top of page

Make #WomeninSTEM visible ความท้าทายของการสร้างความตระหนักต่อเพศหญิงในวงการวิทยาศาสตร์


ในอดีต มุมมองที่สังคมมีต่อเพศหญิงคือผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว ทำงานบ้าน มีบุตรและเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตมาสืบทอดตระกูลต่อไป แต่ในปัจจุบัน คตินิยมของคนในสังคมได้เปลี่ยนไป หลายพื้นที่เปิดกว้างให้เพศหญิงได้รับโอกาสในการทำงานต่าง ๆ เทียบเท่ากับเพศชาย ทว่า สำหรับวงการวิทยาศาสตร์แล้ว ความเท่าเทียมระหว่างบุคลากรหญิงและชายซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นและยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป


นักวิทยาศาสตร์หญิงในอดีตกับความสามารถที่โดนดูถูกและกีดกัน


วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีการศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เพศหญิงกลับพึ่งจะได้รับการยอมรับในฐานะ “นักวิทยาศาสตร์หญิง” ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่คอยสนับสนุนการทำงานของผู้ชาย เมื่อราวศตวรรษที่ 19 โดยหนึ่งในผู้หญิงที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์นั่นคือ “มารี คูรี”


‘มารี คูรี (Marie Curie)’ เป็นนักเคมีหญิงชาวโปแลนด์ ผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ช่วยในการรักษามะเร็งได้ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล แต่กว่าเธอจะประสบความสำเร็จนั้น เธอต้องพบความยากลำบากมากมายเพียงเพราะเธอเกิดเป็นเพศหญิง อย่างในเรื่องการศึกษา เธอต้องขวนขวายทำงานเพื่อเก็บเงินไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส เนื่องจากเธอไม่สามารถเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศบ้านเกิดของเธออย่างโปแลนด์ได้ เพราะรัฐบาลรัสเซียที่ปกครองโปแลนด์ในสมัยนั้นไม่อนุญาตให้ผู้หญิงได้เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย กระทั่งจนต่อมาที่เธอประสบความสำเร็จในการค้นพบเรเดียมและธาตุกัมมันตรังสีอื่น ๆ ร่วมกับ ‘ปิแอร์ คูรี (Pierre Curie)’ สามีของเธอ และ ‘อองรี เบ็กแรล (Henri Becquerel)’ เธอก็เกือบไม่ได้รับรางวัลโนเบล เพราะในตอนแรกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศสได้เสนอแค่ชื่อของปิแอร์กับอองรีต่อคณะกรรมการโนเบลเท่านั้น หากปิแอร์ สามีของเธอ ไม่ยืนกรานว่าต้องเสนอใส่ชื่อของมารีด้วย ชื่อของเธอคงไม่ถูกจารึกในวงการวิทยาศาสตร์โลกเฉกเช่นทุกวันนี้


“มารี คูรี” ที่การประชุมนานาชาติโซลเวย์ว่าด้วยอิเล็กตรอนและโฟตอน ปี 1927 โดยมารี เป็นหญิงเพียงคนเดียวท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์ชายที่มีชื่อเสียงด้านเคมีและฟิสิกส์ทั้ง 29 คนในงานนี้

ที่มาของภาพ: https://www.famousscientists.org/marie-curie/


นอกจากมารี คูรีแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอีกหลายท่านที่ต้องพบเจออุปสรรคจากเพศสภาพก่อนจะได้รับการยอมรับผลงานในภายหลัง เช่น


“โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin)” ผู้จัดทำโฟโต 51 หรือ ภาพถ่ายจากการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ของดีเอ็นเอ ซึ่งถูก ‘เจมส์ วัตสัน (James Watson)’ และ ‘ฟรานซิส คริก (Francis Crick)’ นำผลงานนี้ไปใช้ในการสร้างแบบจำลองยืนยันว่าดีเอ็นเอมีโครงสร้างเป็นรูปเกลียว โดยไม่ขออนุญาต ทำให้ชื่อของเธอที่ควรจะถูกจารึกว่าเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญของการค้นพบดีเอ็นเอถูกหลงลืม


“เอสเธอร์ เลเดอร์เบิร์ก (Esther Lederberg)” นักจุลชีววิทยาชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบไวรัส lambda phage และเทคนิค replica plating ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิทยาการสาขาชีววิทยาโมเลกุล และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (genetic engineering) ร่วมกับสามี ‘โจชัว เลเดอร์เบิร์ก (Joshua Lederberg)’ แต่กลับมีเพียงแค่สามีของเธอเท่านั้นที่ได้รับรางวัลโนเบลทั้งที่พวกเขาทำการค้นคว้าทดลองร่วมกัน

