Mockumentary หนังเลียนแบบสารคดีทีเล่น(แต่)เอาจริง
- ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
- Sep 25, 2022
- 3 min read
หากจะหาภาพยนตร์ ”บันเทิงคดี” สักเรื่องที่พาผู้ชมเข้าไปสู่โลกใบใหม่ได้โดยหลงลืมตัวตนและความเป็นจริง หลอมรวมกับเรื่องราว และเชื่อสนิทใจในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผู้สร้างภาพยนตร์ทุกคนล้วนจงใจประกอบสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถันคงไม่พ้น “ความสมจริง” เพราะการที่ผู้ชมได้ดื่มด่ำและซึมซาบองค์ประกอบต่าง ๆ ของหนังที่ดูสมจริงจะยิ่งเพิ่มอรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น และทำให้สารที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การจะก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างโลกในจินตนาการและโลกความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะผู้ชมก็ยังตระหนักได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเป็นหนัง ในขณะที่หากต้องการความสมจริงอย่างถึงขีดสุด “สารคดี” ก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เพราะนำความจริงมาเสนอ มิได้แต่งเรื่องราวขึ้น เมื่อผู้สร้างภาพยนตร์มีความต้องการจะสร้างความสมจริง ขณะเดียวกันก็อยากเล่าเรื่องที่มิใช่ความจริง จึงเกิดการผสมผสานรวมกันของภาพยนตร์บันเทิงคดีที่ปรุงแต่งมาให้สนุกสนาน และสารคดีที่นำเสนอความจริง เกิดเป็น “Mockumentary” ซึ่งมาจากคำว่า “Mock” ซึ่งแปลว่า การจำลอง/ล้อเลียน และ “Documentary” ซึ่งแปลว่าสารคดี โดยในการสร้างช่วงแรกนั้นมาจากการอยากจะล้อเลียนเสียดสีความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่ต่อมาก็ถูกขยายนำไปใช้ในภาพยนตร์ประเภทอื่นมากขึ้น โดยมี “ร่างทรง” ภาพยนตร์สยองขวัญจากค่าย GDH ที่โด่งดังของไทยในปีที่แล้วก็ถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ใครหลายคนเริ่มรู้จัก Mockumentary ด้วย
จุดกำเนิดของ Mockumentary
ภาพยนตร์ประเภทนี้เริ่มต้นจากการประกาศผ่านรายการวิทยุในสไตล์การเล่าข่าว ของ Orson Welles ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Citizen Kane ในปี 1938 ที่มีเนื้อหาถึงมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลกมนุษย์ สร้างความตื่นตระหนกฮือฮาในสังคมอย่างมาก ก่อนจะมาเฉลยว่าแท้จริงดัดแปลงจาก The War of The Worlds เรื่องสั้นของ H. G. Wells แต่ผู้สร้างก็ไม่ได้จงใจให้เป็น Mockumentary เสียทีเดียว ตามมาด้วยภาพยนตร์ Take The Money And Run (1969) เกี่ยวกับชายผู้ปล้นธนาคาร ซึ่งแม้จะมียอดรายได้ไม่ดีนัก แต่ก็ให้เทคนิคดี ๆ มากมาย ต่อมา Zelig (1983) ก็เป็นภาพยนตร์ขาวดำเกี่ยวกับชายที่มีความสามารถเลียนแบบผู้อื่นได้ โดยเสนอภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังมี Mockumentary ที่มีชื่อเสียงยิ่งขึ้นอย่างเรื่อง This is Spinal Tap (1984) ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตจองวงดนตรีร็อคของอังกฤษอย่าง Spinal Tap ซึ่งไปทัวร์คอนเสิร์ตในอเมริกา โดยแท้จริงหนังได้หยิบเอาสารคดีของวงร็อคชื่อดังมารวมกันและใส่มุกล้อเลียนเสียดสี จนทำให้คนดูเชื่อได้ว่าเป็นสารคดีของวงดนตรีวงหนึ่ง หลังจากนั้นวงนี้ยังได้เล่นคอนเสิร์ตต่อหน้าสาธารณชนจริง ๆ แม้จะไม่เคยมีวง Spinal Tap กำเนิดมาก่อนหนังจะฉายเลยก็ตาม!
