top of page

When the living meet the dead : ความเชื่อ วัฒนธรรม สู่การบรรจบกันของโลกแห่งคนตายและคนเป็น



ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำใจยอมรับ โดยเฉพาะเมื่อความตายเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก ดังนั้นจึงเกิดการคำนึงถึงคนที่จากไปและเกิดความเชื่อว่าคนตายไม่ได้หายไปจากภพภูมิของมนุษย์โดยสมบูรณ์ แต่ผู้ที่ล่วงลับไปอาจหวนคืนกลับมาหาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ความเชื่อเหล่านี้เห็นได้จากวัฒนธรรมต่าง ๆ ในหลายประเทศทั่วโลก วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “ฮาโลวีน” เทศกาลที่หลายคนคงคุ้นเคย รวมถึงเทศกาลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องการกลับมาของวิญญาณและการรำลึกถึงคนที่จากไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกว่ามีลักษณะความเป็นมาอย่างไรกันบ้าง


จาก Samhain สู่ Halloween


เทศกาลฮาโลวีนมีต้นกำเนิดมาจากประเพณีของชาวเคลต์ (Celt) ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณประเทศไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ และพื้นที่บางส่วนของอังกฤษและฝรั่งเศสตอนเหนือ เทศกาลของชาวเคลต์นี้เรียกว่า “Samhain” (อ่านว่า ซา-วิน) จัดขึ้นในคืนวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายนของทุกปี โดยวันที่ 31 ตุลาคมนั้นเป็นทั้งจุดสิ้นสุดของฤดูเก็บเกี่ยวและจุดเริ่มต้นของฤดูหนาว ในวันนี้ ชาวเคลต์เชื่อว่าพรมแดนระหว่างโลกมนุษย์และยมโลกจะถูกเปิดออก ส่งผลให้มีวิญญาณของบรรพบุรุษกลับมาพบครอบครัว ชาวเคลต์จึงจัดเตรียมอาหารที่เรียกว่า dump supper ไว้รอต้อนรับพวกเขา ขณะเดียวกันก็อาจมีวิญญาณร้ายที่พยายามสิงร่างมนุษย์มาปะปนด้วย ดังนั้น มนุษย์จึงต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ผีเข้าสิงร่างได้ ด้วยการปิดไฟทุกดวงให้มืด แล้วแต่งตัวเป็นผีเพื่อหลอกผีว่าตนนั้นไม่ใช่มนุษย์ รวมถึงจุดกองไฟเพื่อส่งวิญญาณที่ดีไปสู่สุคติ


ต่อมาในศตวรรษที่ 7 อิทธิพลของศาสนาคริสต์ได้แผ่ไปทั่วยุโรป ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่เกาะอังกฤษ พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 3 กำหนดให้วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นวัน All Saints’ day หรือวันที่จะเฉลิมฉลองนักบุญทุกองค์ในศาสนา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาวเคลต์จัดเทศกาลซาวิน ทำให้ประเพณีของทั้ง 2 ความเชื่อถูกผสมผสานเข้าด้วยกัน วัน All Saints’ day ในบางครั้งจึงเรียกว่าวัน All Hallows’ Day และคืนก่อนหน้าวัน All Hallows’ day คือ All Hallows’ Eve ซึ่งตรงกับคืนวันที่ 31 ตุลาคม ชื่อวันดังกล่าวจึงถูกเรียกแบบรวบเสียงจนกลายเป็นคำว่า Halloween ที่เรารู้จักในปัจจุบัน นอกจากชื่อแล้ว ธรรมเนียมหลาย ๆ อย่างของเทศกาล Samhain ก็ถูกส่งต่อมายังเทศกาลฮาโลวีนด้วย เช่น การแกะสลักฟักทอง การเคาะประตูหลอกเพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ เทศกาลฮาโลวีนที่ถูกส่งต่อมาจนปัจจุบันนั้นจะไม่มีแนวคิดการเตรียมอาหารต้อนรับบรรพบุรุษ แต่จะเชื่อไปทางว่าเป็นวันปล่อยผี ทำให้ต้องแต่งตัวเลียนแบบเพื่อป้องกันผีมาหลอก และในปัจจุบันก็กลายเป็นธรรมเนียมที่เน้นการแต่งตัวหรือคอสเพลย์เพื่อความสนุกสนานจนแพร่หลายไปทั่วโลก


