ่งแจ้ง นิทรรศการดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าชมแน่นขนัดทุกวัน จนสูจิบัตรถูกตีพิมพ์จำหน่ายนับหมื่นเล่ม แนวคิดทางการเมืองหลังม่านไม้ไผ่จึงค่อย ๆ ถูกแง้มออกมากขึ้นพร้อมด้วยความสนใจใคร่รู้ของคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ความเฟื่องฟูของ “อุดมการณ์สังคมนิยม” ที่มาพร้อมกับเสรีภาพอันเบ่งบาน ช่วยทำให้ผลงานของปัญญาชนฝ่ายซ้ายถูกขุดค้นรื้อฟื้นนำมาตีพิมพ์ซ้ำอย่างกว้างขวาง อาทิ ผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกตีพิมพ์อีกครั้งโดยสโมสรนิสิตจุฬาฯ ในปี พ.ศ. 2517 อันทำให้จิตรในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่สมาทานลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มแรก ๆ ได้หวนกลับคืนสู่จุฬาฯ อย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้นไม่นาน หนังสือที่ชูประเด็นการต่อสู้ทางชนชั้นก็เริ่มเปิดเผยตัวสู่แวดวงนิสิตนักศึกษาอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ข้อเขียนของผู้นำคอมมิวนิสต์ระดับโลกจะได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอย่างท้าทาย ตั้งแต่ ผลงานของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) รวมไปถึง เช เกวารา (Che Guevara) นิสิต นักศึกษาฝ่ายซ้ายจึงหันมา “อ่านโลก” แบบ “มาร์กซิสต์” กันมากขึ้น นั้นทำให้ในระยะนี้นิสิตนักศึกษาจำนวนมาก ต่างพากันหลุดออกจากโครงครอบทางความคิดแบบเก่า สู่โครงสร้างทางความคิดแบบใหม่ในแนวทางของสังคมนิยม ราวปี พ.ศ. 2517 นิสิตคณะรัฐศาสตร์กับนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ ก็ร่วมกันจัดนิทรรศการ “นาวาว่าด้วยลัทธิสังคมนิยม” ซึ่งเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีมาร์กซิสต์อย่างเปิดเผยในจุฬาฯ
การแสดงออกที่แลดู “เอียงซ้าย (จัด)” สร้างความหวาดวิตกว่านิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้า กำลังทำตัวเป็นแนวร่วมของ พคท. และไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม ชนชั้นกลางย่อมรู้สึกไม่สบายใจเวลาเห็นเยาวชนนั่งอ่าน “สรรเสริญเหมาเจ๋อตุง” เทิดทูนเชกับจิตรเยี่ยงวีรบุรุษ หรือวิพากษ์สังคมรุนแรง ถึงขนาดเรียกร้องให้เผาวรรณคดีไทยและยกเลิกชุดไทยด้วยเหตุผลว่าเป็น “ศักดินา”
ณ ห้วงเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า “แนวคิดสังคมนิยม” กลายเป็นความคิดที่เฟื่องฟูและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในขบวนการนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนในสังคมไทยไปเสียแล้ว แม้จะยังมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ดำรงอยู่ก็ตาม
“พรรคจุฬาประชาชน”
ความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมจุฬาฯ เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ “พรรคจุฬาประชาชน” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเข้าบริหารจุฬาฯ ในปี พ.ศ. 2519 โดยมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ
กิจกรรมของแกนนำสโมสรนิสิตจากพรรคจุฬาประชาชนนั้น “ก้าวหน้า” และ “ซ้าย” เสียยิ่งกว่าครั้งไหน ซึ่งยกระดับไปไกลมากถึงกับจัดนิทรรศการในหัวข้อ “ทำไมต้องมหา…ลัย” ในวันประกาศผลสอบเข้า ทั้งยังก้าวไปถึงขั้นขออนุมัติเลื่อนวันสอบไล่ประจำภาคต้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคมเป็นเวลาสามวัน แม้จะไม่ได้รับอนุมัติก็ตาม
ควรกล่าวด้วยว่า ณ ห้วงเวลาแห่งความผันผวนนี้เอง สุธรรม แสงประทุม นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศนท. ขณะที่ สุรชาติ บำรุงสุข นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็รับตำแหน่งอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก สโมสรนิสิตจุฬาฯ ก่อนที่เขาทั้งสองจะกลายมาเป็นแกนสำคัญในความเคลื่อนไหวใหญ่อีกไม่ช้า
สังหารหมู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราวปี พ.ศ. 2518 กระแสความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์จากอินโดจีนได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ความหวาดระแวงว่าคอมมิวนิสต์จากอินโดจีนจะเข้ามาปลดปล่อยไทยตามทฤษฎีโดมิโนนั้น เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่ชนชั้นกลาง นั้นทำให้ “ขบวนการฝ่ายขวา” ถือกำเนิดขึ้นภายใต้เป้าหมายในการกำจัดนิสิตนักศึกษาที่เป็นตัวการบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ อาทิ “กลุ่มนวพล” “กลุ่มกระทิงแดง” และ “กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน” ถึงตอนนั้น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่ากระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” กำลังเริ่มต้นขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นทางการ
ราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ตัดสินใจเดินทางกลับเข้าประเทศ โดยตรงเข้าประกอบพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร นั้นทำให้ ศนท. พร้อมแนวร่วมจัดการเคลื่อนไหวทันทีตั้งแต่วันแรกที่รู้ข่าว ขบวนการฝ่ายขวาจึงพากันออกโรงต่อต้านและประณามการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาอย่างสุดกำลัง ก่อนที่บรรยากาศการแบ่งขั้วทางการเมืองจะทวีความตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ ไม่กี่วันต่อมาก็เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อสองพนักงานไฟฟ้าถูกฆ่าแขวนคอขณะตระเวนแปะโปสเตอร์โจมตีพระถนอมที่จังหวัดนครปฐม เหตุฆาตกรรมดังกล่าว สร้างความโกรธแค้นให้แก่เหล่านิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุดแล้ว ศนท. และกลุ่มพลังต่าง ๆ จึงประกาศรวมพลังครั้งใหญ่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อขับไล่พระถนอมในวันที่ 4 ตุลาคม ขณะเดียวกันนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จัดแสดงละครล้อเลียนการเมืองซึ่งมีฉากจำลองการแขวนคอที่นครปฐม อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมา หนังสือพิมพ์ “ดาวสยาม” กลับประโคมข่าวว่านิสิตนักศึกษากำลัง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ด้วยการนำผู้ที่มีใบหน้าละม้ายคล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มาแสดงในละครดังกล่าว เป็นเหตุให้ขบวนการฝ่ายขวาทั้งหลาย ประกาศระดมพลเหล่าผู้รักชาติครั้งใหญ่ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในเย็นวันที่ 5 ตุลาคม ก่อนเคลื่อนมวลชนไปที่ท้องสนามหลวง บริเวณฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขนาบข้างไปกับการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา
ในเวลาดึกของคืนนั้นเอง ขบวนการฝ่ายขวาต่างปลุกระดมยั่วยุให้ประชาชนเกลียดชังเหล่านิสิตนักศึกษาอย่างหนัก ในระดับที่ใครก็ไม่อาจทนเพิกเฉยได้ จนเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม หน่วยคอมมานโด พร้อมด้วยตำรวจตระเวนชายแดน ตัดสินใจเปิดฉากใช้อาวุธสงครามกระหน่ำยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนเคลื่อนกำลังเข้าสู่บริเวณสนามฟุตบอล เพื่อจับกุมผู้ชุมนุมราวสามพันคน เยี่ยงข้าศึกศัตรู ถึงกระนั้น ความน่ากลัวยิ่งกว่ากลับเกิดขึ้นภายนอกมหาวิทยาลัย นิสิตนักศึกษาหลายคนที่หลบหนีออกไปทางท้องสนามหลวงต้องพบกับจุดจบอันน่าสลด หนึ่งในนั้นคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ถูกฝูงชนฝ่ายขวาต่างพากันรุมประชาทัณฑ์ เอาเก้าอี้ฟาด และแขวนคอเขาอย่างโหดเหี้ยมเกินบรรยาย ทั้งหมดนี้ดำเนินไปต่อหน้าผู้คนมากมายที่มายืนมุงดู บ้างพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันร่าเริงราวกับเป็นงานเริงรื่น นอกจากนี้ ยังมีนิสิตจุฬาฯ หลายคนจากชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชมรมค่ายอาสาสมัครชาวไทยภูเขา สจม. ที่ต้องจบชีวิตลงเพราะหนีออกมาจากที่เกิดเหตุไม่ทัน ทั้งนี้ มีอย่างน้อยอีกสามคนที่ถูกสังหารในชนบทในฐานะผู้ก่อการปฏิวัติฝ่ายซ้าย

ภาพถ่ายรางวัลรางวัลพูลิตเซอร์ ทำให้การล้อมปราบนิสิตนักศึกษาเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เชื่อกันว่าบุคคลในภาพคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนจะพบภาพผู้ถูกแขวนคอมากกว่า 2 คน จนเกิดข้อถกเถียงมากมายในแวดวงวิชาการ
ที่มา : https://www.flickr.com/photos/nostri-imago/5000120044/in/photostream/
ถนนทุกสายมุ่งสู่ “จุฬาฯ”
ในเวลาเดียวกับการสังหารหมู่อันเหี้ยมโหดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้ นิสิตจุฬาฯ หลายพันคน ต่างรวมตัวกันชุมนุมภายในจุฬาฯ โดยมี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้โดยเร็ว ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่เหลือของวัน ฝูงชนฝ่ายขวาต่างพากันออกล่า “นิสิตนักศึกษา” อย่างไม่บันยะบันยัง ขณะที่รัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชย์ยังคงอยู่ในอำนาจ แต่ไม่สามารถสั่งการได้ จนกระทั่งช่วงเย็นของวันเดียวกัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ประกาศยึดอำนาจ พร้อมกล่าวหานิสิตนักศึกษาบางกลุ่มว่ากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่คอมมิวนิสต์จะเข้ายึดครองประเทศไทย
