Why you gotta be so rude? ศิลปะการใช้คำหยาบคาย จากชีวิตประจำวันถึงโลกออนไลน์ สู่ประชาธิปไตยบนท้องถนน
- ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
- Aug 16, 2022
- 2 min read

คำหยาบคาย หรือ คำผรุสวาท หรือ คำบริภาษ หรือคำสบถ เป็นคำที่มีนิยามไม่แน่นอนตายตัว หากแต่อธิบายได้โดยรวมว่าเป็นคำที่สร้างความระคายเคือง ไม่สบายใจ ทำร้ายจิตใจผู้ฟัง หรืออาจเป็นคำที่มีกรอบทางสังคมกำหนดไว้ว่าไม่ควรพูดอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งคำหยาบ มีชื่อเรียกรวมในภาษาอังกฤษว่า Profanity ซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ ทศวรรษ 1450s และมาจากรากศัพท์คำว่า ‘Profanus’ ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า ‘outside the temple’ หรือ ‘ข้างนอกศาสนสถาน’ แต่ความหมายในการใช้งานจริง ๆ หมายถึง ‘การละเมิดสิ่งศักด์สิทธิ์ หรือละเมิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์’ (desecrating what is holy) หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ ‘ด้วยจุดมุ่งหมายทางโลก’ (with secular purpose) คำหยาบจึงอยู่ในสถานะของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า เป็นสิ่งซึ่งสะท้อนความเป็น ‘มนุษย์ทางโลกียะ’ แบบหนึ่ง ส่งผลให้ต่อมาคำเหล่านี้นั้นย่อมไม่เป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม หากใครพูดหรือเขียนคำเหล่านี้ก็จะเป็นคนที่ผิดแปลกแตกต่าง เป็นคนไร้การศึกษา หรือถึงขั้นเป็นคนที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน แต่ปัจจุบัน พลวัตทางสังคมทำให้คำหยาบคายมิได้ถูกรังเกียจและผลักไสจากคนในสังคมอีกต่อไป หากแต่กลับถูกโอบรับอย่างเต็มใจ จนในบางครั้ง นำไปสู่ชื่อเสียง เงินทอง หรือการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่ที่สั่นคลอนระบบศักดินา
ที่กดทับคนในสังคมมาอย่างยาวนาน ซึ่งศิลปะการใช้คำหยาบที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ มิได้ยุ่งยากซับซ้อนอย่างใดเลย หากแต่มาจากการใช้คำหยาบง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง
คำหยาบคาย มองลึกลงไปก็มีข้อดี
หากลองมองผลดีจากคำหยาบ เหตุใดคำหยาบจึงอยู่ในทุกสังคม ทุกวัฒนธรรม แม้จะมีความพยายามสร้างบรรทัดฐานมาจำกัดกรอบในการใช้คำเหล่านี้ แต่กลับไม่เคยทำให้สูญหายไปได้ มิหนำซ้ำยังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนไม่ใช่คำที่ใช้ในกลุ่ม ‘ผู้ไร้การศึกษา’ อย่างที่สังคมเข้าใจเท่านั้น หากแต่แพร่หลายอย่างมากในกลุ่ม ‘ผู้มีการศึกษา’ หรือ ‘ปัญญาชน’ อีกด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ พิจารณาได้จากขอบเขตของคำหยาบตามวิธีการของ Steven Pinker ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในหนังสือที่ชื่อว่า The Stuff of Thought (2007) โดย Pinker ใช้วิธีการแบ่งคำหยาบตาม ‘ฟังก์ชัน หรือกลไกการทำงาน/จุดประสงค์ของการใช้คำนั้น ๆ’ โดยประเภทแรกคือ
1. สบถเพื่อดูถูกหรือหมิ่นประมาท (Abusive Swearing) อันเป็นการสบถเพื่อจงใจทำร้ายจิตใจของผู้ถูกด่า การด่าเช่นนี้แม้จะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ผลที่เกิดอาจร้ายแรงมากเพราะกระทบจิตใจผู้ถูกด่าเป็นอย่างยิ่ง