ตัวอย่างหน้ากากที่ชาวไอร์แลนด์ใส่ในช่วง Samhain เพื่อหลอกผีว่าตนไม่ใช่มนุษย์

ภาพจาก: https://www.museum.ie/en-IE/Collections-Research/Folklife-Collections/Folklife-Collections-List-(1)/Religion-and-Calendar-Customs/Hallowe-en-Samhain


Día de Muertos การเฉลิมฉลองแด่ผู้ที่จากไป

หากใครได้ชมภาพยนตร์ Coco ของค่าย Pixar น่าจะคุ้นเคยกับ Día de Muertos หรือ Day of the Dead (วันแห่งความตาย) ที่ถือเป็นแก่นในการดำเนินเรื่องของแอนิเมชันชื่อดังนี้ แต่มักจะมีหลายคนเข้าใจว่าเทศกาลแห่งความตายนี้ก็คือเทศกาลฮาโลวีนของเม็กซิโก ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น Day of the Dead แตกต่างจากเทศกาลฮาโลวีนอย่างสิ้นเชิง เพราะเทศกาลฮาโลวีนมีแนวคิดเรื่องการขับไล่ภูตผีที่น่าหวาดกลัว ขณะที่ Day of the Dead นั้นเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักที่เสียชีวิตในลักษณะที่ร่าเริงสนุกสนาน


ประเพณีนี้มีรากฐานจากชนพื้นเมืองของเม็กซิโกตั้งแต่ราว 3,500 ปีก่อนอย่างชาวแอซเท็ก (Aztec), ชาวโทลเทค (Toltec) และชาวนาฮัว (Nahua) ที่เชื่อว่าความตายไม่อาจทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่วงลับและคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องตัดขาด โดยมองว่าคนตายเพียงแค่ย้ายไปอยู่ในโลกอื่นและจะกลับมาที่โลกเดิมปีละครั้ง คนสมัยโบราณจึงมักจะกลบฝังศพไว้ใกล้กับบ้านเพื่อให้ผู้ที่ตายไปได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 14 – 16 ชาวแอซเท็ก (Aztec) ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีอำนาจเหนือดินแดนแถบนี้ ได้มีแนวคิดการจัดเทศกาลแห่งความตาย จึงมีงานเฉลิมฉลองเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็มในเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อบูชาเทพีแห่งโลกใต้พิภพ (Mictecacihuatl) หรือเทพีแห่งความตาย (Lady of the Dead) ผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษากระดูกของคนตายเพื่อนำไปใช้ในโลกหน้า


ความเชื่อนี้อยู่คู่ชาวเม็กซิโกมานาน จนเมื่อชาวสเปนเข้ายึดครองดินแดน ก็ได้เกิดการหลอมรวมความเชื่อทางคริสตศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าด้วยกันเป็นเทศกาล Dia de los Muertos จากเดิมที่เคยจัดในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 1 เดือนก็ถูกปรับเหลือเพียงแค่ 3 วันในช่วงระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายนแทน เพื่อให้ตรงกับวันสำคัญของชาวคริสเตียนคือ All Saints Eve, All Saints Day และ All Soul Day นั่นเอง ปัจจุบันเทศกาลนี้ถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญและเป็นที่รู้จักผ่านสื่อต่าง ๆ ไปทั่วโลก ภาพผู้คนใส่ชุดราตรีเต้นรำไปกับเสียงเพลงพื้นบ้าน การประดับประดาบ้านเรือนด้วยธงหลากสี การแต่งหน้าแต่งตัวเลียนแบบโครงกระดูก และหลุมฝังศพที่เต็มไปด้วยเทียนอาลัยพร้อมดอกดาวเรืองที่โปรยปรายกลายเป็นเสน่ห์ของเม็กซิโกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย และเอกลักษณ์อันสวยงามเหล่านี้ก็ส่งผลให้เทศกาลนี้ได้รับการบันทึกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยองค์กร UNESCO ในปี 2008 นอกจากนี้ เทศกาล Day of the Dead ไม่ได้เฉลิมฉลองกันแค่เฉพาะในประเทศต้นกำเนิดอย่างเม็กซิโกเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีการนำประเพณีนี้ไปปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเอง เช่น ที่ประเทศกัวเตมาลาจะมีการเล่นว่าวเพื่อช่วยนำทางวิญญาณ ที่ประเทศเอกวาดอร์จะนำอาหารประจำเทศกาลมาทานร่วมกัน เป็นต้น


