top of page

Motherhood by Men เกมการเมืองเรื่องความเป็นแม่ เมื่อแม่ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเสมอไป



ความเป็นแม่ (motherhood) เมื่อนึกถึงคำว่า ‘แม่’ สิ่งที่ผู้คนมักนึกถึงคงไม่พ้นภาพของผู้หญิงกำลังตั้งครรภ์หรือดูแลลูก ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ยึดโยงกับความเป็นแม่มักเป็นผู้หญิง ซึ่งการนึกถึงภาพของผู้หญิงก่อนไม่ใช่เรื่องผิด แต่อาจเป็นนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าคุณอาจกำลังถูกมายาคติของความเป็นแม่ครอบงำอยู่


ความเป็นแม่และความเป็นหญิง


ความเป็นแม่ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนและถูกต้อง แต่โดยปกติเมื่อนึกถึงความเป็นแม่ แม่มักถูกยึดโยงกับความเป็นหญิงด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เหตุผลด้านชีวภาพ และเหตุผลด้านสังคมวัฒนธรรม

ประการแรก เหตุผลด้านชีวภาพ เนื่องจากเพศหญิงมีสรีระโดยธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการให้กำเนิด เช่น น้ำนม มดลูก ซึ่งสรีระโดยธรรมชาติของเพศชายไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงเกิดชุดความคิดว่าหากหญิงใดไม่มีบุตรถือว่ายังไม่สามารถเป็นหญิงได้อย่างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นกรอบเพศวิถีที่สังคมกำหนดว่าผู้หญิงต้องมีลูก และการมีลูกก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นหญิง จนเกิดวาทกรรมที่คุ้นหู เช่น “เป็นผู้หญิงจะเรียนไปทำไม หาสามีรวย ๆ แล้วอยู่บ้านเลี้ยงลูกสบายกว่าเยอะ”

ประการที่สอง เหตุผลด้านสังคมวัฒนธรรม เป็นมิติที่มองว่าความเป็นแม่ถูกกำหนดจากสังคม เช่น

รัฐภายใต้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ กษัตริย์ถูกยกให้เป็นเจ้าชีวิต ประชาชนจะต้องอุทิศชีวิตเพื่อกษัตริย์ ผู้ชายที่มีพละกำลังมากกว่าจึงต้องละทิ้งเรื่องส่วนตัวเพื่ออุทิศตนแก่กษัตริย์ ผู้หญิงจึงต้องรับบทบาทเป็นผู้ดูแลจัดการเรื่องส่วนตัวแทน

ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านงานเรือน การตั้งครรภ์ และการดูแลลูก ตัวตนของหญิงจึงถูกยึดโยงกับครอบครัวอย่างเหนียวแน่น ผู้หญิงจึงไม่มีความเป็นปัจเจกหรือความเป็นตัวเองนัก เนื่องจากต้องอุทิศชีวิตและเวลาให้กับการดูแลบ้าน ต้องเสียสละ และอดทนเพื่อครอบครัว กระนั้นบทบาทความเป็นแม่กลับไม่ถูกให้คุณค่าจากในครอบครัวและสังคมเท่าที่ควร ตัวตนของผู้หญิงจึงเจือจางและเบาบางอย่างยิ่ง ประกอบกับในสมัยนั้นผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษาเหมือนผู้ชาย แต่ผู้หญิงกลับต้องรับหน้าที่ในการสั่งสอนและดูแลบุตรธิดาของตน ดังคำกล่าวว่า มารดาคือครูคนแรกของลูก ทำให้ผู้หญิงถูกสอนให้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเมียและแม่เพียงเท่านั้นเสมือนว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของพวกเธอ


