top of page

จัดการเวลาได้ไม่ยากด้วย Pickle Jar Theory



“You will never find time for anything. If you want time, you must make it.”

- Charles Buxton -


บ่อยครั้ง เรามักได้ยินคำตอบจากใครหลาย ๆ คนว่า “ไม่มีเวลา” ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีเวลา” นั้น มีความหมายโดยนัยว่า ในตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเราขนาดนั้น

Jean-Paul Sartre นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส วิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังของข้ออ้างดังกล่าวไว้ว่า “พวกเรามีแนวโน้มที่จะหลอกตัวเองให้คิดว่าพวกเรานั้นไม่ว่าง เพราะถ้าเรามีอิสระในการใช้เวลานั้น หมายความว่า เราจะต้องเลือกและยอมรับผลลัพธ์ของทางเลือกนั้น ๆ และมันก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว” คนจำนวนมากจึงเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน เพราะความกังวลต่าง ๆ เช่น “ถ้าเราเลือกทางที่ผิดล่ะ?” “เรากำลังพลาดอะไรไปหรือเปล่า? (fear of missing out)”

ตามความเป็นจริงแล้ว “เรามีเวลา” และเราสามารถบริหารจัดการเวลาได้ เพียงแค่ว่าเราไม่ได้มีเวลาอย่างเหลือเฟือ ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะสละการทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย


เพราะเหตุใดเราจึงควรจัดการเวลา?


เมื่อได้ยินคำถามนี้ คำตอบหนึ่งที่เป็นที่นิยมคงหนีไม่พ้น “เวลามีคุณค่า เพราะเวลาคือเงิน (Time is money.)” แต่เงินเป็นคุณค่าที่แท้จริงของเวลาจริงหรือ? หากมีแนวคิดเช่นนั้น ผู้คนคงใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ ความโลภ ความกระวนกระวายใจที่จะต้องหาเงินเข้ากระเป๋า และมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์น้อยลง เพราะเวลาของพวกเขาต้องใช้ไปกับการเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนเอง

ลองพิจารณาสถานการณ์ตัวอย่างของหนุ่มนักธุรกิจดาวรุ่งวัย 30 ปี ชายหนุ่มไฟแรงคนนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่สร้างผลผลิตชิ้นงามให้กับบริษัท และได้รับความนิยมชมชอบจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างมาก แต่ในมิติอื่นของชีวิตเขากลับกำลังพังทลายลงอย่างช้า ๆ เขามักอ้างว่าตน “ไม่มีเวลา” เขาจึงไม่สามารถมาดูแลลูกน้อยและภรรยาได้ และในอีกมุมหนึ่ง เขาเครียดสะสมจากภาระงานและความไม่ลงรอยกับภรรยา จนทำให้เขาต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า (Major Depressive Episode)

คำตอบสู่คำถามดังกล่าว จึงไม่ใช่ เวลาคือเงิน​ (Time is money.) แต่เราควรจัดการเวลา เพราะเวลาคือชีวิต (Time is life.) และการจัดการเวลาที่ดีจะนำไปสู่ การได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ


จัดการเวลากับทฤษฎีขวดโหลแก้วสีใส (Pickle Jar Theory)


คีย์เวิร์ดของทฤษฎีนี้ ได้แก่ หินขนาดเท่ากำมือ ก้อนกรวด และทราย โดยโจทย์กำหนดให้ คุณใส่ของทั้ง 3 อย่างนี้ลงไปในขวดโหลให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าการจัดลำดับการใส่หิน ก้อนกรวดและทราย ก่อน-หลังต่างกันนั้น ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน


ภาพจาก Professional Academy

ขวดโหลเปรียบเสมือนเวลาในชีวิตของคนเรา เราทุกคนมีเวลาวันละ 1,440 นาที สัปดาห์ละ 168 ชั่วโมงเท่ากัน

ก้อนหินเปรียบเสมือนสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยจะกินพื้นที่มากที่สุดหากใส่ลงไปในขวดโหล ในที่นี้ได้แก่เรื่อง การทำงาน สุขภาพ ครอบครัว

ในขณะที่กรวด เปรียบเสมือนสิ่งที่สำคัญรองลงมา และท้ายที่สุด

ทรายเปรียบเสมือนสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด

กรณีแรก หากนายกุ๊กเลือกใส่ทรายเข้าไปก่อน ตามด้วยก้อนกรวดและหิน นายกุ๊กคงใส่หินได้จำนวนน้อยเพราะทรายกินพื้นที่ไปมากแล้ว

กรณีที่สอง หากนายกู๋เลือกใส่หินเข้าไปก่อน แล้วตามด้วยวัสดุเล็ก ๆ อย่างก้อนกรวดและทราย นายกู๋ย่อมสามารถใส่หิน และโรยทรายไว้ในขวดโหลตอนท้ายได้


อาจกล่าวได้ว่า การจัดการเวลานั้น ไม่ใช่การนำทุกสิ่งทุกอย่างมายำรวมกัน แต่เป็นการ “เลือก” ทำสิ่งที่สำคัญจริง ๆ และ “เลือกไม่ทำ” สิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ หากเราทำภารกิจต่าง ๆ ที่สำคัญอย่างครอบคลุมแล้ว หากต้องแลกมาด้วยการเททรายลงไปไม่หมด ก็ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อชีวิตของเรา เนื่องจากไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร จึงสามารถตัดทิ้งออกจากรายการสิ่งที่ต้องทำ (To-do list) ไปได้