ภาพจาก: https://dayofthedead.holiday/images/peopleWithLights.webp


การทำบุญให้แก่บรรพบุรุษในวันสารทไทย


จากที่ได้สำรวจเทศกาลของแถบทวีปอเมริกาไปแล้ว เรามาดูเทศกาลของฝั่งเอเชียกันบ้าง โดยเริ่มจากประเพณีในประเทศไทยของเราอย่าง “วันสารทไทย” อันเป็นธรรมเนียมซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน โดยคำว่า ‘สารท’ นั้นเป็นคำที่มาจากภาษาอินเดีย หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะตรงกับเดือนสิบที่ผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว จึงมีการนำพืชผลเหล่านั้นมาทำอาหารประจำเทศกาล เมื่อประเทศไทยรับวัฒนธรรมพราหมณ์เข้ามาในสมัยสุโขทัยจึงนำประเพณีสารทมาด้วยโดยจะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ต่อมาประเพณีสารทได้เปลี่ยนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามที่กล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “พระราชพิธี 12 เดือน” เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้นำคติทางพระพุทธศาสนามาปรับเปลี่ยนพระราชพิธีต่าง ๆ พิธีสารทจึงถูกปรับให้เข้ากับวิถีของศาสนาพุทธ โดยมีการนำอาหารประจำเทศกาลสารทไปถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับของครอบครัว ภายหลังจึงได้กลายเป็นเทศกาลทำบุญที่ปฏิบัติกันทั่วสังคมไทยโดยมีชื่อเรียกและวัฒนธรรมที่ต่างกันไปตามภูมิภาค ดังนี้


  • ภาคกลางจะเรียกว่า“ประเพณีสารทไทย” ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปตักบาตรและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน พร้อมทั้งไปทำบุญกรวดน้ำที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ


  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียกว่า “งานบุญข้าวสาก” โดยชาวบ้านจะเตรียมข้าวสากใส่ใบตองไว้สองส่วน ส่วนหนึ่งนำมาถวายพระสงฆ์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะนำไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนบอกกล่าวให้วิญญาณมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้


  • ภาคเหนือจะเรียกว่า "ตานก๋วยสลาก" หรือ "งานทานสลากภัต" โดย 1 วันก่อนวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะร่วมกันจัดเตรียมข้าวของใส่ “ก๋วย” ซึ่งเป็นตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ (ในปัจจุบันมักเปลี่ยนเป็นถังเพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้) เมื่อถึงวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะเขียน “เส้นสลาก” โดยระบุข้อความว่าเจ้าของก๋วยจะถวายทานอุทิศให้ผู้ใด และระบุที่อยู่ว่าอยู่ส่วนไหนของวัดเพื่อให้พระสงฆ์หาพบโดยสะดวก จากนั้นจะนำเส้นสลากมากองรวมกันหน้าพระประธานในวิหาร เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในวิหารเสร็จ จะนำเส้นสลากมาหาเจ้าของ เมื่อพบเจ้าของแล้ว พระสงฆ์ก็จะทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับที่มีชื่อในสลากนั้น


  • ภาคใต้จะเรียกว่า “ประเพณีสารทเดือนสิบ” หรือ “ประเพณีชิงเปรต” ชาวไทยแถบภาคใต้นั้นเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ทำบาปไว้มากจะกลายเป็นเปรต เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 พระยายมจะปล่อยเปรตทั้งหลายกลับไปพบญาติพี่น้องในเมืองมนุษย์เพื่อขอส่วนบุญ แล้วจึงกลับไปนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน10 ในโอกาสนี้ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที


นอกจากประเพณีตามภูมิภาคที่ได้กล่าวถึงแล้ว ยังมีประเพณีที่ใกล้เคียงกันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาด้วย คือ “ประเพณีแซนโฎนตา” ชื่อของประเพณีนี้เป็นภาษาเขมร โดย ‘แซน’ หมายถึง การเซ่นไหว้ การบวงสรวง ส่วน ‘โฎนตา’ หมายถึง การทำบุญให้ปู่ย่า ตายาย หรือ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว


ประเพณีวันสารทเดือนสิบของภาคใต้ มีการทำขบวนแห่ ‘หมรับ’ ซึ่งบรรจุสิ่งของ ขนมประจำประเพณี และดอกไม้ประดับตกแต่งเอาไว้ แล้วนำไปถวายพระ