Mockumentary กระแสดี ดีกรีลูกโลกทองคำ
แม้ว่าภาพยนตร์แนวนี้จะยังไม่มีกระแสมากนักในช่วงเริ่มต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21 แต่ภาพยนตร์เรื่องหนี่งของ Sacha Baron Cohen นักแสดงตลกชาวอังกฤษเรื่อง Borat! Cultural Learnings Of America For Make Benefit Glorious Nation Of Kazakhstan (2006) ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Borat นักข่าวจากประเทศคาซัคสถานที่มาถ่ายทำสารคดีที่สหรัฐอเมริกาและก็ต้องตกตะลึงกับวัฒนธรรมที่แตกต่างจากบ้านเกิดอย่างสิ้นเชิง หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้มุกเหยียดผิว เหยียดเพศ เหยียดอาชีพ ซึ่งแท้จริงก็นำมาจากสังคมอเมริกาในขณะนั้น อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้จุดประกาย Mockumentary ให้แบ่งบานในวงสังคมอย่างมาก
Mockumentary เสียดสีการเมืองไปถึงเรื่องนอกโลก
Mockumentary ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสะท้อนความจริง หรือเสียดสีความจริงที่เกิดขึ้น เพราะแม้หนังประเภทนี้นำเสนอสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความจริง แต่เมื่อผู้ชมได้รู้อยู่ก่อนแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น การนำความจริงมาสอดแทรกในเรื่องราว หรือพลิกกลับไปคนละทิศละทาง ทำให้ผู้คนได้ฉุกคิด ไม่ว่าจะในแง่ของการเห็นความจริงถูกถ่ายทอดในหนังอย่างสมจริงทำให้รู้สึกตระหนักถึงประเด็นนั้น ๆ ยิ่งขึ้น หรือการได้เห็นสิ่งที่ตรงข้ามความจริงแล้วได้ฉุกคิดว่าหากโลกความเป็นจริงเป็นเช่นในหนังจะเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกรวมได้ว่าเป็น ‘จินตนาการทางสังคมวิทยา’ โดยเป็นคำที่ C. Wright Mills (1959) เขียนในหนังสือ The Sociological Imagination
เขาไม่ได้เห็นว่าสิ่งนี้ถูกจำกัดแค่ในสถาบันการศึกษาที่จริงจังเท่านั้น แต่ยังสามารถได้รับแรงบันดาลใจจากความสนุกสนาน เรื่องแปลก ๆ สิ่งผิดปรกติ และไร้สาระ องค์ประกอบของวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ Halberstam เรียกว่า ‘the silly archive’ หรือ ‘คลังเก็บที่โง่เขลา’ (2011)
ตัวอย่างของภาพยนตร์เหล่านี้ เช่น Bob Roberts (1992) เป็นเรื่องของนักดนตรีพื้นเมืองผู้อยู่ฝั่งพรรค Republican ที่พยายามใช้เส้นสายและเทคนิคสกปรกต่าง ๆ เพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่จากฝั่งพรรค Democrat ในการเลือกตั้ง เป็นหนังที่เสียดสีอิทธิพลของนักร้องนักดนตรีที่มีต่อคนอเมริกันในการเลือกตั้ง Darkside of The Moon (2002) ที่นำเสนอการเตรียมการเพื่อถ่ายฉากนักบินอวกาศเหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เป็นการเสียดสีข่าวลือที่ว่านีล อาร์มสตรองและนักบินอวกาศจาก NASA มิได้ขึ้นไปบนดวงจันทร์จริง ๆ แต่เป็นการจัดฉาก The Gods Must be Crazy (1980) หรือในชื่อภาษาไทยที่คุ้นเคยอย่าง เทวดาท่าจะบ๊อง ที่ใช้นักพากย์ชาวแอฟริกันมาพากย์ราวกับเป็นสารคดีจริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของ ซี คนป่าเผ่าบุชเม็นแห่งทะเลทรายกาลาฮารีที่พบเจอขวดโคคาโคล่าตกลงมาจากฟ้า และทำให้วิถีชีวิตที่เคยอยู่กับธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปเพราะแม้คนในหมู่บ้านร่ำรวยขึ้นจากขวดของ ‘พระเจ้า’ นี้ แต่กลับมีความอิจฉาริษยาแก่งแย่งชิงดี จนซีต้องนำขวดไปทิ้ง ซึ่งขวดนี้ก็สื่อถึงการรุกรานของประเทศล่าอาณานิคมที่แม้จะนำความเจริญมาให้ แต่ก็ต้องแลกกับสังคมที่วุ่นวายขึ้น หรือ This Country ซีรี่ส์จาก BBC ก็นำเสนอภาพของเด็กชายสองคนในชนบทซึ่งเป็นชนชั้นแรงงาน โดยสอดแทรกประเด็นสังคม เช่น ชนชั้น การจ้างงาน การไร้บ้าน ครอบครัว ความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม ทำให้เห็นว่าคนชนบทมักถูกคาดหวังให้ต้องไขว่คว้าหาสิ่งที่ดีขึ้นเพราะสภาพในชนบทนั้นลำบาก ขาดโอกาสที่คนในเมืองได้รับ นอกจากนั้นยังมี The Office สะท้อนงานภายใต้ระบบทุนนิยมร่วมสมัย Brass Eye, Alan Partridge: Scissored Isle นำเสนอภาพวารสารศาสตร์และสื่อ The Thick of It, Parks and Recreation, W1A เสียดสีการเมืองและวัฒนธรรมสถาบัน หรือจะเป็นการล้อเลียนคนดังใน This is Spinal Tap การเมืองและวัฒนธรรมสถาบัน ความไม่เท่าเทียมของวัยรุ่นใน Summer Heights High หรือ Borat ที่ขับเน้นการเหยียดเชื้อชาติและอาณานิคมและแสดงให้เห็นความใกล้ชิดและชีวิตครอบครัวจาก Human Remains
Mockumentary ทำให้เรื่องผีๆ สยองกว่าที่เคย
ด้วยความที่ Mockumentary เป็นการนำเสนอภาพที่สมจริงราวกับบนโลกนี้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น จึงเหมาะเหม็งที่จะนำมาใช้ในภาพยนตร์ประเภทสยองขวัญสั่นประสาท เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้คนดูกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง ก็คือการทำให้คนดูเชื่อว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง ผีมีจริง คนในเรื่องโดนหลอกจริง โดนฆ่าจริง หรือถึงคนดูจะรู้อยู่เต็มอกว่ามันก็แค่หนัง แต่ก็ต้องมีสักเสี้ยวหนึ่งแหละที่พวกเขาจะฉุกคิดว่า คนสร้างเอาเรื่องจริงมาฉายให้ดูรึเปล่านะ!? ซึ่งเทคนิคในการสร้าง Mockumentary ที่ช่วยประกอบสร้างภาพความน่าสยดสยองเหล่านี้ก็มีมากมาก เช่น การใช้เทคนิค Found Footage หรือคลิปวิดีโอที่มีใครบางคนถ่ายไว้ในกล้อง ซีดี ดีวีดี หรือคอมพิวเตอร์ แล้วมีผู้ค้นพบและเปิดดู ซึ่งช่วยสร้างความสมจริงเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตเราส่วนใหญ่นั้นก็มิได้ถูกบันทึกอย่างสวยงาม มีการจัดแสงจัดมุมอย่างในหนัง หากแต่อาจมีภาพเบลอ ภาพกระตุก ภาพไม่คมชัดเกิดขึ้นได้ เพราะผู้บันทึกมิได้วางแผนจะบันทึกภาพเหล่านั้นตั้งแต่แรก