2. สบถเพื่อระบาย (Cathartic Swearing) อันเป็นการสบถเพื่อปลดเปลื้องความรู้สึก เพราะคำหยาบคายช่วยระบายความเครียดออกจากร่างกายได้เช่นเดียวกับการร้องไห้ ซึ่งมีผลวิจัยว่า มนุษย์จะรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ดีเมื่อพวกเขาได้สบถออกมา และยังช่วยลดความเจ็บปวดในทางกายภาพด้วย อ้างอิงจากผลวิจัยจากริชาร์ด สตีเฟ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ที่ได้ทดลองให้นักศึกษาจุ่มมือในน้ำเย็นให้นานที่สุด โดยครั้งแรกให้สบถคำหยาบได้ และครั้งที่สองไม่อนุญาต พบว่านักศึกษาจุ่มมือในน้ำเย็นในครั้งแรกได้นานกว่าถึง 50% และตอนที่สบถคำหยาบออกมา อัตราการเต้นของหัวใจของนักศึกษาเพิ่มสูงขึ้น และการรับรู้ความเจ็บลดลง จึงกล่าวได้โดยสรุปว่า คำสบถนั้นทำให้มนุษย์สามารถปกป้องจิตใจและร่างกายของตนเองจากสภาวะความเจ็บปวดได้ดีขึ้น ไม่เชื่อลองสังเกตได้ เวลาเราทำท่าแพลงก์ (ท่าออกกำลังกายที่ใช้แขนและปลายเท้าค้ำตนเองเป็นแนวขนานกับพื้น) ตามคลิปเบเบ้ เชื่อได้เลยว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ คำหยาบคายที่อยากสบถออกมายิ่งมากขึ้นเท่านั้น หรือเวลาที่เราเดินเตะขาโต๊ะ เราก็มักจะสบถคำหยาบออกมา เป็นเพราะคำผรุสวาทเหล่านี้ทำให้มนุษย์ระบายความเจ็บปวดออกมา จนความทรมานนั้นลดลงได้นั่นเอง
3. สบถเพื่อเชิญชวน (Dysphemistic Swearing) อันเป็นการสบถเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้สบถมองสิ่งที่กำลังสบถถึงในแง่ลบ และคาดหวังให้ผู้ฟังเห็นตามหรือทำตามด้วย การสบถเช่นนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจ
ให้ผู้ฟังทำในสิ่งที่ผู้พูดต้องการได้
4. สบถเพื่อเน้นความ (Emphatic Swearing) ก็คือการสบถหรือใช้คำหยาบเพื่อเน้นข้อความ หรือชักจูงให้คนหันมาสนใจในเนื้อความที่ผู้สบถคิดว่าสำคัญหรือต้องการเน้นให้สนใจเป็นพิเศษ คำหยาบคายบางคำยังถูกใช้เพื่อเป็นคำสร้อย คำอุทาน หรือคำเพิ่มระดับให้เห็นภาพและสื่อความรู้สึกได้มากขึ้นด้วย เช่น การพูดว่า’น่ารักมาก’ นั้นยังไม่ทำให้เห็นระดับความน่ารักได้เท่า ‘น่ารักสัส ๆ’ หรือ ‘น่ารักฉิบหาย’ หรือการบอกเพื่อนว่า ‘ตลกจังเลย’ ก็ไม่อาจให้อรรถรสได้เท่า ‘อีดอกกกกก/อีสัสสสส ตลกชิบหาย’ หรือการบ่นด้วยความเสียดายว่า ‘ไม่น่าเลย’ ก็ยังสื่ออารมณ์ออกมาได้ไม่เท่า ‘แม่งเอ๊ยยย’
5. สบถเพื่อบ่งความสัมพันธ์ (Idiomatic Swearing) เป็นการใช้คำหยาบหรือการสบถที่ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ แต่ใช้เพียงเพื่อบอกถึงสถานะความสัมพันธ์ของผู้พูดและผู้ฟังที่ไม่จำเป็นต้องทางการนัก หรือสนิทกันพอ คำหยาบจึงช่วยสร้างความสนิทสนม ลดกำแพงความสัมพันธ์ เพราะมีเพียงคนที่เรา ‘สนิทใจ’ ด้วยเท่านั้น ที่จะพูดคำบริภาษเหล่านี้ได้ ซึ่งหากนำไปพูดกับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มิได้รู้จักสนิทสนม ย่อมจะต้องถูกมองในแง่ลบ ลามไปถึงถูกกีดกันออกจากสังคมเพราะเป็นพฤติกรรมที่ ‘ไร้มารยาท’ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่คนเรากล้าพูดคำเหล่านี้ใส่กัน แสดงว่าเราสนิทสนมและไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับหนึ่งแล้ว