ภาพจาก: https://www.thereporters.co/deepsouth/170920201252/


การระลึกถึงผู้ล่วงลับฉบับแดนอาทิตย์อุทัย


ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความเชื่อเกี่ยวกับการกลับมาของวิญญาณบรรพบุรุษเช่นกัน โดยในช่วงเดือนกลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่ละภูมิภาคจะเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อจัดงานเทศกาลโอะบง (obon festival) ซึ่งมีขึ้นเพื่อต้อนรับดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วซึ่งเชื่อกันว่าจะกลับมายังโลกมนุษย์ในช่วงนี้


จุดเริ่มต้นของเทศกาลโอะบงนั้นมีความเชื่อว่ามาจากสมัยพุทธกาล “พระโมะกุเร็ง” หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “พระมหาโมคคัลลานะ” ได้ฝึกสมาธิจนสามารถเห็นนรกเห็นสวรรค์ และได้ท่องไปในเมืองนรกจนพบกับมารดาของตน เมื่อพระโมะกุเร็งมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงเล่าเรื่องราวที่ได้พบมารดาของตนเพื่อให้พระพุทธเจ้าช่วยชี้แนะหนทางบรรเทาความทุกข์ทรมานของมารดา พระพุทธเจ้าได้แนะนำให้พระโมะกุเร็งทำบุญอุทิศส่วนกุศลโดยการแจกอาหารแก่ผู้คนจำนวนมาก พระโมะกุเร็งจึงปฏิบัติตามคำกล่าวนั้นในวันที่สิบห้า เดือนเจ็ดตามปฏิทินจันทรคติ ส่งผลให้มารดาของเขาหลุดพ้นจากนรกภูมิได้ ความเชื่อนี้จึงกลายมาเป็นธรรมเนียมในเทศกาลโอะบงที่ผู้คนจะเตรียมอาหารไว้เซ่นไหว้ดวงวิญญาณที่กลับมายังโลก


แม้ในปัจจุบัน ความเชื่อและธรรมเนียมในเชิงศาสนาของเทศกาลโอะบงจะเริ่มถูกลืมเลือน แต่เทศกาลโอะบงก็ยังคงเป็นเทศกาลที่สำคัญ และถือเป็นหนึ่งในสามวันหยุดยาวของประเทศญี่ปุ่น โดยในวันก่อนหน้าวันเทศกาลโอะบง ชาวญี่ปุ่นจะประดับแตงกวากับมะเขือม่วงด้วยไม้จิ้มฟันให้เป็นรูปม้าและวัวซึ่งถือเป็นพาหนะของวิญญาณ เมื่อเริ่มเทศกาลจะมีการจุดไฟ mukaebi นำทางบรรพบุรุษ วันต่อมาครอบครัวจะเดินทางไปเคารพหลุมศพร่วมกัน พร้อมทำความสะอาดและวางดอกไม้ และในวันสุดท้ายจะมีการจุดไฟอีกครั้งเรียกว่า okuribi เพื่อส่งดวงวิญญาณกลับ นอกจากธรรมเนียมประจำครอบครัวแล้ว ในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดงานรื่นเริงที่เรียกว่า ‘โอะบงมัตสึริ (Obon matsuri)’ ซึ่งจะมีการตกแต่งด้วยโคมไฟ มีการตีกลอง และเต้นรำบงโอโดริร่วมกันอย่างครื้นเครง โดย ‘บงโอโดริ (Bon odori)’ นั้นเป็นการเต้นรำเพื่อต้อนรับวิญญาณที่กลับมายังโลกและสร้างความรื่นเริงก่อนวิญญาณจะเดินทางกลับภพภูมิเดิม ซึ่งเชื่อกันว่ามาจากเรื่องเล่าของพระโมะกุเร็งที่เต้นออกมาอย่างปิติยินดีเมื่อทราบว่ามารดาพ้นทุกข์นั่นเอง


ภาพจาก: https://theconversation.com/japans-obon-festival-how-family-commemoration-and-ancestral-worship-shapes-daily-life-179890