แต่เป็นเรื่องไม่คาดฝันที่เกิดขึ้น จึงทำให้ผู้ชมรู้สึกขนหัวลุกยิ่งขึ้นหากนึกภาพตามว่าภาพผี ปีศาจ หรือฆาตกรรมเลือดสาดใด ๆ ก็ตามที่ได้เห็นนั้น เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีการจัดฉาก ภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคเช่นนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ก็เช่น The Blair Witch Project (1999) Paranormal Activity (2007), ซอมบี้ REC (2007), สัตว์ประหลาด Cloverfield (2008) รวมผี ปีศาจ สัตว์ประหลาด B/H/S (2012/2013), Afflicted (2013), As Above, So Below (2014) รวมถึงร่างทรง (2021) และ incantation (2022) ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็ใช้เทคนิคนี้ในบางส่วนของภาพยนตร์เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมที่ลึกล้ำกว่าเดิมอีกด้วย
นอกจากนั้น การถ่ายทำโดยใช้มุม POV หรือ Point of View คือการใช้มุมกล้องเดียวกับมุมมองสายตาที่ตัวละครมองเห็น ทำให้ผู้ชมเห็นภาพราวกับว่าตนเองเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ ซึ่งเพิ่มความระทึกขวัญไปอีกหลายเท่า ผีที่พุ่งเข้ามาโจมตี คมเขี้ยวที่ฝังลงมาบนร่าง เลือดที่สาดเข้ามาใส่หน้า ลมที่พัดโหมกระหน่ำจนเดินต่อแทบไม่ไหว ลมหายใจของตัวละครที่ขาดช่วงกระตุกเป็นพัก สิ่งเหล่านี้คนดูจะได้รับไปอย่างเต็มอิ่มจนอดไม่ได้ที่จะดูหนังผ่านซอกนิ้วเลยทีเดียว ซึ่งเทคนิคนี้ก็พบได้ในหนัง The Blair Witch Project และ REC ที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงพบได้ในเกมแนวสยองขวัญหลายเกม เช่น Resident Evil 7 และ Village, Outlast รวมถึงเกมแนว Survival ที่เน้นยิง เช่น PUBG, Free Fire, Doom ซึ่งมีศัพท์ทางเกมเรียกว่ามุมมองแบบ FPS (First Person Shooter) อีกด้วย
Mockumentary vs Snuff Film
*โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ประเภทที่มีความสมจริงและเกี่ยวกับเรื่องสยดสยอง นอกจาก Mockumentary แล้ว อีกหนึ่งประเภทภาพยนตร์ที่สมจริงไม่แพ้กัน หรือในบางครั้งก็เป็นเรื่องจริงเสียด้วยซ้ำ! ภาพยนตร์ประเภทนั้นคือ Snuff Film คือคลิปวิดีโอที่บันทึกการทรมาน ทำทารุณกรรม ข่มขืน ไปจนถึงฆาตกรรม โดยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือ The Family: The Story of Charles Manson's Dune Buggy Attack Battalion ปี 1971 โดยเอ็ด แซนเดอร์ส (Ed Sanders) ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวการฆาตกรรมของชาร์ลส แมนสัน (Charles Manson) ฆาตกรโรคจิตชื่อก้องโลก และกลุ่มผู้ติดตาม Manson Family โดยการฆาตกรรมของเขาที่มีการบันทึกไว้ และได้รับการกล่าวขานว่าเป็น Snuff Film เรื่องแรก ๆ ของโลก คือเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1969 โดยหนึ่งในเหยื่อในคืนนั้นคือชารอน เทต (Sharon Tate) ดาราสาวภรรยาวัย 26 ปี ของผู้กำกับชื่อดัง โรมัน โปลันสกี (Roman Polanski)
