Toxic positivity เพราะบวกมากไปจึงติดลบ
- ชางวี ยู
- Sep 29, 2022
- 2 min read

การมองโลกในแง่บวก หรือ การคิดบวก (Optimism) ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่าเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพทั้งในเชิงสังคมวิทยาและเชิงจิตวิทยา การมองโลกในแง่บวกหมายถึงการมีทัศนคติที่เต็มไปด้วยความหวังและความมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต ผู้ที่คิดบวกมักมองว่าสถานการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจเป็นเพียงความยากลำบากชั่วคราวอันเป็นประสบการณ์ชีวิตเท่านั้น เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไปย่อมมีสิ่งดี ๆ เข้ามาแทนที่เสมอ
ผลสรุปจากการศึกษาและวิจัยหลากหลายแห่งบ่งชี้ตรงกันว่า การคิดบวกส่งผลดีต่อมนุษย์ในหลากหลายมิติ การคิดบวกทำให้สุขภาพกายและใจของมนุษย์ดีขึ้นและมีโอกาสมากขึ้นที่จะหายขาดจากโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้การคิดบวกยังนำพามาซึ่งทัศนคติ ‘I can do it’ หรือ ‘ฉันทำได้’ อันส่งผลให้ผู้ที่คิดบวกไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและมีโอกาสพบเจอกับความสำเร็จได้มากกว่าคนที่มองโลกในแง่ลบ (Pessimist) อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การคิดบวกเป็นดาบสองคมที่หากไม่มีการจำกัดจนก่อให้เกิดการคิดบวกที่มากเกินไป ก็มีผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพจิตของมนุษย์เช่นกัน หนึ่งในผลเสียของการคิดบวกมากจนเกินไปคือ ‘ภาวะ Toxic positivity’ หรือที่เรียกว่า ‘ภาวะการคิดบวกเป็นพิษ’
Toxic positivity เพราะบวกมากไปจึงติดลบ
ภาวะคิดบวกเป็นพิษ (Toxic positivity) คือ คำอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่พยายามมองโลกในแง่บวกตลอดเวลาและปัดป้องความรู้สึกไม่ดี หรือที่เรียกว่า ความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความเศร้าเสียใจ ความโกรธ ความผิดหวัง ความกดดัน จากสถานการณ์เลวร้ายทิ้งไป การกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิเสธสถานการณ์และความรู้สึกไม่ดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ และทำให้เกิดชุดความคิดว่า หากบังคับให้จิตใจคิดแต่เรื่องดี ๆ ก็จะไม่ต้องทุกข์ร้อนใจกับเรื่องราวร้าย ๆ ที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างพฤติกรรมของผู้ที่อยู่ในภาวะ Toxic positivity เช่น พยายามหลีกหนีปัญหาแทนที่จะแก้ไข รู้สึกผิดเมื่อตัวเองมีความรู้สึกเชิงลบ และต่อว่าหรือไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกเชิงลบของผู้อื่น เป็นต้น
ถึงแม้การมองโลกในแง่ดี (Optimism) จะส่งผลดีต่อชีวิตมนุษย์ทั้งในทางร่างกาย จิตใจ และความสำเร็จในชีวิต แต่การพยายามยัดเยียดการมองโลกในแง่ดีใส่ในทุกสถานการณ์ย่อมส่งผลเสีย เพราะการใช้ชีวิตไม่ได้มีแต่เรื่องที่ทำให้รู้สึกดีตลอดเวลา ย่อมต้องมีเรื่องที่เลวร้ายเข้ามาสลับสับเปลี่ยนกันไป ซึ่งเรื่องเลวร้ายนี้จะกระตุ้นให้มนุษย์เกิดอารมณ์ในเชิงลบ อันเป็นดั่งปัญหาในใจที่มนุษย์ต้องเข้าไปเผชิญหน้าและจัดการเท่านั้นจึงจะหายไปได้ และเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางอารมณ์ของมนุษย์อีกด้วย การคิดในแง่บวกตลอดเวลาและปฏิเสธความรู้สึกเชิงลบ จึงเป็นการปัดปัญหา ไม่ให้คุณค่าและความสำคัญกับอารมณ์เหล่านั้น แต่การไม่ให้ความสำคัญก็ไม่ได้ทำให้อารมณ์ลบหายไป หากแต่เป็นเพียงการนำอารมณ์เหล่านั้นไปซ่อนไว้ในจิตใจและกำบังมันด้วยความคิดบวก สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกตัวเองทั้งในด้านความคิดและจิตใจเลย
ปัญหาที่จะตามมาจากการซุกซ่อนอารมณ์ลบไว้ภายในเกราะกำบังที่เรียกว่าการคิดบวกก็คือ การสะสมของอารมณ์ลบที่อาจไม่ใหญ่มากในแต่ละครั้ง แต่เมื่อมารวมกันก็มีมากเกินกว่าบุคคลคนหนึ่งจะรับไหว สุดท้ายบุคคลนั้นก็ไม่อาจแบกรับอารมณ์ลบที่สะสมไว้ได้ การสะสมของอารมณ์ลบนี้จึงส่งผลเสียต่อตัวของผู้นั้นทั้งในทางร่างกายและจิตใจ
สังคมปัจจุบัน : เมื่อความสุขคือการแข่งขัน
การมองโลกในแง่บวกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุขอย่างมาก จึงก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมคิดบวกที่ชูสโลแกน “Good vibes only” หรือ “ต้องมีความสุขเท่านั้น” ขึ้นมา แต่วัฒนธรรมคิดบวกในรูปแบบนี้กำลังกระตุ้นให้คนในสังคมปฏิเสธความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองและแทนที่ความรู้สึกนั้นด้วยความรู้สึกเชิงบวก ผู้ที่ยึดหลัก ‘Good vibes only’ มองว่าการมีความสุขคือ ‘การคิดบวกเท่านั้น’ ดังนั้นอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นในใจจึงเป็นความผิดมหันต์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากเกิดอารมณ์ลบให้บอกกับตัวเองว่า “ช่างมัน” และคิดแต่เรื่องดี ๆ แทน วัฒนธรรมคิดบวกจึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนในสังคมเกิดภาวะ Toxic positivity มากยิ่งขึ้น
อนึ่ง การมีอยู่ของ Social media และสภาพการแข่งขันสูงในสังคมปัจจุบัน ก็เป็นอีกสองปัจจัยหลักที่ทำให้คนในสังคมมีภาวะ Toxic positivity มากขึ้นเช่นกัน
ก่อนจะมีเทคโนโลยีอันทำให้ผู้คนสามารถเข้าสังคมได้โดยแค่เปิด Internet ของตัวเองนั้น การขวนขวายหาความสุขอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่ในสังคมปัจจุบัน ความสุขนั้นหาได้ง่ายมากขึ้น เพราะเพียงแค่เปิด Social media และอ่านข้อความให้กำลังใจ ข้อความในเชิงบวก ฟัง Life coach เพื่อหาแรงบันดาลใจ หรือเพียงแค่ดูคลิปตลก ก็สามารถมีความสุขได้แล้ว ความสุขในบริบทปัจจุบันจึงเป็น ‘ความสุขสำเร็จรูป’ พร้อมให้ผู้คนเปิดดูได้ตลอดเวลา
