top of page

Platonic Love: ความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ไร้ซึ่งแรงดึงดูดทางเพศ


ย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณ เพลโต นักปรัชญาในยุคนั้น ได้อภิปรายในวงสนทนาเกี่ยวกับความรัก และเขียนผลงาน ‘Symposium (ซิมโพเซียม: ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก)’ ที่มีอายุยาวนานกว่าสองสหัสวรรษมาแล้ว ทว่าความหมายของ Platonic ในคำอธิบายของเพลโตกับความหมายที่แพร่หลายในปัจจุบันนั้นต่างกันอยู่พอสมควร

เพลโตอธิบาย Platonic Love ไว้ในมุมมองที่ว่าผู้ถูกรักนั้น (the beloved) เป็นฝ่ายที่เป็นวัตถุที่สวยงามและถูกครอบครองโดยฝ่ายผู้รัก จึงเป็นความสัมพันธ์แบบเอารัดเอาเปรียบ (Hierarchical) แต่ในความหมายของทุกวันนี้ Platonic Love เป็นรักที่เปรียบเสมือนรักอันบริสุทธิ์ด้วยซ้ำไป

ศัพท์ Platonic มีความหมายว่า ‘ปราศจากความปรารถนาทางกาย (free from physical desire)’ โดย Platonic Love มาจากคำว่า ‘amor platonicus’ หรือ ‘ความรักของเพลโต’ นั่นเอง เดิมที คำว่า Platonic ถูกนำมาใช้ล้อเลียนความสัมพันธ์ที่ไม่มีเซ็กส์เข้ามาเกี่ยวข้อง (non-sexual relationship) เพราะคนบางกลุ่มมองว่า การแยก ‘รัก’ กับ ‘เซ็กส์’ ออกจากกันเป็นเรื่องเหลวไหล อาจเป็นไปได้ว่า บางทัศนะอาจมุ่งเน้นไปที่ความรักที่เต็มไปด้วยความหลงใหลทางกายภาพอย่างสุดโต่ง ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว มนุษย์อาจมีความผูกพันทางใจต่อมนุษย์อีกคนหนึ่ง โดยไม่มีความผูกพันทางกายก็ได้

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด แนวคิดในเชิงล้อเลียนดังกล่าวก็เลือนรางไป กลับกลายมาเป็นแนวคิดที่แพร่หลายขึ้นในทุกวันนี้ว่า Platonic เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้ง (deep and profound) จนสามารถมองข้ามความดึงดูดทางเพศไปได้ ซึ่งดูจะเป็นความรักที่ตรงข้ามกับการออกเดต คบหากันเป็นคู่รัก ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ทางกายกัน อย่างความรักอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘Romantic Love’


Platonic Love กับ Romantic Love แตกต่างกันอย่างไร?


ความรักแบบ Platonic นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อกันฉันเพื่อน โดยไม่มีความผูกพันทางกายเข้ามาเกี่ยวข้อง (Sex) ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบ Platonic จะมีความสนใจในเรื่องเวลาที่ใช้ร่วมกัน การสนับสนุนกันและกันมากกว่าการโหยหาการสัมผัส ตลอดจนการมีลูกด้วยกัน

ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์แบบ Romantic ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความดึงดูดทางเพศเป็นอันดับแรก อาจรวมไปถึงการที่ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าวปรารถนาที่จะอยู่ใกล้ ๆ อีกฝ่าย และเกิดปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้สัมผัสกัน หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบคนรัก


ความสัมพันธ์ที่สบายใจ กับ ขอบเขตที่ชัดเจน


เมื่อพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ทุกประเภท สิ่งที่คำนึงด้วยเสมอ คือ ขอบเขตที่ทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจกัน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกปลอดภัยและรู้ทิศทางว่าจะต้องประพฤติตัวอย่างไรให้ประคับประคองความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่นตลอดรอดฝั่ง

ขอบเขตของ Platonic Love โดยทั่วไปแล้วอ้างอิงได้ถึงความเชื่อของเพลโตที่ว่า “รูปแบบสูงสุดของความรัก คือ จิตวิญญาณและสติปัญญาระหว่างบุคคลสองคน ไม่ใช่ร่างกายและอารมณ์” จึงเป็นความรักที่ให้ความสำคัญกับความผูกพันทางกายน้อย โดยผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น พูดคุยกันในหัวข้อสนทนาที่ลึกซึ้ง (deep conversation) ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นที่พึ่งทางใจ คอยรับฟังกันและกัน (emotional support)