แต่อย่าเพิ่งตกใจว่า Snuff Film อันโหดร้ายปานนี้จะมีแต่การฆ่ากันจริงเท่านั้น เพราะหนังประเภทนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ Fake Snuff Film เป็นหนังที่ถูกจัดฉาก ถ่ายทำขึ้นมาให้ดูเหมือนมีเหตุการณ์รุนแรงจริง แต่แท้จริงไม่มีอะไร เช่น Cannibal Holocaust (1980), August Underground Trilogy (2001), The Guinea Pig (1985-1989) โดยเฉพาะภาค Flower of Flesh and Blood: "Za ginipiggu 2: Chiniku no hana", A Serbian Film (2010), Aftermath (1994) ซึ่งหนังเรื่องที่สองนั้นเคยถูกกลุ่มผู้อนุรักษ์สัตว์ฟ้องร้องเพราะคิดว่ามีการทรมานสัตว์จริง และหนังเรื่องที่สี่เคยถูก Charlie Sheen ดาราฮอลลีวูดติดต่อ MPAA และ FBI ให้มาจับเพราะคิดว่าเป็นเรื่องจริงมาแล้ว หนังประเภทนี้สามารถหามาดูได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจจะทำให้รับประทานข้าวไม่ลงไปอีกหลายวัน ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ Real Snuff Film คือหน้งที่มีการทรมานจริง ฆ่าจริง ตายจริง โดยนักแสดงมักจะถูกหลอกให้ไปถ่ายทำโดยไม่รู้ว่าจะถูกฆาตกรรมจริง หรืออาจจะเป็นบันทึกเหตุการณ์ของฆาตกรที่เหยื่อเองไม่รู้ถึงจุดประสงค์ที่จะถ่ายทำเลยก็ได้ หนังประเภทนี้ผิดกฎหมาย ห้ามหามาดูเด็ดขาด แต่ก็มีซื้อขายกันในตลาดมืดด้วยราคาสูงลิบลิ่ว เช่นหนังของฆาตกร Manson ที่ได้กล่าวไป หรือเรื่อง 3 Guys 1 Hammer ที่ฆาตกรวัย 19 ปีสามคนได้ร่วมกันฆ่าคนไปถึง 21 คนเพื่อถ่ายทำหนังเรื่องนี้ หรือคดีผับ Burning Sun ของเกาหลีก็มีการถ่าย Snuff Film เช่นนี้ในชั้นใต้ดิน เป็นการหาความสนุกบนความทุกข์ทรมานของชีวิตผู้อื่นที่ไม่อาจรับได้
ความระทึกใจจากหนังที่สมจริงไม่อาจทำให้ละทิ้งศีลธรรม
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ที่มีความสมจริงอย่างมากไม่ว่าจะเป็น Mockumentary หรือ Snuff Film อาจทำร้ายคนในสังคมได้หากผู้สร้าง รวมถึงผู้จัดจำหน่ายไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมที่พึงมี อย่างเช่นภาพยนตร์ Mockumentary ที่จะเสียดสีเรื่องจริงในสังคมก็ไม่ควรก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มคนบางกลุ่มมากยิ่งขึ้น หรือล้อเลียนประเด็นอ่อนไหว เช่น ศาสนา การเมือง มากจนเกินควร เพราะอาจทำให้เกิดความไม่สงบในสังคมและในส่วนของ Snuff Film หากเป็นประเภท Real Snuff Film ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ไม่ควรปล่อยให้มีขึ้นในสังคมอยู่แล้ว แต่ในส่วนของ Fake Snuff Film นั้น แม้จะไม่มีการฆาตกรรมจริง ๆ เกิดขึ้น แต่ก็มีพฤติกรรมเลียนแบบของชายชาวญี่ปุ่นที่เป็นโอตาคุ ชื่นชอบหนังเรื่อง The Guinea Pig มากจนก่อคดีฆาตกรรมตามเรื่องราวในหนัง ส่งผลให้หนังถูกระงับไม่ให้สร้างภาคต่อตลอดกาล