top of page

งานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ที่มีชื่อเสียงกว่า 16 ปี อาจเป็นของปลอม?



อะไรทำให้เราเป็นเรา ? หากนี่คือคำถาม หลายคนคงมีคำตอบที่แตกต่าง แต่ “ความทรงจำ”ย่อมเป็นหนึ่งในคำตอบเหล่านั้นเป็นแน่ ความทรงจำทั้งหลายต่างหล่อหลอมตัวตนของเราขึ้นมา และจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวันหนึ่งความทรงจำที่สรรค์สร้างอัตลักษณ์ความเป็นเราขึ้นมานั้นค่อยๆสลายหายไป โรคอัลไซเมอร์ คือโรคการเสื่อมของระบบประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่หลงลืมเล็กน้อย จนในท้ายที่สุดก็ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้โรคอัลไซเมอร์จึงเปรียบเสมือนฝันร้ายของการมีอยู่ของมนุษย์ ส่งผลให้วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ต่างพัฒนาเพื่อพยายามรักษาโรคดังกล่าว ทว่าเรื่องอื้อฉาวที่ถูกเผยแพร่ในวงการวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ คือ ความเป็นไปได้ที่ว่าการวิจัยที่เป็นแม่แบบของการหาทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ในระยะเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นการปลอมแปลง ข่าวที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้เอง ประจวบกับด้วยวันที่ 21 กันยายน เป็นวันอัลไซเมอร์โลก บทความนี้จึงจะขอพาไปสำรวจข่าวฉาวดังกล่าว และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา


ความเป็นมาของงานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ที่มีอิทธิพลเป็นเวลากว่า 16 ปี


เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2549 ซิลแว็ง เลสเน่ จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาและเพื่อนร่วมงานของเขา ได้ทำการตีพิมพ์งานวิจัยลงในวารสารวิชาการ “Nature” ว่าด้วยเรื่องความเกี่ยวข้องของโปรตีน Amyloid-β (แอมีลอยด์ บีตา) และการสูญเสียความทรงจำ โดยงานวิจัยดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ที่ถูกอ้างถึงและนำไปใช้ต่อยอดในการทดลองรักษาโรคอัลไซเมอร์มากที่สุด หากทำการสืบค้นเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ จะพบว่ามีการกล่าวถึงการสะสมโปรตีนแอมีลอยด์ บีตาในฐานะสาเหตุของโรคดังกล่าวเป็นปกติ อีกทั้งยังมีการประมาณการว่าในปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเงินเพื่อการศึกษาโรคอัลไซเมอร์ที่มีการกล่าวถึงโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา ประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นครึ่งนึงของทุนทั้งหมดในการวิจัยเกี่ยวกับโรคดังกล่าวของประเทศสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว จนก่อให้เกิดข้อครหาจากนักวิจัยโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่ได้อ้างอิงถึงโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา มากมาย จะเห็นได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้มีอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทั้งเงินทุนและงานวิจัยมากมายเกี่ยวข้องกับโปรตีนแอมีลอยด์ บีตา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จหรือได้ผลออกมาชัดเจนแต่อย่างใด