พื้นที่การล้อมปราบขบวนการนิสิตนักศึกษายังคงดำเนินต่อไป ก่อนที่จะลามมาถึงบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทหารและขบวนการลูกเสือชาวบ้านต่างบุกเข้ามายังตึกจักรพงษ์และศาลาพระเกี้ยวชั้นใต้ดินซึ่งเป็นที่ทำการของทั้งสโมสรนิสิต สภานิสิต และชมรมต่าง ๆ มีการยึดและเผาทำลายเอกสารขององค์กรนิสิตทั้งหมดตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในเวลาต่อมา สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. และสุรชาติ บำรุงสุข อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก สโมสรนิสิตจุฬาฯ ถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางไปเจรจากับหม่อมราชวงค์เสนีย์ ปราโมทย์ ทั้งนี้ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตในขณะนั้นยังถูกกล่าวหาจากสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าให้ท้ายนิสิตในการต่อต้านอำนาจรัฐ ทำให้ถูกจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลาหนึ่งคืน ก่อนมหาวิทยาลัยจะประกันตัวออกมาได้
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว สโมสรและสภานิสิต ถูกยุบไปเป็นการถาวร ก่อนจะถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2523 กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีเพียงกิจกรรมกีฬาและศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น ดังนั้นความรุนแรงในปี พ.ศ 2519 ก็หยุดยั้งความเคลื่อนไหวและการตื่นตัวที่ปรากฏของนิสิตจุฬาฯ ลงอย่างน่าใจหาย
จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจพอสรุปได้ว่าการก่อรูปของขบวนการนิสิตนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น ล้วนแล้วแต่มีเชื้อหน่อและได้รับแรงกระตุ้นจากนิสิตจุฬาฯ อยู่ไม่น้อย การที่นิสิตจุฬาฯ สามารถเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของตนเองให้หลุดออกจากขนบอนุรักษ์นิยมได้ มิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน ทว่าเกิดขึ้นผ่านปัจจัยภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท และการทำสื่อสิ่งพิมพ์ของนิสิต รวมทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ กิจกรรมทางการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่คอยหล่อหลอมบ่มเพาะความคิดอย่างต่อเนื่องจนทำให้พวกเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอยู่ โดยเริ่มจากสังคมใกล้ตัวผ่านการโค่นล้มระบบโซตัส และเมื่อเหตุปัจจัยเหมาะสมและสถานการณ์สุกงอม พวกเขาจึงได้มีส่วนร่วมที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อย่างไรก็ตาม การเลือกรับอุดมการณ์สังคมนิยมของนิสิตจุฬาฯ ในระยะหลังนี้ นำมาซึ่งความหวาดวิตกสู่สังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเกิดความรุนแรงและการนองเลือดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อันเป็นการดับสลายความแข็งแกร่งของขบวนการนิสิตในจุฬาฯ ที่ก่อรูปมากว่าสองทศวรรษอย่างที่ไม่เคยเป็นเช่นนั้นได้อีก
อนึ่ง มรดกของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ยังคงตกทอดลงสู่สังคมไทยปัจจุบันคือ วัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมของผู้มีอำนาจ แม้เสียงปืนและควันไฟจะจางหายไปหลายทศวรรษ โลกาภิวัตน์ทำให้ประเทศพลิกจากหน้ามือไปเป็นหลังมือ แต่ความก้าวหน้าก็ไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดของผู้คน ดังนั้นแล้วเมื่อความคิดไม่รับผิดชอบนี้ยังไม่เลือนหายไป เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ยังจะคงดำรงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนานแสนนาน จนกว่าแสงเรืองรองของความเคลื่อนไหวใหม่จะปรากฏขึ้นอีกครั้ง
แด่ทุกลมหายใจที่แผ้วทางให้เราเดินหน้าต่อสู้จนถึงทุกวันนี้
เรื่อง : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
พิสูจน์อักษร : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ
แหล่งข้อมูล:
หนังสือและวารสาร
คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2562). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน.
ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร. (2559). 6 ตุลา 19 กับภูมิปัญญาของนิสิตจุฬาฯ หัวก้าวหน้า. ใน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (บ.ก.), จุฬากับ 6 ตุลาฯ : บทความคัดสรรในวาระครบรอบสี่สิบปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519. (น. 60 - 98). กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร, นวคุณ สาณศิลปิน, ชลเทพ อมรตระกูล. (2559). นิสิตนิทัศน์: ประวัติจุฬาฯ ฉบับนิสิต. กรุงเทพฯ:สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2556). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี:สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2563). การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475–2540). กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ลิขิต ธีรเวคิน. (2544). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2564). เมื่ออรุณจะรุ่งฟ้า : ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513 - 2519. กรุงเทพฯ:อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์.
ข้อมูลออนไลน์
ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร. (2564). ขบถจุฬาฯ ว่าด้วยความคิดของนิสิตจุฬาฯ หัวก้าวหน้า ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. Chula Democracy Movements Archive. https://cudemarchive.co/chula-rebels-before-6-oct-chaichan/
ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร. (2564). กว่าจะถึง 6 ตุลาฯ :
สภานิสิตกับความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Chula Democracy Movements. https://cudemarchive.co/student-council-cu-before-6-oct-chaichan/
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (14 ตุลาคม 2564). เกิดอะไรใน “14 ตุลา” ก่อนมาสู่ชัยชนะสำคัญของประชาชนลุกฮือต้าน “คณาธิปไตย”. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_40175
ประชาไท. (3 ตุลาคม 2559). 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน. ประชาไท.https://prachatai.com/journal/2016/10/68177
มติชนออนไลน์. (5 สิงหาคม 2563). เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ปลดรูป “สมเด็จ วิรุฬหผล” อดีตนิสิตปี1 วีรชน 14 ตุลาออกจากคณะ. Matichon Online. https://www.matichon.co.th/politics/news_2295265
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (25 มีนาคม 2560). จุฬาฯ กับขบวนการนักศึกษา. ประชาไท.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (30 กรกฎาคม 2559). สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: รับน้อง-ว้ากน้อง!. ประชาไท.
สุรชาติ บำรุงสุข. (4 ตุลาคม 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (2) สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_10128
สุรชาติ บำรุงสุข. (12 ตุลาคม 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (3) จากสามย่านสู่ลานโพธิ์. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_10988
สุรชาติ บำรุงสุข. (23 ตุลาคม 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (4) ชัยชนะของความเปลี่ยนแปลง. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_12493
สุรชาติ บำรุงสุข. (29 ตุลาคม 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (5) ความฝันจากถนนราชดำเนิน. มติชนสุดสัปดาห์.https://www.matichonweekly.com/column/article_13122
สุรชาติ บำรุงสุข. (7 พฤศจิกายน 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (7) โซตัสปะทะประชาธิปไตย!. https://www.matichonweekly.com/column/article_13838
สุรชาติ บำรุงสุข. (17 พฤศจิกายน 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (8) จากจุฬาฯ สู่ท้องนาและโรงงาน. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_15011
สุรชาติ บำรุงสุข. (30 ธันวาคม 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (14) เมื่อกระแสขวาร้อนแรง!. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_19728
Comments