แต่การที่ความสุขนั้นหาได้ง่ายกว่าในอดีตก็ทำให้คนในปัจจุบันมีภาวะ Toxic positivity มากขึ้นเช่นกัน เพราะการใช้ชีวิตในเวลานี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้คนต่างยุ่งวุ่นวายในหน้าที่การงานของตัวเองจนไม่มีเวลาไปตามหาความสุขที่มาจากใจของตัวเองจริง ๆ พวกเขาจึงต้องพึ่ง ‘ความสุขสำเร็จรูป’ เหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ Social media ที่เต็มไปด้วย ‘Highlights’ หรือ ‘สิ่งดี ๆ’ ของชีวิตผู้อื่นเต็มหน้าจอ ก็ยิ่งทำให้คนหนึ่งคนรู้สึกว่าต้องมีความสุขเหมือนกับคนอื่น และหันไปพึ่งความสุขสำเร็จรูปมากขึ้น ผลก็คือ ผู้คนในสังคมจะมีแนวคิดว่าต้องแข่งขันกันมีความสุข และหันไปขวนขวายความสุขสำเร็จรูปที่ไม่ตรงกับใจต้องการ ก่อให้เกิดการปฏิเสธอารมณ์ลบของตัวเองเพื่อที่จะมีความสุขให้เหมือนกับคนอื่น ๆ
จะดูแลใจให้บวกอย่างพอดีได้อย่างไร
ในส่วนของผู้ที่คิดว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะ Toxic positivity สามารถเริ่มต้นการดูแลใจของตัวเองได้ด้วยการตระหนักรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะมีความคิดหรือความรู้สึกแบบใด ก็ไม่ใช่ความผิดที่จะรู้สึกแบบนั้น เพราะชีวิตที่ดีไม่จำเป็นจะต้องเต็มไปด้วย ‘ความรู้สึกที่ดี’ แต่เป็นชีวิตทีเต็มไปด้วย ‘ความรู้สึกที่ใช่’ ต่างหาก ความรู้สึกนึกคิดและเรื่องราวที่ไม่ว่าจะดีหรือร้ายต่างมีคุณค่าเสมอ เพียงแค่ต้องเปิดใจยอมรับและสัมผัสถึงคุณค่าของมันเท่านั้น
คำแนะนำในการดูแลใจให้คิดบวกอย่างพอดีและเผชิญหน้ากับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ คือ การให้เวลาตัวเองได้อยู่กับความคิดของตัวเอง (Self-reflection) เพื่อจับความรู้สึกขณะนั้นว่า ตัวเองมีความรู้สึกอย่างไร และยอมรับความรู้สึกนั้นว่าเป็นความรู้สึกที่ ‘ใช่’ นอกจากนี้ การจดบันทึกหรือการเขียนไดอารี่ การลดใช้งาน Social media (Social detoxing) หรือการพูดคุยเพื่อเปิดใจกับคนที่วางใจและพร้อมรับฟัง ก็เป็นวิธีในการช่วยให้ได้รับรู้และยอมรับความรู้สึกที่ ‘ใช่’ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคิดบวกที่มากเกินไปได้เช่นกัน
จะทำอย่างไรไม่ให้คำปรึกษากลายเป็น Toxic positivity
หลาย ๆ คนอาจเคยอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนมาขอคำปรึกษาในเรื่องปัญหาที่เขาต้องเผชิญ นี่เป็นโจทย์สำคัญต่อผู้ที่ทำหน้าที่ ‘ที่ปรึกษา’ ว่าจะต้องปฏิบัติต่อผู้ที่มาขอความช่วยเหลืออย่างไร เพราะคำพูดที่ว่า “มองในแง่ดีสิ อย่างน้อย…” “มีคนที่แย่กว่าเธออีกนะ…” หรือ “เดี๋ยวมันก็ดีเอง…” ต่างเป็นคำพูดที่ส่งต่อ Toxic positivity ทั้งสิ้นแม้ตัวที่ปรึกษาเองจะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม เนื่องจากคำพูดเหล่านั้นเป็นการกำลังสื่อว่าสิ่งที่คน ๆ นั้นเผชิญและรู้สึกอยู่เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ และเป็นการแนะนำให้เขาคนนั้นปัดความรู้สึกร้าย ๆ ทิ้งไปโดยไร้การจัดการ
แล้วเหล่าที่ปรึกษาควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?
ดร. ดาเรีย คัส (Daria Kuss) อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Nottingham Trent เคยนำเสนอแนวคิด ‘Resonance Limbic’ ว่า Resonance Limbic คือ ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นและสะท้อนความรู้สึกนั้น ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลสองฝ่ายที่แบ่งปันความรู้สึกให้กัน และส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าความรู้สึกของเขาได้รับการรับรู้และการยอมรับจากอีกฝ่าย
จากแนวคิด Resonance Limbic จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่คนที่มาขอคำปรึกษาต้องการอาจไม่ใช่พลังความคิดบวก กำลังใจ หรือแรงบันดาลใจ แต่พวกเขาเพียงต้องการได้รับการยืนยันว่า ความรู้สึกของพวกเขาเป็นสิ่งปกติที่ใคร ๆ ก็มีได้ ดังนั้น สิ่งที่เหล่าที่ปรึกษาทำได้ง่ายมากที่สุดคือการรับฟังอย่างตั้งใจ และปลอบประโลมพวกเขาว่า ความรู้สึกเหล่านี้ที่พวกเขามีนั้นเป็นเรื่องปกติ และพวกเขามีสิทธิที่จะรู้สึกแบบนั้นได้
เพราะความสุข ไม่ได้จำกัดแค่ ‘ความคิดบวก’
ในปัจจุบัน วัฒนธรรมคิดบวกกำลังแทรกซึมอยู่ในสังคมผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทาง online หรือ offline ก็ตาม ทำให้สโลแกน ‘ต้องมีความสุขเท่านั้น’ เริ่มเป็นบรรทัดฐานในการใช้ชีวิตของใครหลาย ๆ คน
แต่อย่างไรก็ดี มีแนวคิดเกี่ยวกับนิยามความสุขในสมัยกรีกโบราณของอริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ ที่มีชื่อว่า ‘Eudaimonia (ยูไดโมเนีย)’ ซึ่งนำเสนอว่า ความสุขนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกดี ๆ และความคิดเชิงบวกเท่านั้น แต่ความสุขจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ผ่านการเติมเต็มจากการใช้ชีวิตผ่านอารมณ์ที่หลากหลาย
จากแนวคิดนี้จะเห็นได้เห็นว่า มนุษย์จะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อพวกเขายอมรับและสัมผัสถึงความรู้สึกทั้งหมดของตัวเอง จึงสะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตที่ตระหนักถึงคุณค่าของความรู้สึกทั้งหมดได้นั้น ก็คือชีวิตที่มีความสุข ไม่ว่าจะรู้สึกดีหรือไม่ดี จะมีความคิดในแง่บวกหรือแง่ลบ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมนุษย์ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ และถึงแม้จะไม่ใช่ความรู้สึกที่ ‘ดี’ แต่หากเป็นความรู้สึกที่ ‘ใช่’ มนุษย์ก็มีสิทธิที่จะถอดเกราะกำบังที่เรียกว่า ‘การคิดบวก’ และยอมรับต่อความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่มนุษย์ต้องการคือความสุขที่พอดี ไม่ได้บวกน้อยเกินไปหรือมากเกินไปจนทำให้สภาพจิตใจของตนเองติดลบ
เรื่อง : ชางวี ยู
พิสูจน์อักษร : ธนวัฒน์ แกล้วกล้า
ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา
แหล่งข้อมูล:
ตนุภัทร โลหะพงศธร (18 ตุลาคม 2563). Toxic Positivity ไม่ไหวบอกไหว เพราะการคิดบวกมากเกินไปเป็นพิษต่อใจได้เหมือนกัน. becommon.co. https://becommon.co/life/toxic-positivity/
BetterHelp Editorial Team (1 เมษายน 2565). Exploring Toxic Positivity On Social Media. BetterHelp. https://www.betterhelp.com/advice/current-events/exploring-toxic-positivity-
on-social- media
Cherry, K. (1 กุมภาพันธ์ 2564). What Is Toxic Positivity?. verywellmind. https://www.verywellmind.com/what-is-toxic-positivity-5093958
Chonato, S. (6 กันยายน 2561). Myth of Feeling Good : เมื่อการพยายามรู้สึกดีอาจไม่สู้การยอมรับความรู้สึกที่แท้จริง. The MATTER. https://thematter.co/thinkers/Myth-of-feeling-
good/58866
Radin, S. (4 สิงหาคม 2564). How ‘toxic positivity’ took over the internet. Dazed. https://www.dazeddigital.com/life-culture/article/53737/1/how-toxic-positivity-took-over- the-internet
Saejia, W. (14 มกราคม 2563). Toxic Positivity วัฒนธรรมที่บอกให้คิดบวกเข้าไว้ แต่ผลคือภายในใจติดลบ. The MATTER. https://thematter.co/social/toxic-positivity/97462
Scott, E. (11 ตุลาคม 2563). What Is Optimism?. verywellmind. https://www.verywellmind.com/the-benefits-of-optimism-3144811
Thongthai, K. (17 กรกฎาคม 2563). TOXIC POSITIVITY คิดบวก จนเป็นพิษ แค่อ่านคำคมเท่ๆ แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้. TheWMTD. https://thewmtd.com/toxic-positivity/
Comentários