นอกจากนั้น คำหยาบยังมีข้อดีข้อสุดท้ายที่แม้ยังคงเป็นที่กังขาแต่ปฏิเสธมิได้ว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมเป็นอย่างมาก คือ คำหยาบทำให้ดูจริงใจมากกว่า โดยมีผลวิจัยจาก Feldman, Lian, Kosinski, Stillwell, 2017) ที่ใช้ Eysenck Lie Scale ซึ่งถูกออกแบบเพื่อวัดว่า คนที่มักจะอ้างว่าตนเองทำความดีที่คนทั่วไปทำไม่ค่อยได้ เช่น เก็บขยะ รักษาสัญญา แท้จริงมักจะโกหก โดยพิจารณาจากความวิตกกังวลที่ผู้พูดมีร่วมด้วย และพบว่า คนที่พูดจาสุภาพมีแนวโน้มว่าจะมีระดับความจริงใจต่ำกว่าคนที่พูดคำหยาบ เพราะมีระดับความวิตกกังวลมากกว่า เมื่อพิจารณาเหตุผล อาจเป็นเพราะคนที่พูดสุภาพก็เพื่อรักษาภาพลักษณ์เป็นสำคัญ จึงต้องมีการประดิษฐ์คำพูดบ้างเพื่อไม่ให้หยาบคาย ต่างจากคนที่พูดหยาบที่ไม่ต้องดัดแปลงใด ๆ รู้สึกเช่นไรก็พูดเช่นนั้น จึงดูเป็นคนจริงใจมากกว่า ซึ่งผลวิจัยนี้ก็ถูกคัดค้านอยู่บ้างว่าอาจเป็นการสรุปผลที่บกพร่อง เพราะผู้พูดคำหยาบอาจจะโกหกโดยปราศจากความวิตกกังวลก็ได้ หรือที่เรียกว่า ‘โกหกหน้าตาย’
โลกออนไลน์สร้างคนหยาบคายให้เป็นดารา
จากข้อดีที่กล่าวมา หากในชีวิตประจำวันก็อาจจะกล่าวได้ว่า แม้จะมีข้อดี แต่ข้อเสียที่ตามมานั้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาพลักษณ์ การทำร้ายจิตใจผู้อื่นทำให้เกิดความโกรธแค้น แต่เมื่อคำบริภาษเหล่านี้มาอยู่บนโลกออนไลน์ที่ผู้ใช้สื่อสามารถปกปิดตัวตนของตนเองได้ จึงมีความกล้าที่จะใช้คำหยาบคายมากขึ้นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกสังคมลงโทษ หากโดนคนในโลกออนไลน์มารุมด่า หรือที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ ก็เพียงแค่ลบบัญชีหนี แล้วอีกไม่กี่วันก็เปิดบัญชีใหม่ ทำตัวหยาบคายได้โดยไม่มีใครรู้ตัวตนจริง บุคคลเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า ‘นักเลงคีย์บอร์ด’ และยังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยากที่จะควบคุมได้
แต่ในกลุ่มที่ใช้คำหยาบคาย ก็ยังจำแนกประเภทออกมาได้สองประเภทใหญ่ ๆ คือผู้ที่ใช้คำหยาบคายเพื่อทำร้ายจิตใจผู้อื่น กับผู้ที่ใช้คำหยาบคายเพื่อจุดประสงค์ที่กล่าวข้างต้น เช่น ระบายอารมณ์ สร้างความสนิทสนม เพิ่มระดับเพื่อสื่ออารมณ์ หรือทำให้ดูจริงใจ อีกทั้งคำหยาบคายยังถูกใช้อย่างแพร่หลายจนต้องมีการสร้างสรรค์คำหยาบแบบใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้ซ้ำซากจำเจ ผู้ใช้คำหยาบกลุ่มแรกอาจโดนทัวร์ลงจนต้องหนีไปเรื่อย ๆ แต่ผู้ใช้คำหยาบกลุ่มหลังที่มีจุดประสงค์ที่ดี และมีความสร้างสรรค์ก็มักจะได้รับความนิยมจากชาวเน็ตอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากยอดรีทวิตหลักหมื่นของบัญชีทวิตเตอร์ที่ใช้คำผรุสวาท หรือเพจเฟซบุ๊กที่ใช้คำหยาบอย่าง ‘อีเจี๊ยบเลียบด่วน’ หรือ ‘Drama-addict’ หรือแม่ค้าออนไลน์ที่มีกระแสที่สุดในขณะนี้อย่าง ‘พิมรี่พาย’ ที่มีผู้ติดตามถึง 13 ล้านคน และยูทูบเบอร์ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ดูติดดิน แต่งกายสไตล์เด็กแว้น ใช้คำพูดหยาบคายอย่าง ‘แจ็กแป๊บโฮ’ เจ้าของบทเพลงฮิต ‘อยากโดนช้อนแกง’ ที่มียอดวิวหลักร้อยล้าน เพราะการใช้คำหยาบ ส่งผลดีต่อการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และทำลายกรอบที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ ยูทูบเบอร์ จนทำให้ผู้คนชื่นชอบ มีคนติดตามมากมาย เพราะคนที่ใช้คำเหล่านี้ดูจริงใจ เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนิทสนมเสมือนเป็นเพื่อน สร้างความสนุกสนาน ตลกขบขัน และพาผู้ชมไปสู่พื้นที่ระบายอารมณ์ที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง เพราะกรอบของสังคมที่กดทับ ทำให้คนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ต นำมาซึ่งรายได้มากมายมหาศาล โดยมีผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชี้ว่า การตลาดเชิงเนื้อหาที่หยาบคายส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้จริงอีกด้วย หากแต่ความหยาบคายก็อาจเป็นอาวุธทำลายคนเหล่านี้เสียเองหากใช้เกินขอบเขต เช่น กรณีที่พิมรี่พายพูดเหยียดคนยากจนว่า หากจนก็ไม่ต้องมาซื้อ ของของตนมีให้คนรวยซื้อ ก็นำมาสู่ประเด็นถกเถียงในสังคม และนำมาสู่กระแสแบนพิมรี่พายได้ การใช้คำหยาบคายจึงเป็นดาบสองคมที่ผู้ใช้ต้องระมัดระวังไม่ให้หันมาจ้วงแทงตนเองจนชื่อเสียงที่สร้างมาพังทลาย
คำหยาบคายในการเคลื่อนไหวของม็อบบนท้องถนน
นอกจากการยกประเด็นทางการเมืองที่เผ็ดร้อนขึ้นมาประกาศกร้าวในการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกนำขึ้นมาพูดอย่างแพร่หลายด้วย และทำให้คนในสังคมบางส่วนเกิดความตระหนกตกใจ เพราะกระทบกับ ‘ความเป็นผู้ดี’ และ ‘มารยาท’ ที่พร่ำสอนกันมา คือการใช้คำหยาบคาย ไม่ว่าจะเป็นบรรดาสัตว์ต่าง ๆ หรือเรื่องเพศ ทั้งในการพูด การเขียนบนแผ่นป้าย การสาดสี ที่เพิ่มดีกรีความเดือดดาลของฝ่ายตรงข้าม และนำไปสู่การฟ้องร้องคดีตามมาตรา 112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อีกด้วย ซึ่งแม้จะมีหลายฝ่าย แม้แต่ฝั่งผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเองมองว่า การใช้คำหยาบคายเช่นนี้ไม่มีประโยชน์ ซ้ำยังนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย แต่แท้จริงนั้น การใช้คำหยาบคายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ประท้วง เพราะการใช้คำสุภาพอันสะท้อนคุณสมบัติผู้ดีนั้น ก็เป็นอีกการจัดลำดับรักษาช่วงชั้นทางสังคม เช่นหนังสือ ‘สมบัติผู้ดี’ ที่เป็นหลักปฏิบัติในการเป็นผู้ดี เน้นการเคารพซึ่งกันและกัน เน้นมารยาทในการเข้าสังคมสโมสรสมัยใหม่ ก็เป็นคู่มือของชนชั้นขุนนางอำมาตย์จากระบอบราชาธิปไตย มีขึ้นเพื่อแยกชนชั้นคน สนับสนุนให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ผู้น้อยไม่กล้าล่วงเกินผู้ใหญ่ นำมาสู่การตักตวงผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจโดยไม่มีผู้ชนชั้นต่ำกว่ากล้าตั้งคำถาม เพราะต้องเจียมตนว่าเกิดมาในชนชั้นต่ำต้อย และการใช้เรื่องเพศ ซึ่งถูกมองว่าลามกหยาบคาย ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีกันทุกคนมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าชนชั้นนำจะพยายามแบ่งแยก ยกตนให้มีอำนาจบารมี มีบุญญาธิการสูงกว่าผู้อื่นเช่นไร เรื่องเพศก็ยังเป็นเรื่องที่ชนชั้นสูงเหล่านั้นมีเช่นเดียวกับมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เป็นการฉุดดึงผู้มีภาพลักษณ์อันสูงส่งเหล่านั้นลงมาให้อยู่ระดับเดียวกัน เพื่อส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยและมนุษยนิยมที่ว่า ‘ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน’
คำหยาบคาย ใช้แค่ไหนจึงสร้างสรรค์?