จากความพยายามทำใจกับการสูญเสีย สู่เทศกาลคู่บ้านคู่เมืองเนปาล

หลังจากได้อ่านเรื่องราวของประเทศต่าง ๆ แล้ว ประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการรำลึกถึงบรรพบุรุษอันสุดท้ายที่ผู้เขียนขอยกมานำเสนอในบทความนี้คือเทศกาลของประเทศเนปาลที่มีชื่อว่า “คยะ ยาตรา” หรือ เทศกาลวัว (Gai Jatra or Cow Festival) เทศกาลนี้จัดในเขตเมืองกาฐมาณฑุ ช่วงเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคมและกินเวลาถึง 8 วัน เทศกาล ‘คยะ ยาตรา’ นั้นจะต่างกับเทศกาลก่อนหน้าที่เชื่อเรื่องการกลับมาของวิญญาณ เพราะจุดประสงค์ของประเพณีนี้คือเพื่อรำลึกถึงคนที่เรารัก เพื่อให้ผู้คนยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และเพื่อช่วยบรรเทาให้ความเจ็บปวดจากการสูญเสียนั้นเบาบางลง โดยคำว่า Gai แปลว่า วัว ส่วนคำว่า Jatra แปลว่า ขบวน ลักษณะของเทศกาลคือ ครอบครัวที่สูญเสียคนในครอบครัวไปจะนำวัวมาประดับด้วยพวงมาลัยและแต้มจุดแดงกลางหน้าผาก (Red Tika) แล้วจูงมาร่วมขบวนแห่ หากครอบครัวไหนไม่มีวัวก็จะให้เด็กไปร่วมขบวนแห่ โดยแต่งตัวให้เหมือนวัวและใส่เครื่องประดับต่าง ๆ ขบวนแห่วัวและเด็ก ๆ จะเดินขบวนไปรอบเมืองและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงที่เดินขบวน ชาวบ้านก็จะนำอาหาร ขนม น้ำดื่ม หรือเงินจำนวนหนึ่งมาให้เด็ก ๆ หลังจบขบวนแห่ ผู้คนจะสวมใส่ชุดและหน้ากากท้องถิ่นมาฟังดนตรี เล่นตลก และเต้นรำร่วมกันจนถึงเย็นเพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกคนสนุกสนาน


ที่มาของประเพณีนี้เชื่อว่าเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 ในสมัยของพระราชา Pratap Malla พระราชาและราชินีได้สูญเสียลูกชายไปทำให้พระราชินีโศกเศร้าอย่างมาก พระราชาจึงพยายามที่จะปลอบโยนเธอโดยขอให้ทุกครอบครัวที่สูญเสียผู้เป็นที่รักออกมาเดินขบวนพร้อมกับวัวและการแสดงทั้งร้องเพลงและเต้นรำ จนราชินีรู้สึกดีขึ้น ยอมรับได้ว่าเธอไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเผชิญกับการสูญเสีย และเข้าใจได้ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเห็นดังนั้น พระราชาจึงสั่งให้มีประเพณี Gai Jatra ขึ้นในทุก ๆ ปี และได้มีการพัฒนาเรื่อยมา


ในปัจจุบัน เทศกาลนี้ต่างจากในอดีตตรงที่มีการถ่ายทอดสดเผยแพร่ผ่านทั้งวิทยุและโทรทัศน์ และกลายเป็นพื้นที่ที่ให้อิสระในการแสดงออก เปิดโอกาสให้คนแสดงความเห็นทางการเมืองได้ จากเดิมในสมัยราชาธิปไตยที่ไม่สามารถทำได้เพราะสถาบันกษัตริย์ออกคำสั่งควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อ ปัจจุบันที่การปกครองของประเทศเนปาลกลายเป็นรูปแบบสาธารณรัฐ จึงมักมีผู้คนมาทำการแสดงตลกเสียดสีนักการเมืองและคนดัง นอกจากนี้ ในเทศกาลนี้ยังมักมีการเดินขบวนของกลุ่ม LGBTQ+ ควบคู่ไปด้วยเพื่อเฉลิมฉลองและสร้างความตระหนักในเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับผู้คน


ภาพจาก: https://www.wondersofnepal.com/gai-jatra/


ประเพณีทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ว่าแนวคิดเรื่องการกลับมาของวิญญาณและการทำบุญกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับนั้นจะเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ขนบธรรมเนียมความเชื่อต่างๆเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกลบหลู่หรือถูกทำให้หายไป เพราะประเพณีทั้งหลายนี้ล้วนมีคุณค่าต่อจิตใจของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะสิ่งเชื่อมโยงกับผู้ที่จากไป ทั้งในแง่ของการได้รำลึกถึงคนรัก ได้ทำบุญแก่คนรักเพื่อความสบายใจ และในแง่ของการยอมรับความเจ็บปวดจากการสูญเสียให้ได้ อีกทั้งประเพณีเหล่านี้ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นได้อีกด้วย ดังนั้นเทศกาลและธรรมเนียมต่างๆล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้คน และควรได้รับการอนุรักษ์ให้ดำรงอยู่สืบไป



