“กบฏบวรเดช” ความทรงจำสีจางของขบถศักดินา
- ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
- Aug 19, 2022
- 2 min read

ภาพจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_52048
เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจากที่มีผู้ไม่หวังดี ลักลอบนำป้ายมาติดทับ เปลี่ยนชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” บริเวณแยกเกียกกาย ใกล้อาคารรัฐสภาหลังใหม่ เป็น “สะพานท่าราบ” กรณีดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก หรือนี่จะเป็นความพยายามอีกครั้งในการลบประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร หลังจากที่ “หมุดคณะราษฎร”
หลักฐานสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โบราณสถานของชาติ ความทรงจำของเหล่าวีรชนผู้ปราบกบฏบวรเดช หายไปอย่างไร้ร่องรอยเพียงช่วงเวลาข้ามคืน
ในบทความนี้ผู้เขียนจะอธิบายถึงความเป็นมา ความเป็นไปของการต่อสู้และการปราบปราม ตลอดจนผลที่ตามมาทั้งหลายของเหตุการณ์กบฏบวรเดช รวมทั้งที่มาของคำว่า “ท่าราบ” กับความทรงจำอันรางเลือนของเหล่าขบถศักดินา เพื่อหวนระลึกถึงเหตุการณ์ที่นับเป็นจุดพลิกผันสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการสถาปนาระบอบใหม่ มิให้เลือนหายไปตามกาลเวลา หรือฝีมือของผู้ใด
กบฏบวรเดช เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ ขณะที่ประเด็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญก็ชวนเป็นข้อถกเถียงอยู่เสมอ และภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น ข้อขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) จากข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ ก็จุดชนวนให้ระบอบเก่าและระบอบใหม่ถึงจุดแตกหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี กระทำ “รัฐประหาร”
ด้วยการปิดสภาผู้แทนราษฎรพร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา นับเป็นรัฐประหารครั้งแรกภายหลังการสถาปนาระบอบใหม่ แต่ชัยชนะของพระยามโนปกรณ์ฯ นั้นอยู่ได้ไม่นาน เหล่าทหารฝ่ายคณะราษฎรก็ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์ฯ และเชิญพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ถึงกระนั้น ความไม่พอใจต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม กอปรกับการลดพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ และการก่อรัฐประหารของพระยาพหลฯ ก็จุดชนวนให้พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และพระญาติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยนายทหารระดับสูงอีกนับสิบ นำกองทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานที่มั่นบริเวณสถานีรถไฟดอนเมือง โดยขนานนามตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง”
และยื่นคำขาดต่อรัฐบาลของ พระยาพหลฯ ให้ลาออกทันที เพื่อที่ตนจะได้บริหารประเทศแทนตามแนวทาง 6 ข้อ คือ จะดำเนินการให้มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
ต้องเคารพรัฐธรรมนูญ ต้องแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง ต้องพิจารณาการเลื่อนขั้นข้าราชการโดยยึดถือคุณวุฒิเป็นหลัก ต้องยอมรับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกตัวสมาชิกสภาผู้-แทนราษฎรประเภทแต่งตั้ง รวมทั้งต้องเฉลี่ยอาวุธให้แก่หน่วยทหารตามท้องถิ่น
เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นสมรภูมิรบ
การเจรจาระหว่างรัฐบาลและ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ไม่เป็นผล กองทัพของพระยาพหลฯ จึงเปิดฉากโจมตีด้วยปืนใหญ่ และตั้งหลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เป็นผู้บัญชาการกองบังคับการผสม คุมกำลังทหารออกปราบปรามคณะกู้บ้านกู้เมือง โดยเริ่มดำเนินการสงครามจิตวิทยาผ่านวิทยุกระจายเสียงตะล่อมกล่อมขวัญและแจกใบปลิวประณามการกระทำของกลุ่มพระองค์เจ้าบวรเดชว่าเป็นกบฏและโจรร้าย ซึ่งสร้างความหวั่นไหวให้แก่คณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นอย่างมาก ทว่าฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชก็ทรงตอบโต้ด้วยการโปรยปรายใบปลิวจากเครื่องบิน กล่าวหาคณะราษฎรว่าคุมขังพระปกเกล้าฯ เอาไว้ ในขณะเดียวกัน การปะทะด้านแสนยานุภาพก็เป็นไปอย่างดุเดือด ครอบคลุมทั้งบริเวณทุ่งบางเขน หลักสี่ ด้วยความเหนือกว่าของอาวุธยุทโธปกรณ์ และความสามารถในเชิงกลยุทธ์ของหลวงพิบูลสงคราม ทำให้สามารถกำราบกองกำลังฝ่ายตรงข้ามจนคณะกู้บ้านกู้เมือง ต้องถอยร่นไปตั้งรับที่นครราชสีมา กองทัพฝ่ายรัฐบาลจึงเริ่มเคลื่อนพลจากออกจากพระนคร เพื่อปราบ “คณะกู้บ้านกู้เมือง”