“เฮดี ลามาร์ (Hedy Lamarr)” ผู้ประดิษฐ์พัฒนาอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุชื่อว่า Secret communications system ร่วมกับ ‘จอร์จ แอนธีล (George Antheil)’ อุปกรณ์นี้สามารถเปลี่ยนความถี่ของวิทยุ (frequency hopping) เพื่อให้ตอร์ปิโดสามารถไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่ถูกศัตรูสกัดกั้น ซึ่งอุปกรณ์ Secret Communications System นี้ยังเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีทางการสื่อสาร อย่างระบบโทรศัพท์มือถือ gps, wifi และ bluetooth อีกด้วย ถึงกระนั้น เธอกลับถูกจดจำในฐานะนักแสดงและบุคคลที่รูปลักษณ์งดงามมากกว่าความสามารถในการประดิษฐ์ โดยในตอนที่เธอและจอร์จเสนอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์นี้แก่กองทัพสหรัฐฯ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พวกเขาถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าอุปกรณ์นี้ขาดความน่าเชื่อถือ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1962 ได้เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban missile crisis) ขึ้น เทคโนโลยีที่เฮดีและจอร์จคิดค้นจึงได้ถูกนำมาใช้ ทว่า พวกเขากลับไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากการคิดค้นนี้เลย เพราะสิทธิบัตรในอุปกรณ์นั้นหมดอายุไปแล้ว นอกจากนี้ในตอนที่เธอพยายามสมัครเข้าสภานักประดิษฐ์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (national inventors council) เธอกลับถูกประธานสภาอย่าง ‘Charles F. Kettering’ ดูถูกว่าเธอควรรับใช้ชาติด้วยวิธีอื่นแทนอย่างการไปขายพันธบัตรสงคราม


Matilda effect


ที่ยกตัวอย่างไปก่อนหน้าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ไม่ได้รับการยอมรับเท่านั้น ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกมากที่ถูกมองข้ามเพราะเป็นเพศหญิง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนมีการนิยามปรากฎการณ์ลักษณะนี้ว่า “matilda effect” คำศัพท์นี้ถูกบัญญัติขึ้นโดย ‘มาร์กาเร็ต รอสซิเตอร์ (Margaret Rossiter)’ นักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในปี ค.ศ. 1993 เธอคิดคำนี้เพื่ออธิบายถึงความลำเอียงของวงการวิทยาศาสตร์ ที่ผู้หญิงจะถูกละเลย ถูกปฏิเสธว่าเธอมีส่วนร่วมในผลงานที่สังคมมองว่าผู้ชายเป็นคนคิดค้นขึ้น โดยชื่อของปรากฎการณ์นี้มีที่มาจาก ‘มาทิลด้า เกจ (Matilda Gage)’ นักเรียกร้องสิทธิสตรีในสหรัฐ ผู้เขียนเรียงความเรื่อง “ผู้หญิงในฐานะนักประดิษฐ์ (Woman as an Inventor)” ในปี ค.ศ. 1893 ซึ่งเล่าถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ผู้หญิงคิดค้น เพื่อต่อต้านคำกล่าวอ้างในสมัยนั้นที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถเป็นอัจฉริยะด้านการประดิษฐ์หรือเครื่องจักรกลได้


หลังจากที่รอสซิเตอร์ได้นิยามคำว่า “Matilda effect” ขึ้น คำ ๆ นี้ก็ถูกนำไปใช้อ้างอิงและศึกษาต่อยอดมากมาย และในปี 2013 ก็ได้มีงานวิจัยชื่อ “The Matilda Effect in Science Communication” ซึ่งพิสูจน์ถึงอคติต่อนักวิทยาศาสตร์หญิงผ่านผลการวิจัยว่า ในวงการวิทยาศาสตร์ ผู้ชายและผู้หญิงส่วนใหญ่มีมุมมองว่างานวิจัยที่จัดทำโดยผู้ชายน่าเชื่อถือกว่างานวิจัยของผู้หญิง และนักวิทยาศาสตร์มักเลือกที่จะทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพศชายมากกว่านักวิทยาศาสตร์เพศหญิง กระทั่งนักวิทยาศาสตร์หญิงเองก็เลือกที่จะทำงานกับเพศชายมากกว่า


Margaret Rossiter ผู้คิดค้นคำว่า “Matilda Effect”

ที่มาของภาพ: https://www.smithsonianmag.com/science-nature/unheralded-women-scientists-finally-getting-their-due-180973082/?page=1