ความเป็นแม่ในมิติสังคมวัฒนธรรมถูกยึดโยงกับการเมืองอย่างมีนัย


“วันแม่” เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกนำมาใช้ หลาย ๆ ประเทศจัดตั้งวันแม่ขึ้นมาในสภาวะสงครามเพื่อใช้เป็นอุบายในการป้องกันการถูกกลืนชาติ เนื่องจากมองว่า ผู้หญิงเป็นเพศผู้ให้กำเนิดจึงมีความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มประชากร อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการดูแลลูกและงานบ้านงานเรือน อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพลเรือนอันเป็นพลังสำคัญของรัฐ เพื่อการสร้างชาติที่เข้มแข็งเป็นปึกแผ่น และรักษาความบริสุทธิ์ของชาติ จึงต้องมีการเชิดชูความสำคัญของแม่ ความเป็นแม่ในยุคนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายชาตินิยม ในประเทศไทย งานวันแม่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกโดยรัฐบาลคณะราษฎร ที่ต้องการเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้นระบบการแพทย์และสาธารณสุขยังไม่เฟื่องฟูนัก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อนโยบายเพิ่มพลเรือนของรัฐ งานวันแม่จึงถูกจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องการแพทย์และการดูแลบุตร รวมถึงเรื่องงานบ้านงานเรือนอื่น ๆ ด้วย ในยุคต่อมามีการเพิ่มกิจกรรม เช่น

การประกวดแม่ประจำพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงการพยายามตั้งมาตรฐานของแม่ในอุดมคติตามนโยบายของรัฐ และความเป็นแม่ยังถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการเมืองที่ผูกขาดโดยชาย อย่างไรก็ตาม วันแม่มีวัตถุประสงค์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แล้วแต่นโยบายของรัฐในยุคนั้น ๆ ว่าต้องการที่จะวางนโยบายทางการเมืองในรูปแบบใด จะเห็นได้ว่าความเป็นแม่กับผู้หญิงถูกกำหนดให้ยึดโยงกันโดยรัฐมาตลอด โดยที่เสียงของผู้หญิงในฐานะบุคคลธรรมดาคนหนึ่งกลับไม่เคยถูกให้ความสำคัญเทียบเท่าการมองว่าเธอเป็นเพศผู้ให้กำเนิดเลย


โฆษณาชวนเชื่อของนาซีเรื่องความเป็นแม่ในอุดมคติ บนหน้าปกของแมกกาซีน Neues Volk (New People)

ปี 2480 แสดงถึงความเป็นแม่ด้วยภาพในอุดมคติของแม่และลูกอารยัน ที่มาภาพ : https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/photo/nazi-propaganda-ideal-of-motherhood



ความเป็นแม่เป็นสัญชาตญาณโดยธรรมชาติ?


ด้วยความเชื่อมโยงด้านชีวภาพ และสังคมวัฒนธรรมที่กล่าวไว้ข้างต้น ความเป็นแม่จึงถูกมองว่าเป็นสัญชาตญาณโดยธรรมชาติของผู้หญิง สังคมมองว่าผู้หญิงต้องอยากมีลูก เมื่อมีลูกก็ต้องรัก ทุ่มเท

และอดทนดูแลลูกในฐานะแม่อย่างดีที่สุด ผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีลูก ทำแท้ง หรือทอดทิ้งลูก จึงถูกสังคมประณามอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมายาคติที่สร้างภาพจำให้ผู้คนมองว่าแม่จะต้องเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ อย่างไรก็ตามต้องแสดงความเสียใจกับผู้ที่เชื่อในเรื่องสัญชาตญาณความเป็นแม่ เพราะสัญชาตญาณความเป็นแม่เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น มีงานวิจัยพบว่า ความเป็นแม่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณ แต่ความเป็นแม่ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากมีบุตรแล้วต่างหาก โดยเกิดจากประสบการณ์ สายสัมพันธ์ และความใกล้ชิดกับลูก ความเป็นแม่เป็นความรู้สึกที่ถูกสร้างขึ้นจากความเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่กับลูก ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศหญิง หรือต้องเป็นผู้ให้กำเนิดบุตรที่แท้จริง ความเป็นแม่จึงอาจเกิดขึ้นกับเพศชาย หรือพ่อแม่ที่ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงก็ได้ กล่าวได้ว่าใคร ๆ ก็สามารถมีความเป็นแม่ได้ โดยอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ส่วนบุคคล แสดงให้เห็นว่าความเป็นแม่แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากเพศสภาพ แต่ถูกสร้างจากกรอบการเมืองที่พยายามเชื่อมโยงความเป็นแม่กับผู้หญิงเพื่อกักขัง และกดขี่ให้ผู้หญิงต้องยอมจำนนภายใต้กรอบความคิดแบบชายเป็นใหญ่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกิดมาเพื่อเป็นแม่แต่อย่างใด