เรื่อง : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล

พิสูจน์อักษร : ธนพล สิริชอบธรรม

ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ



แหล่งข้อมูล:


ความเป็นมาของ “ตานก๋วยสลาก” ประเพณีทำบุญให้คนตาย ทำทานให้คนเป็น (2565, 9 เมษายน). ศิลปวัฒนธรรม.

https://www.silpa-mag.com/culture/article_38356


ซ้อนไปมอไซค์ไปขั้วโลก. (2561, 17 กุมภาพันธ์). Dia de los Muertos พิธีเก่าแก่ของเม็กซิโกที่ทำให้คนเป็นได้ 'หยอกล้อ' กับ 'ความตาย'. readthecloud.

https://readthecloud.co/motorcycle-8/


ธมนวรรณ กัวหา. (2562, 31 ตุลาคม). ฮาโลวีน จากประเพณีนอกรีตในสายตาศาสนาคริสต์ สู่เทศกาลแสนสนุกที่มนุษย์ขอแปลงเป็นผี. adaybulletin.

https://adaybulletin.com/know-world-wide-words-halloween/43199


วันสารทไทย 2565 ตรงกับวันอาทิตย์ ที่ 25 กันยายน วันสารทเดือนสิบ (ม.ป.ป.). Kapook.

https://hilight.kapook.com/view/28943


สำนักงานประชาสัมพันธ์เขต2 อุบลราชธานี. (2564, 19 กันยายน). รู้จัก ‘บุญข้าวสาก’ ประเพณีสำคัญของชาวไทยภาคอีสาน.

https://region2.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/42802


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์. (2564, 4 ตุลาคม). วันแซนโฎนตา. m-culture.

https://www.m-culture.go.th/buriram/ewt_news.php?nid=2177&filename=index


เทศกาลสำคัญในประเทศเนปาล (2563, 22 พฤษภาคม). nepal101.

https://www.nepal101.net/th/major-festivals-of-nepal/


History. (2018, April 6). Samhain. https://www.history.com/topics/holidays/samhain


Jain R. (n.d.). Gai Jatra - The Festival of Turning Grief into Joy. holidify.

https://www.holidify.com/pages/gai-jatra-1985.html


Katwal S. (2022, August 12). Gai Jatra Festival in Nepal. stunningnepal.

https://www.stunningnepal.com/gai-jatra-festival-in-nepal/


Kessler S. (2022, June 14). Samhain: Origin, Date & How to Properly Celebrate. Joincake. https://www.joincake.com/blog/samhain/


Koguchi T. (2562, 29 พฤศจิกายน). โอบง งานที่มีมาแต่ช้านานของญี่ปุ่น. fun-japan.

https://www.fun-japan.jp/th/articles/10986


Muzika. (2565, 23 มิถุนายน). เทศกาลโอบ้ง Bon Matsuri เช็งเม้งของญี่ปุ่น วันที่ผู้ล่วงลับกลับมายังโลก. TrueID. https://travel.trueid.net/detail/j0lbBkQjp1Z6


Nepal Tourism Board. (n.d.). Gai Jatra. https://ntb.gov.np/gai-jatra


Obon Festival Guide: Meaning, traditions and 2022 dates (2022, June 15). JapanRailpass. https://www.jrailpass.com/blog/obon-festival-in-japan


Patourlogy. (2565, 2 เมษายน). เฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความตายในสไตล์เม็กซิกัน.

https://www.patourlogy.com/day-of-the-dead/


Reindl A. (2019, October 30). From Brazil to the Philippines: How Countries Around the Globe Celebrate Día de Muertos. Remezcla.

https://remezcla.com/lists/culture/dia-de-muertos-around-world/


Thai Studies CU. (2561, 29 กันยายน). กระยาสารท.

http://www.thaistudies.chula.ac.th/2018/09/29/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97/


TourismThailand. (2565, 12 กันยายน). ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ประจำปี ๒๕๖๕.

https://thai.tourismthailand.org/Articles/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A


Tsuchido K. (2562, 13 สิงหาคม). เกร็ดความรู้ภาษาญี่ปุ่น "โอบ้ง" วันที่ผู้ล่วงลับจะกลับมา. matcha. https://matcha-jp.com/th/479

 
 
 

Yorumlar


bottom of page