ส่วน Romantic Love นั้น อาจมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของ ความใกล้ชิดสนิทสนมเชิงคนรักมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจับมือถือแขน การกอด การจูบ ตลอดจนการมีความสัมพันธ์ทางกาย อย่างไรก็ตาม ความรักในรูปแบบนี้ก็มีจุดร่วมกับ Platonic Love ในส่วนที่ คู่รักนั้นก็มีลักษณะเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ ที่แบ่งปันเรื่องราว ความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมกัน

อย่างไรก็ดี ขอบเขตของความสัมพันธ์นั้นก็หลากหลาย และขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลในการตกลงร่วมกันอย่างชัดเจนว่าพฤติกรรมใดที่ทำได้และพฤติกรรมใดทำไม่ได้ อันเป็นการเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการสื่อสาร เพราะ ไม่ว่าจะเป็นความรักประเภทใด การสื่อสารอย่างเปิดใจและซื่อสัตย์ (open and honest communication) ย่อมนำมาสู่ความเข้าใจกันและและสามารถประคองรักกันไปได้อย่างรู้สึกเติมเต็มและมีความสุข

สำรวจ ‘ข้อดี’ ‘ข้อเสีย’ ของ Platonic Love


ข้อดี


1. Platonic Love ช่วยลดความเครียด อันเป็นผลมาจากการมี

คนที่เราไว้ใจและรู้สึกปลอดภัยด้วย มาคอยรับฟังในวันที่เราพบเจอกับปัญหา ทำให้รู้สึกว่าปัญหานั้นทุเลาลง การได้รับความรักและการสนับสนุนเคียงข้าง (support) นั้นทำให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี

2. การผูกสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (a sense of belonging) ห่างไกลจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใคร อันอาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพทางใจได้


ในบรรดาความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ความสัมพันธ์แบบ Platonic ที่ถูกอ้างถึงว่าเป็น ‘ความรักในอุดมคติ’ ก็ใช่ว่าจะดีไปเสียทุกอย่าง แต่ปะปนไปด้วยข้อเสียเช่นเดียวกัน


ข้อเสีย


ถึงแม้ว่าคำนิยามของ Platonic Love จะขีดเส้นแบ่งชัดไว้แล้วว่าเป็นความรักที่ไม่มีเรื่องความดึงดูดทางเพศมาเกี่ยวข้อง แต่ใช่ว่าในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการล้ำเส้น (cross boundaries) จนทำให้ความสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนไปเป็นความโรแมนติกก็เป็นไปได้ และหากมีเพียงฝ่ายเดียวที่รู้สึกอยากพัฒนาไปเป็นความรักโรแมนติก แต่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็เสี่ยงทำให้สูญเสียความสัมพันธ์นั้นไป

อย่างไรก็ดี หากทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่จะเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกัน ก็ควรที่จะตกลงกัน ทั้งนี้ไม่ควรที่จะมีฝ่ายใดรู้สึกว่าตนถูกกดดันให้ตัดสินใจ แต่ควรเป็น ‘ความยินยอม’ อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์


ความรัก Platonic เป็นความรักที่อยู่เหนือเชื้อชาติ เพศ อายุ และรสนิยมทางเพศ เป็นความรักที่หวังดี แต่ไม่หวังผลประโยชน์ แม้จะฟังดูเป็นความรักที่เอารัดเอาเปรียบในคำอธิบายของเพลโตที่มองผู้ถูกรักเป็นวัตถุ ส่วนผู้รักเป็นผู้ครอบครอง แต่ในความหมายและธรรมชาติของ Platonic นั้นกลับเป็นความรักที่ปราศจากความคาดหวัง การหาผลประโยชน์ และความหึงหวงในเชิงโรแมนติกที่อาจสร้างความอึดอัดใจและบรรยากาศที่อึมครึมต่อกันได้ ทั้งยังเป็นความรักที่นำพากันและกันไปสู่จุดที่ดีขึ้น


เรื่อง : เฌอเดีย

พิสูจน์อักษร : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์

ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ


แหล่งข้อมูล :



Juliet Lapidos, (2010), What’s Plato Got To Do With It?. Retrieved 29 January 2023, from https://slate.com/human-interest/2010/09/the-origins-of-the-term-platonic-friendship.html


Kendra Cherry, (2022), What Is a Platonic Relationship?. Retrieved 31 January 2023, from https://www.verywellmind.com/what-is-a-platonic-relationship-5185281


Muk-Yan Wong, (2017), The Ideal Love: Platonic or Frommian?. Dialogue and Universalism, 137-146, Retrieved from https://www.pdcnet.org/du/content/du_2017_0027_0004_0137_0146


Nia Tipton, (2021), What is A Platonic Relationship?. Meaning, Benefits, & Drawbacks, Retrieved 2 February 2023, from https://www.yourtango.com/2021346038/what-platonic-relationship-meaning-benefits-drawbacks



 
 
 

댓글


bottom of page