หลักฐานปลอม ? เมื่อมีผู้ตั้งข้อสงสัยในความโปร่งใสของงานวิจัยดังกล่าว


“คุณอาจจะโกงเพื่อให้ได้งานวิจัย คุณอาจจะโกงเพื่อให้ได้ปริญญา คุณอาจจะโกงเพื่อให้ได้ทุน แต่คุณจะโกงเพื่อให้รักษาโรคให้สำเร็จไม่ได้หรอก ชีววิทยาไม่สนใจหรอกนะ” ข้อความดังกล่าว คือคำของ “ดอกเตอร์ แมทธิว แชร์ค” นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลตี้ ผู้มีชื่อเสียงหลังจากที่วิจารณ์การรับรองยาต้านโปรตีนแอมีลอยด์ บีตาที่มีชื่อว่า “Aduhelm” โดย Food and Drug Administration (FDA) หรือองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะการวิจัยส่วนตัวของเขาให้ข้อมูลที่สวนทางกับความเป็นไปของยาดังกล่าว โดยในขณะที่เขากำลังสืบค้นข้อมูลที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าว เขาก็ได้พบกับงานวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ของ ซิลแว็ง เลสเน่ และค้นพบความผิดปกติบางอย่าง โดยเขาคาดว่าข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าว “อาจถูกปลอมแปลง” ขึ้นมา ทั้งนี้ในขั้นแรก ดอกเตอร์ แชร์ค เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงความน่าสงสัยของงานวิจัยดังกล่าว แต่ยังไม่ฟันธงว่างานวิจัยนั้นถูกปลอมแปลงขึ้นมา ซึ่งถ้าเป็นจริงดังคำกล่าวอ้างย่อมหมายถึงการสูญเสียเวลาและทุนทรัพย์มหาศาล ต่อมาวารสารวิชาการ “Science” ได้ทำการสอบสวนข้อสงสัยดังกล่าว โดยได้มีการเชิญนักวิเคราะห์รูปภาพและนักวิจัยโรคอัลไซเมอร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนมาช่วยกันหาคำตอบเกี่ยวกับข้อสงสัยนี้ และหลายคนเห็นตรงกันว่ารูปภาพจำนวนมากในงานวิจัยหลายชิ้นของ ซิลแว็ง เลสเน่ น่าจะมีการถูกปรับแต่ง อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ซิลแว็ง เลสเน่ ถูกตั้งข้อสงสัย เพราะเดนนิส วิเวียน นักชีววิทยาเซลล์ก็เคยถอนงานวิจัยที่ทำร่วมกับ ซิลแว็ง เลสเน่ ก่อนจะมีการตีพิมพ์ หลังจากที่พบความผิดปกติในข้อสรุปงานวิจัย เมื่อดอกเตอร์ แชร์ค เกิดความกังวลใจต่องานวิจัยของ ซิลแว็ง เลสเน่ จึงแจ้งไปยัง National Institutes of Health (NIH) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสถาบันก็ได้มีการตอบตกลงที่จะตรวจสอบงานวิจัยดังกล่าว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาหลายปีโดยอาจจะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ดังนั้น เพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบเร็วขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ เขาได้นำสิ่งที่ค้นพบดังกล่าวมาเผยแพร่แก่วารสารวิชาการ “Science” ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่เสี่ยงมาก เพราะมีการพาดพิงถึงสำนักงานใหญ่ๆหรือนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรมของดอกเตอร์ แชร์ค ที่นำข้อสงสัยซึ่งจะอาจจะเปิดเผยความไม่ถูกต้องในวงการวิทยาศาสตร์ออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้


แม้ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่างานวิจัยน่าจะถูกปลอมแปลง แต่ผลกระทบกลับเป็นที่ถกเถียง ?


หลังจากการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวผ่านทางวารสาร “Science” ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ก็เกิดการถกเถียงกันอย่างมากถึงความจริงที่ว่าทำไมงานวิจัยที่เห็นได้ชัดว่าน่าจะถูกปลอมแปลง โดยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายๆคน จึงไม่เคยถูกตรวจสอบหรือกล่าวถึงเลยเป็นเวลานาน อีกทั้งประเด็นที่การทดลองทั้งหลายยังเลือกที่จะดำเนินการโดยการอ้างอิงงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว ซึ่งส่อให้เห็นถึงความบกพร่องในกระบวนการตรวจสอบงานวิจัยของวงการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งยังมีการกล่าวถึงขนาดว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะนำทางการทดลองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปในทางที่ผิด ทว่าก็ได้มีการออกมาโต้กลับของผู้เชี่ยวชาญโรคอัลไซเมอร์ส่วนนึงว่าทั้งบทความในวารสาร “Science” และความตื่นตระหนกของวงการนั้นเป็น “เรื่องกล่าวเกินจริง” แม้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะเห็นด้วยว่ามีความเป็นไปได้สูงที่งานวิจัยดังกล่าวจะถูกปลอมแปลงขึ้น และเป็นปัญหาที่สำคัญ ทว่าในส่วนของผลกระทบที่งานวิจัยดังกล่าวก่อให้เกิดขึ้นนั้นไม่ได้รุนแรงเท่าที่สื่อต่างๆพยายามกล่าวออกมาแต่อย่างใด โดย รูดอลฟ์ แทนซี่ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่มีความเห็นดังกล่าว ก็คิดว่าที่งานวิจัยชิ้นดังกล่าวถูกอ้างอิงในการทดลองต่างๆ ก็เพราะว่ามันถูกตีพิมพ์ในวารสารชื่อดัง อีกทั้งเขายังมองว่า แม้ตัวงานวิจัยจะถูกอ้างอิงถึง แต่ก็ไม่มีใครนำมาใช้วิเคราะห์ในงานทดลองของตัวเองอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเขาหรือคนอื่นๆในวงการที่เขารู้จัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะงานวิจัยของ ซิลแว็ง เลสเน่ ไม่เคยมีการทำซ้ำตามได้สำเร็จเลยและหมดความนิยมลงไปหลังจากปี พ.ศ. 2551 และถือว่างานวิจัยชิ้นดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อทฤษฎีโปรตีนแอมีลอยด์กับโรคอัลไซเมอร์หรือวงการในภาพรวมแต่อย่างใด ทั้งนี้ความเห็นของฝ่ายที่คิดว่างานวิจัยดังกล่าวมีผลกระทบแน่ๆต่อการทดลองที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ก็ออกมาตอบโต้ว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เราจะรู้ได้ว่างานวิจัยดังกล่าวไม่ส่งผลใดๆเลยต่อการศึกษาเพื่อหาทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งความจริงที่ว่าฝ่ายที่คิดว่างานวิจัยดังกล่าวไม่ส่งผลอะไรมากมายแต่ก็พอจะทราบถึงความเป็นไปได้ที่งานวิจัยดังกล่าวจะถูกปลอมแปลง แล้วเหตุใดพวกเขาจึงไม่คิดจะทำอะไรสักอย่างกับมัน อย่างเช่นการออกมาปัดตกงานวิจัยดังกล่าว แม้ว่าข้อถกเถียงข้างต้นยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจน แต่ความจริงที่เกือบทุกคนเห็นตรงกันว่างานวิจัยดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะถูกปลอมแปลงก็เป็นการท้าทายศรัทธาในวงการวิทยาศาสตร์ของสาธารณชนแล้ว


ความคิดเห็นของผู้ที่ทุกข์ทรมาณจากโรคอัลไซเมอร์และวิทยาศาสตร์ = ความจริง ?


หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดเห็นของผู้คนที่ได้ติดตามข่าวดังกล่าว ตัวอย่างเช่น “ในฐานะคนที่สูญเสียแม่ไปเพราะโรคอัลไซเมอร์เมื่อ 4 ปีก่อน ฉันอยากจะทำสิ่งที่เลวร้ายกับชายคนนี้” หรือ “นี่มันใกล้ตัวฉันมากเลย ฉันสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปให้กับโรคนี้ และบริจาคให้กับการวิจัยที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว” ฯลฯ จะเห็นได้ว่าแม้จะมีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนออกมาบอกว่างานวิจัยดังกล่าวไม่สร้างผลกระทบต่อการทดลองที่เกี่ยวข้อง แต่สาธารณชนส่วนใหญ่คิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า งานวิจัยดังกล่าวขัดขวางความเป็นไปได้ในการพัฒนาเพื่อคิดค้นวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ และถ้างานวิจัยดังกล่าวถูกพิสูจน์ว่าเป็นการปลอมแปลงขึ้นมาอย่างจงใจจริงๆ ไม่ว่าจะทำไปเพื่อเงิน ชื่อเสียง หรือสิ่งใดก็ตาม ถือเป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัยและสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือในวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อสังคมปัจจุบันให้คุณค่าวิทยาศาสตร์เท่ากับความจริง วิทยาศาสตร์จึงเป็นดั่งเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งคนที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแนวคิดของตนต่างก็แปะป้าย “วิทยาศาสตร์” บนแนวคิดของตนเองกันทั้งนั้น อาทิ แนวคิดที่ว่าวัคซีนก่อให้เกิดโรคออทิสติก หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าเป็นแนวคิดวิทยาศาสตร์เทียมซึ่งฝ่ายที่ต่อต้านวัคซีนใช้ในการอ้างเพื่อไม่ให้วัคซีนแก่บุตรหลานของตนเอง เป็นต้น เป็นที่น่าครุ่นคิดว่าตกลงแล้ววิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความจริงเพราะกระบวนการเหตุและผลที่อยู่เบื้องหลังผลลัพธ์ที่ได้ หรือวิทยาศาสตร์เป็นเพียงแค่ลัทธิแห่งยุคสมัยใหม่ที่เราเพียงเชื่อตามกันไปอย่างไร้การคิดเชิงวิพากษ์กันแน่ ?