ความเป็นแม่และมายาคติของสังคม


ในภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง Marriage story ปรากฏบทสนทนาของตัวละครในเรื่องซึ่งกล่าวถึงความเป็นแม่ไว้ว่า

“Don’t ever say that. People don’t accept a mother who drinks too much wine and yells at her child and calls him an asshole. I get it. I do it too.”
“We can accept an imperfect Dad. Let’s face it, the idea of a good father was only invented like 30 years ago. Before that fathers were expected to be silent and absent and unreliable and selfish and we can all say that we want them to be different but on some basic level we ACCEPT them, we LOVE them for their fallibilities. But people absolutely DON’T accept those same failings in mothers.”

บทภาพยนตร์ดังกล่าวสะท้อนความแตกต่างของบทบาทระหว่างพ่อและแม่ รวมถึงภาพลักษณ์ของแม่ในอุดมคติที่สังคมคาดหวังไว้อย่างชัดเจน ความเป็นแม่มักถูกสังคมกล่าวถึงในฐานะผู้เสียสละตัวตนและเวลาเพื่อครอบครัว แนวคิดเรื่องการยกย่องในความลำบากของแม่มีความเป็นสากล ในนานาประเทศมักมีการให้ความสำคัญกับสถานะแม่ เช่น กำหนดวันแม่ประจำชาติของตน มอบรางวัลแม่ดีเด่น เพลงที่สื่อถึงความเป็นแม่ หรือคำพิเศษ อย่างเช่นคำว่า ‘Supermom’ สื่อว่าแม่จะต้องเพียบพร้อม สมบูรณ์

ต้องสามารถทำได้ทุกอย่างโดยไม่บกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก ทำงานบ้าน หรือประกอบอาชีพของตน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมายาคติสวยหรูที่สังคมสร้างไว้เพื่อปกปิดภาระอันหนักอึ้งที่แม่ต้องรับผิดชอบให้ไหว อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานและภาพจำของแม่ในอุดมคติไว้ว่าหากพวกเธอสามารถปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่สังคมต้องการก็จะถูกเชิดชูจากครอบครัวและสังคม อย่างไรก็ตามการสร้างภาพจำของแม่ที่สมบูรณ์แบบล้วนสร้างบาดแผลให้กับแม่ในชีวิตจริงที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบดังบรรทัดฐานสังคมกำหนดไว้ อีกทั้งภาพแม่ในอุดมคติยังเป็นการลบเลือนตัวตนแท้จริงของแม่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย การเฉลิมฉลองและมอบเกียรติดังกล่าวจึงสามารถมองได้ว่าเป็นการผลักภาระอันหนักหน่วง และเหน็ดเหนื่อยให้กับแม่โดยชอบธรรม และพยายามมองข้ามเสียงของแม่ที่ต้องต่อสู้กับความลำบากในการดูแลลูกซึ่งถูกผลักภาระมาให้แม่ต้องเผชิญแต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเป็น ภาระงานที่หนักมากเกินไป ระบบสวัสดิการของรัฐที่ไม่ช่วยอำนวยความสะดวก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยใช้กรอบว่าเป็นแม่ต้องอดทน และยอมจำนนต่อความลำบากต่อไป การเฉลิมฉลองแด่แม่จึงอาจไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการมอบคุณค่าและให้เกียรติอย่างแท้จริง การเป็นแม่จึงอาจเป็นกับดักแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ของรัฐที่พยายามกำหนดบทบาทและผลักภาระความเป็นแม่ให้กับผู้หญิง เพื่อซุกซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างเอาไว้ภายใต้การเชิดชูบูชาความเป็นแม่ในอุดมคติที่สยบยอมต่ออำนาจของรัฐ