ซึ่งกำลังล่าถอย แกนนำสำคัญจำนวนมากต่างตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศแบบตัวเปล่า รวมทั้งพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ที่ทรงลี้ภัยไปไซ่ง่อน ก่อนที่คณะกู้บ้านกู้เมืองจะกลายสภาพเป็น “กบฏบวรเดช” ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจึงเป็นฝ่ายกำชัยในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏราว 23 ราย
เมื่อฝุ่นหายตลบ
หลังเหตุการณ์สงบลง รัฐบาลได้จัดพิธีพระราชทานเพลิงศพทหารและตำรวจฝ่ายรัฐบาลจำนวน 15 รายที่ท้องสนามหลวงอย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดงานศพของสามัญชนบนท้องสนามหลวง และได้สร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ขึ้นสำหรับบรรจุอัฐิที่บริเวณวงเวียนหลักสี่ นอกจากนั้น
รัฐบาลก็ยังสงเคราะห์ครอบครัวและค่าเลี้ยงดูบุตรแก่เหล่าทหารฝ่ายกบฏที่เสียชีวิต จำนวน 4 รายด้วย
ไม่นาน “พ.ร.บ. จัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476” ก็ถูกเสนอขึ้น เพื่อพิจารณาโทษของฝ่ายกบฏที่มีผู้ต้องหามากกว่า 600 ราย ทั้งนี้ มีผู้ถูกตัดสินให้รับโทษจริงทั้งหมด 154 ราย ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 47 ราย
มี 5 รายที่ได้รับโทษประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษในภายหลัง ส่วนบรรดานักโทษทางการเมืองรายสำคัญ ถูกเนรเทศไปที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังผ่านร่าง “พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ” เพื่อสร้างเครื่องมือทางกฎหมายไว้ใช้จัดการบุคคลที่กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยม หรือหวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังอนุญาตให้เนรเทศคนไปอยู่ในเขตที่กำหนดได้ ทั้งนี้ คณะราษฎรปักใจเชื่อว่า
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีส่วนเกี่ยวข้องและได้ทรงช่วยวางแผนด้านการเงินและให้กำลังใจแก่กลุ่มกบฏ ความระแวดระวังซึ่งกันและกันระหว่างราชสำนักและรัฐบาลจึงเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท้ายที่สุดแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงสละราชสมบัติ ทั้งบุคคลสำคัญของราชสำนัก ก็ต่างทยอยพากันออกไปประทับนอกประเทศจนสิ้นพระชนม์ อาทิ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิตฯ สมเด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินฯ และ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยฯ
จาก “พิบูลสงคราม” สู่ “ท่าราบ”
เป็นที่ทราบกันดีว่า “พิบูลสงคราม” เป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่อมาเป็นนามสกุลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม บรรดาศักดิ์เดิมคือ “หลวงพิบูลสงคราม” (แปลก ขีตตะสังขะ) สมาชิกคณะราษฎร ผู้นำกองกำลังรัฐประหารเข้ายึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์ฯ ผู้บังคับการกองกำลังผสมในช่วงปราบกบฏบวรเดช และอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วน “ท่าราบ” คือนามสกุลของ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) สมาชิกคนสำคัญของกบฏบวรเดช มีบทบาทในฐานะแม่ทัพ เมื่อ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาล และตัดสินใจถอยร่นออกจากพระนคร พระยาศรีสิทธิสงคราม จึงรับบทบาทในฐานะหน่วยระวังหลัง เพื่อสกัดการติดตามจากกองทัพฝ่ายรัฐบาล จนกระทั่งถึงบริเวณบ้านหินลับ จังหวัดสระบุรี จุดที่พระยาสิทธิสงครามปักหลักตั้งรับอย่างสุดกำลัง จนพลาดท่าถูกทหารฝ่ายรัฐบาลปลิดชีพ มีรายงานว่าหลวงพิบูลสงครามเดินทางมายังพื้นที่การรบด้วยตนเอง และเข้าสวมกอดร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร (ต่อมาคือ จอมพล ประภาส จารุเสถียร) ผู้นำหมวดเข้ารบประชิด ด้วยความดีใจพร้อมสรรเสริญไม่ขาดปาก แม้ไม่ได้เห็นร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามด้วยตนเองก็ตาม ภายหลังร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามถูกฌาปนกิจอย่างรวดเร็ว โดยที่ครอบครัวไม่ได้รับรู้มาก่อน ซ้ำแล้วยังถูกคุกคามต่าง ๆ ตลอดสมัยรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