ถึงแม้คำหยาบคายจะถูกใช้อย่างสนุกปากจนไม่อาจตัดออกไปจากชีวิตคนได้ เหมือนโรงหนังต้องมีป๊อปคอร์น ช้อนต้องมีส้อม ป้อมต้องมียุทธ์ อย่างไรอย่างนั้น แต่หากใช้เกินขอบเขตไป จนคำหยาบคายกลายเป็น ‘Hate Speech’ ซึ่งเป็นคำที่มีเป้าหมายเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการสร้างความเกลียดชังอย่างชัดเจน ต้องการแบ่งแยกหรือกำจัดออกจากสังคม หรือต้องการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่เพียงการใช้ถ้อยคำหยาบคาย เท่านั้น แต่รวมถึงตั้งใจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด แล้วโน้มน้าวชักจูงให้เกลียดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมาย การลดศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ สร้างความรู้สึกแบ่งแยก กีดกันออกจากสังคมที่อยู่ การเหมารวมในด้านลบ ข่มขู่คุกคามและสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมาย ระรานกันทางออนไลน์ (Cyberbullying) แบ่งชนชั้นหรือเลือกข้าง สร้างความแตกแยกในสังคม เช่น การพูดเหยียดสีผิว เหยียดคนจน ชักจูงให้เกลียดกลุ่ม LGBTQ+ หรือดูถูกคนอีสาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่าจะใช้คำสุภาพหรือหยาบคายก็ตาม หากจะใช้คำหยาบ จึงต้องใช้อย่างชาญฉลาดและสร้างสรรค์ อย่าใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังกับกลุ่มคนผู้บริสุทธิ์ และใช้อย่างรู้กาลเทศะ เพื่อให้คำหยาบคายที่แม้ดูเหมือนน้ำเน่า แต่ยังสะท้อนเงาจันทร์นะคะ ^^
เรื่อง : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
พิสูจน์อักษร : เฌอเดีย
ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา
แหล่งข้อมูล:
ประชาไท. (6 มกราคม 2556). สัมภาษณ์เพจแห่งปี : จ่าพิชิต แอดมินเพจ “Drama-addict”. https://prachatai.com/journal/2013/01/44534
นิลละออ ร., รอดชุม ผ., พงษ์สมบัติ พ., ไหวดี อ., ราตรี จ., & สัมมะสุต ท. (2021). การตลาด เชิงเนื้อหาที่หยาบคาย โดยอาศัยความพึงพอใจ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค บนสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย. วารสารบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, 3(1), 57–73. https://doi.org/10.14456/mjba.2021.4
Chanan Yodhong. (27 ตุลาคม 2563). คำหยาบคาย vs สมบัติผู้ดี : ว่าด้วยเรื่องเพศและคำพูดกี ๆ จวย ๆในม็อบประชาธิปไตย. https://thematter.co/thinkers/freedom-of-swear-words/127049
EDTA. (16 ธันวาคม 2562). Hate Speech ทำไมต้องให้ร้ายใส่กัน. https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Hate-Speech-in-IFBL.aspx
Kritdikorn Wongsawangpanich. (16 ตุลาคม 2560). พูดไม่เพราะแล้วหนักหัวใคร? : ‘คำหยาบ’ กับพื้นที่ต้องห้ามของจริตที่พึงดัดไว้. https://thematter.co/thinkers/about-using-profanity/37194
Math Navanarisa. (3 กุมภาพันธ์ 2565). เปิดประวัติ ‘แจ็กแปปโฮ’ ยูทูปเบอร์สายเกรียน มาแรงสุดในยุคนี้. https://thethaiger.com/th/news/524380/
positioning. (14 พฤษภาคม 2558). รู้จัก “อีเจี๊ยบ เลียบด่วน” พนักงานออฟฟิศกินเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท กับเพจยอดไลค์ทะลุล้าน. https://positioningmag.com/60412
The MATTER. (27 มีนาคม 2560). คนหยาบคายจริงใจกว่า จริงหรือ?. https://th-th.facebook.com/thematterco/posts/1858992617649465/
uppercuz. (9 มกราคม 2564). เจาะ 5 แนวทางความสำเร็จของการตลาดแบบ “พิมรี่พาย”. https://uppercuz.com/blog/5-ways-pimrypie-success/
Warittha Saejia. (15 เมษายน 2564). ด่าศาสตร์ 101 : หรือการด่าด้วยคำหยาบคาย ไม่ได้ทำให้ใครบางคนเจ็บปวดอีกต่อไป. https://thematter.co/social/how-people-swear-each-other-nowadays/108317
Comments