ก่อน 'สืบ' จะถูกลืมเลือน : นโยบายป่าไม้แห่งชาติ หรือฝันหวานที่ไกลเกินจริง
- อภิญญา วัชรพิบูลย์
- Sep 1, 2022
- 1 min read

ภาพจาก https://news.mthai.com/webmaster-talk/668469.html
สืบ นาคะเสถียรคือใคร?
สืบ นาคะเสถียร เป็นอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการและนักอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ
จุดเริ่มต้นของการออกมาต่อสู้เรียกร้องเรื่องทรัพยากรธรรมชาติของสืบเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2529 สืบรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) สืบได้ช่วยอพยพสัตว์ป่าที่ตกค้างอยู่ในแก่งจากการสร้างเขื่อนจนเกิดน้ำท่วม สัตว์จำนวนมากถึงแก่ความตาย นับจากนั้นสืบจึงผันตัวจากการเป็นนักวิชาการสู่การเป็นนักอนุรักษ์
ต่อมาสืบตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในขณะดำรงตำแหน่ง สืบพบปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจเลย
สืบจึงอุทิศเวลาดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหลายประการ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของสืบนั้นไม่ประสบผลสำเร็จนัก เพราะผู้ทรงอิทธิพล ภาครัฐและสังคมไม่ให้ความสนใจ กระทั่งในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบตัดสินใจยิงตัวตายเพื่อเรียกร้องให้สังคมและภาครัฐหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง
สถานการณ์ป่าไม้ไทยในปัจจุบัน

อ้างอิงจากสถิติพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2504 – 2562 ของกรมป่าไม้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ป่าไม้ในไทยราว 60 ปีก่อนมีถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนถึงจุดต่ำสุดคือร้อยละ 25.28 ภายในเวลาไม่ถึง 40 ปี และเริ่มทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 31-32 มาจนถึงปัจจุบัน
ศศิน เฉลิมลาภ หัวหน้ามูลนิธิสืบนาคะเสถียรแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยว่า สถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันค่อนข้างทรงตัว คาดว่าเกิดจากการที่พื้นที่ป่าถูกทำลายจนถึงที่สุดแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2541 หลังจากนั้นการทำลายป่าไม้จึงลดลง ทำให้ป่าไม้มีโอกาสได้ฟื้นตัวขึ้นทีละเล็กน้อยและสามารถอนุรักษ์พื้นที่ที่มีอยู่ได้ การเพิ่มลดของพื้นที่ป่าไม้ในปัจจุบันที่ขึ้นลงประมาณร้อยละ 0.1 ต่อปีจึงเป็นอัตราปกติตามธรรมชาติ โดยการลดลงของป่าไม้ในระยะหลังจะขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐในยุคนั้น ๆ เช่น การสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่า การตัดถนนผ่านป่า เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้
นโยบายป่าไม้แห่งชาติเป็นนโยบายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีเนื้อหาครอบคลุม 3 ด้าน คือ
ด้านการจัดการป่าไม้ : เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์และป่าเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย แบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนร้อยละ 15
ด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ : ส่งเสริมด้านไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูก การรับรอง และซื้อ-ขาย และใช้ประโยชน์บริการทางนิเวศอย่างสมดุลและยั่งยืน
ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ : นโยบายและการบริการงานขององค์กรป่าไม้ การพัฒนาโครงสร้าง ศักยภาพของหน่วยงาน ธรรมาภิบาล ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวไม่มีแนวทางในการนำมาใช้อย่างชัดเจนทำให้ยากต่อการนำมาปฎิบัติ อีกทั้งหน่วยงานที่ปฎิบัติหน้าที่ยังเป็นหน่วยงานเดิมทำให้แผนการเพิ่มพื้นที่ป่าอาจสัมฤทธิ์ผลได้ยาก แต่แผนดังกล่าวมีผลโดยตรงกับการอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอยู่ให้คงอยู่ ประกอบกับพระราชบัญญัติใหม่ 3 ฉบับ คือ พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ก็เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ในปัจจุบันให้คงอยู่ต่อไป
พื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 เป็นไปได้หรือไม่ ?