บางทีคนที่เจ็บปวดที่สุดจากโรคอัลไซเมอร์ อาจจะเป็นผู้ใกล้ชิดคนป่วย การที่จะต้องเห็นคนที่ตนเองเคารพ รักใคร่ และผูกพัน ค่อย ๆ สูญเสียตัวตนไป จนเหลือแต่เพียงร่างกายไร้ซึ่งความทรงจำที่รอวันจากไป เป็นความเจ็บปวดซึ่งผู้ที่ไม่เคยประสบจะไม่มีวันเข้าใจ จึงมีการกำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็นวันอัลไซเมอร์โลกเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้ให้ประชาชน และบทความนี้ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญและทำความเข้าใจโรคนี้กันมากยิ่งขึ้น แม้โรคอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่ซับซ้อนมากในวงการประสาทวิทยา แต่การแพทย์ก็ยังไม่หยุดที่จะหาทางรักษากันต่อไป ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าหลังจากนี้จะเป็นการเริ่มต้นไปในทิศทางใหม่ของการวิจัยเพื่อหาทางรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้สำเร็จ


เรื่อง : ธนพล สิริชอบธรรม

พิสูจน์อักษร : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล

ภาพ : เทียนญาดา ศรัณย์ชล


แหล่งข้อมูล :


Piller, C. (21 กรกฎาคม 2565). BLOTS ON A FIELD?

A neuroscience image sleuth finds signs of fabrication in scores of Alzheimer’s articles, threatening a reigning theory of the disease. Science. https://www.science.org/content/article/potential-fabrication-research-images-threatens-key-theory-alzheimers-disease


Davies, J. (22 กรกฎาคม 2565). Seminal Alzheimer's study claiming memory-robbing disease was caused by build-up of protein in brain may have been MANIPULATED, damning investigation claims. dailymail. https://www.dailymail.co.uk/health/article-11038595/Seminal-Alzheimers-study-manipulated.html


Spichak, S. (26 กรกฎาคม 2565).

Hyperbole, Misinfo: Alzheimer’s Experts Say Recent Amyloid Fraud Claims Get It All Wrong. being patient. https://www.beingpatient.com/hyperbole-misinformation-science-dailykos-alzheimers-beta-amyloid-fraud/


Kerdmongkolchok, W. (21 กันยายน 2561). วันอัลไซเมอร์โลก 21 กันยายน. e-library siam. https://e-library.siam.edu/world-alzheimers-day/


NewsNation. (27 กรกฎาคม 2565). Years of Alzheimer's research may be fabricated | Rush Hour [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=I2diC05aWXc


Dr. Suneel Dhand. (26 กรกฎาคม 2565). Shocking SCIENTIFIC FRAUD allegations against major medical research [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=scC2ElT3jO8


penguinz0. (31 กรกฎาคม 2565). Biggest Scandal I've Ever Seen [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=7-BqJKE14Yo


10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์ถามหา. (n.d.). Samitivej. https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/Alzheimer-Signs










 
 
 

Comments


bottom of page