เครดิตภาพ: STUART BRIERS

ในปัจจุบันความเป็นแม่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแม่จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, แม่ผู้ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดโดยแท้จริง, แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือแม่ที่เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีลูก

ดังนั้นความเป็นแม่ควรเป็นทางเลือกในการใช้ชีวิต เป็นทางเดินที่บุคคลมีสิทธิที่จะเลือกได้โดยอิสระตามความต้องการของตนเอง ด้วยเหตุนี้ความเป็นแม่จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงอีกต่อไป แต่ควรเป็นบทบาทที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้ เพศแม่ไม่มีอยู่จริง ความสมบูรณ์ของผู้หญิงจึงไม่ควรนำมาผูกติดกับความเป็นแม่ แม้ว่าหญิงคนนั้นจะไม่ได้เป็นแม่ เธอก็สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขและประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องมีลูก การปลดปล่อยผู้หญิงออกจากบทบาทความเป็นแม่ไม่เพียงปลดพันธะของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้แม่ในทุก ๆ รูปแบบสามารถมีตัวตนและมีโอกาสแสดงตัวในฐานะแม่จริง ๆ โดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมควรแยกความเป็นหญิงออกจากความเป็นแม่เสียที

เรื่อง : อภิญญา วัชรพิบูลย์

พิสูจน์อักษร : ชางวี ยู

ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ


แหล่งข้อมูล :


Chanan Yodhong. (13 สิงหาคม 2562). การเมืองเรื่องวันแม่ : วันแม่ที่เปลี่ยนไป กับความหมายของแม่ที่เปลี่ยนแปลง. เข้าถึงได้จาก The Matter: https://thematter.co/thinkers/mother-day-in-politic/82627

Elizabeth Yuko. (20 มิถุนายน 2559). Not all women want to be mothers. Finally, our culture is recognizing that. เข้าถึงได้จาก The Washington Post: https://www.washingtonpost.com/news/soloish/wp/2016/06/20/not-all-women-want-to-be-mothers-finally-our-culture-is-recognizing-that/

Emma Gross. (2539). Motherhood in Feminist Theory. Sage Journal, 269-272.

Sophia Victoria. (12 มีนาคม 2564). Why Are Mothers Always Held To A Higher. เข้าถึงได้จาก Medium: https://sophvic.medium.com/why-are-mothers-always-held-to-a-higher-standard-marriage-story-explains-97d3d0c78d65

vanat putnark. (12 สิงหาคม 2559). ความเป็นแม่ (motherhood) กับปัญหาภาพอุดมคติที่ล้นเกิน. เข้าถึงได้จาก The Matter: https://thematter.co/social/rethinking-motherhood/7628

ปราณี วงษ์เทศ. (15 สิงหาคม 2549). "ความเป็นแม่ คือองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากต่อการสร้างมนุษยชาติ". เข้าถึงได้จาก ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2006/08/9320

ปิยวรรณ อัศวราชันย์. (2548). เรียงวิวัฒนาการวันแม่และ “ความเป็นแม่” ว่าด้วยคุณค่าที่แปรเปลี่ยนตามสมัย. ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2548. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_36549

ภุมริน สิทธิแก้ว. (8 มีนาคม 2565). แม่และงานในบ้าน: ความเสียสละกับค่าตอบแทนที่พึงมีในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ. เข้าถึงได้จาก way: https://waymagazine.org/woman-mother-and-housework/

วทัญญู ฟักทอง. (7 มีนาคม 2563). สถานะ 'พ่อ' ใน 'อุษาคเนย์'. เข้าถึงได้จาก กรุงเทพธุรกิจ: https://www.bangkokbiznews.com/social/869495

















 
 
 

Comments


bottom of page