เสียงของนักวิทยาศาสตร์หญิงในปัจจุบัน


จากงานวิจัยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ปี 2022) โดยศาสตราจารย์จูเลีย เลน (Julia Lane) ได้เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์เพศหญิงมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชาย 13% ในการได้รับการเสนอชื่อในฐานะผู้เขียนบทความ และมีโอกาสน้อยกว่าผู้ชายถึง 58% ที่จะได้รับชื่อในสิทธิบัตร อีกทั้งจากรายงานสรุปผลด้านวิทยาศาสตร์ประจำปี 2021 โดยยูเนสโกก็ได้เผยว่า จำนวนนักวิจัยเพศหญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์มีเพียงอัตราส่วน 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% เท่านั้น ผลการวิจัยเหล่านี้สะท้อนว่าแม้จะอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 แล้ว ผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับโอกาสในวงการวิทยาศาสตร์มากเท่าที่ควร ปัจจุบันจึงเกิดความพยายามให้ผู้หญิงถูกมองเห็นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงในสาขาวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่บทบาทของเพศหญิงต้องได้รับการสนับสนุนในทั้ง 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือที่เรียกรวมกันว่า “STEM”


มีหลายภาคส่วนที่ส่งเสริมให้เพศหญิงในวงการ STEM มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งการกำหนดโดยองค์การสหประชาชาชาติให้วันที่ 11 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสากลเพื่อสตรีและเด็กหญิงในงานวิทยาศาสตร์ (International Day of Women & Girls in Science) ทั้งนโยบายของภาครัฐอย่างสหภาพยุโรปที่ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ GEECCO (Gender Equality in Engineering through Communication and Commitment) อันเป็นโครงการบังคับใช้แผนว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศ หรือ Gender Equality Plans (GEPs) ในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วทวีป เพื่อลดความไม่เท่าเทียมของค่าจ้างต่อเพศหญิง และเพิ่มอัตราการจ้างงานต่อเพศหญิงในวงการ STEM ให้ได้ภายในปี 2050 ทั้งการจัดตั้งองค์กรเอกชนเพื่อรณรงค์ถึงสิทธิสตรีอย่างองค์กร “Women in STEM” ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมใน STEM มากขึ้นผ่านการอภิปรายและจัดตั้งโครงการเพื่อให้ความรู้และคำปรึกษาแก่เยาวชน ไปจนถึงแคมเปญรณรงค์ทางโลกออนไลน์ที่มีการติดแฮชแท็ก #WomeninSTEM และ #ForWomenInScience ผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงใน 4 สหวิชาชีพ มีพื้นที่ในการแสดงออกและสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง


ภาพตัวอย่างการใช้ #ForWomenInScience และ #WomeninSTEM บนโซเชียลมีเดีย


ยิ่งไปกว่านั้น สื่อต่าง ๆ ก็ถูกนำมาใช้ในการนำเสนอเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หญิง อย่างโครงการ Lost women of science ที่จัดทำ podcast เผยแพร่ข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ไม่เป็นที่รู้จัก หรือในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีการถ่ายทอดชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์หญิงให้ผู้ชมรับรู้ เช่น ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Jane (2017) ที่นำเสนอชีวิตของ ‘เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall)’ นักสัตววิทยาชาวอังกฤษผู้ค้นคว้าเรื่องลิงชิมแปนซี หรือภาพยนตร์เรื่อง hidden figures (2016) ที่นำเรื่องราวของวิศวกรและนักคณิตศาสตร์หญิงเชื้อสายแอฟริกันอเมริกัน 3 คนที่ทำงานกับนาซ่ามาดัดแปลงจนถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ เป็นต้น



(บน) ภาพของ Mary Jackson, Katherine Johnson และ Dorothy Vaughan ตามลำดับซ้ายไปขวา

(ล่าง) ภาพของนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures (2016)

ที่มาของภาพ: https://pantip.com/topic/36117828


แม้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศในวงการ STEM จะยังมีอยู่ แต่การไม่ปิดกั้นโอกาสของผู้หญิงในการเข้าถึงการศึกษา และความพยายามในการเพิ่มบุคลากรเพศหญิงในปัจจุบัน ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตข้างหน้าผู้หญิงจะได้รับการยอมรับในความสามารถอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดี การพยายามสร้างความตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศนั้นควรเกิดขึ้นในศาสตร์อาชีพทุกแขนง ไม่ใช่แค่เฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์ และนอกจากเพศหญิงแล้ว การลดอคติทางเพศก็ควรมีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ด้วยเช่นเดียวกัน สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะลดอคติและการเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ เพศ อายุ หรือศาสนาที่มีต่อกันได้ และร่วมกันสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม



เรื่อง : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล

พิสูจน์อักษร: อภิญญา วัชรพิบูลย์

ภาพ: อสมาภรณ์ ชัฎอนันต์



แหล่งข้อมูล:


งานวิจัยเผย นักวิทยาศาสตร์หญิงมีโอกาสได้เครดิตในงานวิชาการน้อยกว่านักวิทยาศาสตร์เพศชาย (2565, 23 มิถุนายน). TheMatter.

https://thematter.co/brief/178717/178717


ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ. (2563, 27 มิถุนายน). NASA ตั้งชื่อสำนักงานใหญ่ ‘แมรี แจ็คสัน’ เชิดชูเกียรติวิศวกรหญิงผิวสีคนแรก. TheStandard.

https://thestandard.co/nasa-mary-jackson-hidden-figures/


มารี คูรี และผู้วิจัยรักษามะเร็งยุคแรก สัมผัสรังสีบ่อยเกินจนเป็นมะเร็งที่ส่งผลภายหลัง (2565, 18 กุมภาพันธ์). ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/history/article_47494


รู้จักสะเต็ม (ม.ป.ป.). StemedThailand. http://www.stemedthailand.org/?page_id=23


ส่องรูปประวัติศาสตร์ ที่รวมเหล่าอัจฉริยะ ในงานประชุมนานาชาติโซลเวย์ครั้งที่ 5 (2562, 3 พฤษภาคม). MThai. https://teen.mthai.com/variety/163066.html


สุทัศน์ ยกส้าน. (2562, 14 ธันวาคม). ความเท่าเทียมทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์. MGRonline. https://mgronline.com/science/detail/9620000119315


โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) นักเคมีและผลึกวิทยาผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นพบดีเอ็นเอ (2556, 25 กรกฎาคม). Sanook. https://www.sanook.com/campus/1369543/


Bahous, S. (2022, May 8). Lack of gender equality in science is holding back solutions. Springernature.

https://www.springernature.com/gp/advancing-discovery/springboard/blog/blogposts-sustainability-inclusion/gender-equality-science-iwd/20200002


Coustenis, A. & Encrenaz, T. (2017, November 06). The Struggle for Equality, Recognition and Reward. Cambridgeblog.

http://www.cambridgeblog.org/2017/11/the-struggle-for-equality-recognition-and-reward/


Dominus, S. (2019). Women Scientists Were Written Out of History. It’s Margaret Rossiter’s Lifelong Mission to Fix That. Smithsonianmag.

https://www.smithsonianmag.com/science-nature/unheralded-women-scientists-finally-getting-their-due-180973082/?page=1


Fischer, J. (2021, April 28). 10 Films That Celebrate Women In Science. Videolibrarian. https://videolibrarian.com/articles/lists/10-films-that-celebrate-women-in-science/


George, A. (2019, April 4). Thank This World War II-Era Film Star for Your Wi-Fi. Smithsonianmag.

https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/thank-world-war-ii-era-film-star-your-wi-fi-180971584/


Hedy Lamarr: The Inventor Who Happened to Also Be a Hollywood Actress (n.d.). Historybyday.

https://www.historybyday.com/inventions/hedy-lamarr-the-hollywood-star-who-helped-make-wi-fi/19.html?br_t=sa


Histofun Deluxe. (2563, 2 มิถุนายน). เฮดี ลามาร์ (Hedy Lamarr). Blockdit.

https://www.blockdit.com/posts/5ed612c738ba670cbabcb30c


International Day of Women and Girls in Science (n.d.). Unesco.

https://www.unesco.org/en/days/women-girls-science?TSPD_101_R0=080713870fab200012ac1b15a8ec330b17cc8f5b9344dc2b71a7663e66995cc38758422343a95c74087c83a3c61430007f3703cce874d5f8ff6c3012e7e0753d26b366a3c0414b77e2c8d27114bc3f937cfc74c38b9b65f72fe829f178bfe001


Knobloch-Westerwick, S., Glynn, C. J., & Huge, M. (2013). The Matilda effect in science communication: an experiment on gender bias in publication quality perceptions and collaboration interest. Science Communication, 35(5), 603-625. Retrieved from

https://gap.hks.harvard.edu/matilda-effect-science-communication-experiment-gender-bias-publication-quality-perceptions-and


Lost Women of Science. (n.d.). Lost Women of Science. https://www.lostwomenofscience.org


Marie Curie (n.d.). Nobelprize. https://www.nobelprize.org/womenwhochangedscience/stories/marie-curie


Promoting gender equality in science and technology (2021, May 4). EuropeanCommission.

https://ec.europa.eu/research-and-innovation/en/projects/success-stories/all/promoting-gender-equality-science-and-technology


Women in STEM. (n.d.). Women in STEM. https://womeninstem.org/our-vision

 
 
 

Comments


bottom of page