จึงเป็นประเด็นที่ต้องตระหนักและพิจารณาอย่างลึกซึ้งถี่ถ้วนว่าความสนุกสนาน ความระทึกใจที่ได้ คุ้มค่าหรือไม่กับความรุนแรงที่ถูกส่งต่อไปในสังคมจนอาจเกิดอาชญากรรมขึ้นได้อีก หรือหากหนัง Fake Snuff Film รวมถึงหนังที่มีความรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งสมจริงอย่างมากนี้มีคุณค่ามากกว่านั้น และไม่ควรเป็นฝ่ายผิดในเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีมาตรการที่รัดกุมขึ้นหรือไม่เพื่อให้ผู้ชมที่มีวิจารณญาณเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงได้ เพื่อมิให้ความบันเทิงจากภาพยนตร์ที่สมจริงทำให้คนต้องละทิ้งศีลธรรม หันมาทำร้ายคนรอบข้าง สร้างความโกลาหลและคราบน้ำตา
เรื่อง : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์
พิสูจน์อักษร : เฌอเดีย
ภาพ : อสมาภรณ์ ชัฎอนันต์
แหล่งข้อมูล:
Prepanod Nainapat. (31 พฤษภาคม 2561). 6 Mockumentaries ชวนดูหนังสารคดีม็อกอัพ.
https://thematter.co/entertainment/so-fun-with-6-mockumentaries/52154
Chaipohn. (12 พฤศจิกายน 2564). “ร่างทรง” และหนัง Mockumentary ดราม่าในรูปแบบสารดคีที่สยองจนตนต้องลองด้วยตาตัวเอง. https://www.unlockmen.com/cool-mockumentary-films-playlist/
Kapook. (10 เมษายน 2558). ใจไม่แข็งอย่าดู ! SNUFF FILM หนังใต้ดินสุดเถื่อน ฆ่าจริง ตายจริง ไม่มีเอฟเฟกต์. https://movie.kapook.com/view116786.html
NFI. (n.d.). Mockumentary – Everything You Need To Know. https://www.nfi.edu/mockumentary/
Kim Allen and Tracey Jensen. (3 สิงหาคม 2564). Mockumentary and the Sociological Imagination. https://thesociologicalreview.org/magazine/august-2021/film-and-television/mockumentary-and-the-sociological-imagination/
Ashawnta Jackson. (14 พฤศจิกายน 2563). The Mockumentary: A Very Real History. https://daily.jstor.org/the-mockumentary-a-very-real-history/
Koshi Hoshino, Daewoong Kim, and Yoshito Kawasoe. (28 สิงหาคม 2556). Discussion on Using Mockumentary Staging Techniques in the Creation of Frightening Imagery. http://adada.info/journals/vol1704_011.pdf
SabuySmile. (31 สิงหาคม 2561). หนังมุมแปลก! สุดแหวกในวงการภาพยนตร์. https://m.thaiware.com/review/1383.html
เฉลิมพล ตั้งศิริสกุล. (25 เมษายน 2562). เล่นจริง ตายจริง ทำความรู้จัก สนัฟฟ์ฟิล์ม ภาพยนตร์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นในคลับ Burning Sun. https://www.gqthailand.com/style/article/snuff-film
Clicknews-tv. (ม.ป.ป.) 4 ภาพยนตร์ ช็อคโลก! ที่ได้ชื่อว่า โหดและป่าเถื่อนที่สุด นักแสดง ถูกฆ่าจริง เสียชีวิตจริง จนต้องถูกแบน!!. https://www.clicknews-tv.net/news/4841
Comments