ความท้าทายของแผนเพิ่มพื้นที่ป่าดังกล่าวมีหลายประการ โดยปัญหาที่พบในปัจจุบันได้แก่ การเข้าไปใช้พื้นที่อนุรักษ์ และบริเวณโดยรอบเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เน้นกำไร ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการขยายพื้นที่เข้าสู่พื้นที่ป่า และมีการใช้สารเคมีอันทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล
ศศินให้ความเห็นว่าการจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ถึงร้อยละ 40 ขึ้นอยู่กับนโยบายและการปฎิบัติของภาครัฐว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ที่จะสามารถเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวเป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งบางทีอาจไม่จำเป็นต้องใช้นโยบาย เพียงสร้างแรงจูงใจบางอย่างก็สามารถแก้ไขปัญหาได้
ในส่วนของปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า ศศินให้ความเห็นว่าปัญหาบุกรุกป่ามักเกิดจากความไม่ชัดเจนของเขตแดนป่าอนุรักษ์ การอนุญาตให้ ‘คนอยู่กับป่า’น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นการสร้างเขตแดนที่ชัดเจนทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่และบุคคลอื่น ๆ สามารถทราบและแยกแยะระหว่างแนวเขตอุทยานและแนวเขตชุมชนได้ ทำให้ผู้บุกรุกกลายเป็นคนส่วนน้อย และไม่สามารถอ้างเหตุว่าไม่รู้ได้
อนาคตของป่าไม้ไทย
จากนโยบายป่าไม้แห่งชาติแสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ แม้สถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันจะยังมีความทรงตัว แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าสถานการณ์จะไม่แย่ลงไปกว่านี้ เนื่องจากปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีความสลับซับซ้อนและอ่อนไหวสูง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวย่อมไม่สามารถที่จะแก้ได้ทันทีในเวลาอันสั้น ประกอบกับการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
จำเป็นต้องใช้ทั้งกำลังคนและงบประมาณในการดำเนินนโยบายในทางปฎิบัติให้สามารถเกิดขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งในภาครัฐเองก็ยังมีความไม่ชัดเจนและยอกย้อนในนโยบายทั้งที่มีนโยบายในการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่า แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กลับได้งบประมาณลดลงทุกปี ทำให้งบประมาณในการดูแลป่าลดลงไปอย่างมาก ประกอบกับรายได้จากค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานลดลงในช่วงการระบาดของ covid-19 ทำให้เงินเดือนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ลดลง และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกเลิกจ้างไปจำนวนมาก รวมถึงแผนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าหลายโครงการซึ่งเป็นภัยคุกคามและส่งผลกระทบต่อป่าโดยตรง
ดังนั้นการที่ป่าไม้ในไทยจะยังคงอยู่และสามารถเพิ่มขึ้นได้จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเร่งหา
นโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และมีแนวทางในการปฎิบัติที่ชัดเจน
ทรัพยากรธรรมชาติเปรียบเสมือนสิ่งมีค่าที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ ภาคเอกชนและสังคมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ได้โดยการตื่นตัว และร่วมกันจับตามองการกระทำของภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบและติดตามการทำงานของภาครัฐในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และปรับพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลายเป็นป่าได้เช่นกัน การตายของสืบ นาคะเสถียรจะต้องไม่เสียเปล่า เสียงปืน ณ ห้วยขาแข้งจะยังคงดังสะท้อนต่อไปตราบนานเท่านาน
เรื่อง : อภิญญา วัชรพิบูลย์
พิสูจน์อักษร : ชางวี ยู
ภาพ : เทียนญาดา ศรัณย์ชล
แหล่งข้อมูล :
ข้อมูลออนไลน์
NGThai. (18 พฤษภาคม 2565). ป่าไม้ไทย มีความเปลี่ยนแปลง ดีขึ้นหรือแย่ลงในแง่มุมใดบ้าง. National Geographic. https://ngthai.com/environment/41582/explorethaiforest/
เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. (27 สิงหาคม 2563). รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562 – 2563. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. https://www.seub.or.th/document/%e0%b8%aa%e0%b8%96%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2/%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. (1 กันยายน 2563). วันนี้ครบ 30 ปี 'สืบ นาคะเสถียร' จากลูกอดีตผู้ว่าฯ..สู่เส้นทางการอนุรักษ์ที่เอาชีวิตเข้าแลก. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/social/social_environment/896002
วิดีโอสัมภาษณ์
seub channel. (27 สิงหาคม 2563). สถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี 2562 - 2563. (ศศิน เฉลิมลาภ, ผู้สัมภาษณ์)
บทความตีพิมพ์
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2564). การสร้างป่าเชิงนิเวศ เพื่อความมั่นคงของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์. กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
Comments