หากผู้อ่านคนใดสนใจ สามารถศึกษาการทดลองดังกล่าวในรายวิชา Life Skills (S/U) หมวดมนุษยศาสตร์ ของกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไปได้ ซึ่งอ้างอิงมาจากหนังสือยอดนิยม 7 Habits of Highly Effective People จากปลายปากกาของ Steven R. Covey


เมื่อเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพ (tips to be more efficient) ไม่ใช่หัวใจของการจัดการเวลา


แท้จริงแล้ว การจัดการเวลาคือการให้อิสระตัวเองในการ “เลือก” ว่าเราจะใช้เวลาของเราอย่างไร โดยคำนึงอยู่เสมอว่าเวลานั้นมีจำกัด ซึ่งอิสระในการเลือกเป็นคนละเรื่องกับการจัดการเวลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เราไม่จำเป็นต้อง productive อยู่ตลอดเวลา เพียงค้นหาความต้องการจากใจจริงของเราให้เจอ แล้วจัดลำดับความสำคัญของมิติต่าง ๆ ในชีวิต ก็ทำให้เรากลายเป็นคนธรรมดาที่มีความสุขได้แล้ว

ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องการจัดการเวลาที่ไม่ถูกเสียทีเดียว ได้แก่ ความเชื่อว่า การประหยัดเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ คือการจัดการเวลา


กรณีตัวอย่าง นายกุ๊ก หลงใหลในการดู Youtube Premium เนื่องจากประหยัดระยะเวลาการดูวิดีโอโดยไม่มีโฆษณามารบกวน ซึ่งกินเวลาเขาโดยเฉลี่ย 1 นาที กรณีเช่นว่านี้ กุ๊กอาจประหยัดเวลาไปได้เพียงนิดเดียว แต่หากกุ๊กดูวิดีโอบน Youtube ให้น้อยลง แน่นอนว่า กุ๊กจะได้ใช้เวลาตรงนั้น อาจถึง 1-2 ชั่วโมง ไปกับการทำสิ่งอื่นที่ช่วยให้กุ๊กได้เข้าใกล้เป้าหมายของตัวเองมากยิ่งขึ้น


ใครกันแน่ที่ไม่มีเวลา?


คนยุคปัจจุบันไม่มีเวลาจริงหรือ? Brad Aeon ให้ข้อคิดผ่านสุนทรพจน์ไว้ว่า ผู้ที่ไม่มีเวลาจริง ๆ แล้วนั้น คือ รุ่นคุณทวดของเรา สืบเนื่องมาจากทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตกินเวลานานโข ทั้งในการเตรียมการและการดำเนินการ เพราะเทคโนโลยีไม่ได้ก้าวหน้าดังปัจจุบัน เช่น ไม่มีอาหารแช่แข็ง จึงต้องเตรียมวัตถุดิบ และทำอาหารตั้งแต่ต้น ในขณะที่ทุกวันนี้ เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เพียงปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิงบน Amazon การสามารถรับชมภาพยนตร์ผ่าน Netflix หรือ Disney+ คิดดูดี ๆ แล้ว เราย่นระยะเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ไปได้เยอะทีเดียว

นอกจากเราจะมีอิสระ มีเวลา มีความยืดหยุ่นในการใช้เวลาอย่างที่ใจต้องการแล้ว แล้วเหตุใดเราจึงยังมักอ้างว่า “ไม่มีเวลา” อยู่อีกล่ะ

Time is a choice! เราอาจเริ่มต้นจัดลำดับความสำคัญ โดยแบ่งมิติออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ด้านอาชีพ การศึกษา 2. ด้านความสัมพันธ์ และ 3. ด้านตัวตน เพื่อสมดุลในการใช้ชีวิต โดยไม่โหมด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป และใส่ใจคนที่สำคัญในชีวิต ทั้งตัวเราเองและคนที่เรารัก

สุดท้ายนี้ นอกจากการ “เลือกทำ” สิ่งที่สำคัญก่อน และ “เลือกไม่ทำ” สิ่งที่ไม่จำเป็นแล้ว การใช้เวลาอย่างคุ้มค่าก็ยังรวมไปถึง การหาเศษเสี้ยวเวลาในช่วงที่เราว่างด้วย เช่น พกหนังสือมาอ่านขณะรอรถโดยสาร หรือนั่งสมาธิระหว่างพักกลางวันที่ทำงาน จะเห็นได้ว่า “เรามีเวลา” อุปนิสัยและทักษะการบริหารจัดการเวลานี้ หากคุณฝึกฝนและทำอย่างเป็นประจำแล้ว คุณจะสามารถเป็นคนธรรมดาในเวอร์ชันที่ดีขึ้น และมีความสุขขึ้นได้อย่างแน่นอน


เรื่อง: เฌอเดีย

พิสูจน์อักษร: ชางวี ยู

ภาพ: ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ


แหล่งข้อมูล:


นภัสวรรณ สิทธิธรรม. 2564. วันนี้เราควรใช้เวลาไปกับอะไรบ้าง? จัดลำดับความสำคัญงานด้วย Pickle Jar Theory. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2565, จากเว็บไซต์: https://missiontothemoon.co/softskill-pickle-jar-theory/


Mulder, P. (2017). Pickle Jar Theory. Retrieved [21 October 2022] from Toolshero: https://www.toolshero.com/personal-development/pickle-jar-theory/


Covey, S.R. (2013). The 7 Habits of Highly Effective People: Powerful Lessons in Personal Change. Free Press.


 
 
 

Commenti


bottom of page