ปัจจุบันนอกจาก ชื่อของ “ท่าราบ” จะถูกผู้ไม่หวังดีนำไปแปะทับชื่อของ “พิบูลสงคราม” บนสะพานบริเวณแยกเกียกกาย ใกล้อาคารรัฐสภาหลังใหม่แล้ว นามของ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) และ พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช แกนนำสำคัญของกบฏบวรเดช ยังถูกนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อของ
“ห้องศรีสิทธิสงคราม” และ “ห้องบวรเดช” ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นแนวคิดของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งใจจะเชิดชูนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันและยังเป็นนายทหารประชาธิปไตย ทั้งนี้ พระยาศรีสิทธิสงคราม ยังมีศักดิ์เป็นตาของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน
“กบฏบวรเดช” นับเป็นความขัดแย้งครั้งสำคัญที่สุดในช่วงต้นของการสถาปนาระบอบใหม่
ที่นำไปสู่ภาวะของ “สงครามกลางเมือง” ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญของเหล่าคณะราษฎรและราชสำนัก ตลอดจนเป็นใบเบิกทางให้หลวงพิบูลสงครามก้าวขึ้นรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ถึงตอนนี้
จะยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”
อันเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ปราบกบฏหายไปอยู่ ณ ที่ใด หรือการเปลี่ยนป้ายชื่อ “สะพานพิบูลสงคราม” นั้นเป็นฝีมือของใคร แต่เรื่องราวของกบฏบวรเดชก็ยังคงเปรียบเสมือนกับสายน้ำของกาลเวลา ที่ไหลออกไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แม้จะมีใครพยายามมาขวางกั้นก็ตาม
เรื่อง : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
พิสูจน์อักษร : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล
ภาพ : เทียนญาดา ศรัณย์ชล
แหล่งข้อมูล :
คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2562). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2544). ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500 (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2550). ข้ออ้างการปฏิวัติ-รัฐประหาร ในการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2527). กบฏบวรเดช : การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง. วารสารธรรมศาสตร์, 13(1), 92-118.
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2563). การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540). กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา. (2564). อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โบราณสถานที่สูญหาย. Pridi Banomyong Institute. https://pridi.or.th/th/content/2021/10/865
ณัฐพล ใจจริง. (2564). บทบาทพลเมืองสยามปราบกบฏบวรเดช ลางาน 7 วันพิทักษ์รธน. ถึงรวมกันบู๊ไล่ทหารได้. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_40051
บีบีซีไทย. (2563). คณะราษฎร : พล.อ.อภิรัชต์สั่งทำบุญให้ ผู้นำ “กบฏบวรเดช” ยกย่อง 2 “นายทหารสายเจ้าผู้จงรักภักดี”. BBC NEWS ไทย. https://www.bbc.com/thai/53162023
บีบีซีไทย. (2561). สัญลักษณ์ประชาธิปไตยล่องหน จากหมุดคณะราษฎรสู่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ. BBC NEWS ไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-46719147
บัญชร ชวาลศิลป์. (2563). กระสุนปริศนาปลิดชีพ “พระยาศรีสิทธิสงคราม” (ดิ่น ท่าราบ) ขณะกบฏบวรเดชหนี. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_48932
มติชนออนไลน์. (2562). ทบ.ใช้ชื่อ ”บวรเดช” ตั้งเป็นชื่อห้องที่ปรับปรุงใหม่ ในกองบัญชาการกองทัพบก. Matichon Online. https://www.matichon.co.th/politics/news_1705178
วรกร เข็มทองวงศ์. (2565). เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ทำไมต้อง "สะพานท่าราบ". KomChadLuek
ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (2564). ที่มาของ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ”. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_3935
Workpoint TODAY. (2565). โซเชียลแชร์ภาพป้าย ‘สะพานพิบูลสงคราม’ ใกล้รัฐสภา ถูกเปลี่ยนชื่อ ‘สะพานท่าราบ’. workpointTODAY. https://workpointtoday.com/bridge-20/
Comments