top of page

Imposter Syndrome & Dunning-Kruger Effects เก่งไม่กลัว กลัวไม่เก่ง ปัญหาทางใจที่ใคร ๆ ไม่ควรมองข้าม

Updated: Nov 1, 2022



ปฏิเสธมิได้เลยว่าปัจจุบันนี้มนุษย์ไขว่คว้าหาความสำเร็จเพื่อเป็นความพึงพอใจในการใช้ชีวิต แม้ว่าตั้งแต่อดีตมนุษย์จะพัฒนาหาความรู้เพื่อยกระดับชีวิตตนเองมาเนิ่นนานแล้ว แต่ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่โลกไร้พรมแดนที่ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลกอย่างไม่มีข้อจำกัดด้านระยะทางอีกต่อไป มนุษย์ไม่เพียงต้องเปรียบเทียบตนเองกับผลงานในอดีตเท่านั้น แต่ยังต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ ตั้งแต่เด็กก็ต้องเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ สอบเข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง ต้องทำคะแนนให้ได้ดีเพื่อให้มีชื่อเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้ได้เกียรตินิยม อันจะเป็นใบเบิกทางสู่การมีหน้าที่การงานที่ดี เมื่อเติบโตมาเข้าวัยทำงานก็ต้องทำผลงานให้โดดเด่นเข้าตาเพื่อได้รับเงินเดือนสูง ๆ เพื่อให้ได้มีชีวิตเลิศหรู มีหน้ามีตาในสังคม ก้าวมาเป็นชนชั้นนำของสังคม และได้โพสต์ไลฟ์สไตล์เลิศหรู กุญแจรถ Mercedes Benz และแก้วกาแฟ Starbucks ลง instagram ส่งผลให้เกิดเป็นค่านิยมร่วมกันว่ามนุษย์คนหนึ่งจะต้องเก่ง ต้องประสบความสำเร็จ จึงจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งการชื่นชมความเก่งนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนา แต่ในอีกแง่ก็เป็นแรงกดดันที่ทำให้คนที่แม้จะไม่ได้อยากแข่งขันตามค่านิยม ก็ต้องโดนผลักให้เข้าสู่สนาม จึงทำให้คนในสังคมเกิดปัญหาทางจิตใจโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ควรถูกมองข้ามเพราะจะส่งผลกับการดำรงชีวิตในทุกมิติ และอาจทำให้มนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถหาความสุขได้เลย โดยปัญหาทางจิตใจนี้ อาจเป็นได้ทั้งความไม่มั่นใจในตนเอง เพราะมีแต่คนเก่งคนประสบความสำเร็จรอบตัว แต่อีกแง่มุมหนี่ง ก็อาจส่งผลให้เกิดคนที่อยากจะเก่งดีมีความสามารถเหมือนคนอื่นจนกลายเป็นสำคัญผิดว่าตนเองรู้เยอะ และต้องการแสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ ไม่ว่าจะในโลกความจริง หรือในโลกโซเชียล ความผิดปกติทางจิตใจสองประเภทนี้ล้วนแต่สามารถสร้างปัญหาให้ผู้ที่เป็นและคนรอบข้าง จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องรู้จักและรู้เท่าทันทั้งสองอาการเพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป


Imposter Syndrome คืออะไร


Impostor Syndrome เป็นอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่สามารถพัฒนาจนถึงขั้นกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ คนที่มีอาการจะด้อยค่าตัวเอง คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่มีความมั่นใจ แม้ว่าอันที่จริงคนเหล่านี้นั้นมีความเก่ง มีความฉลาด มีความสามารถของตนอยู่แล้ว แต่เมื่อมองไปรอบข้าง ยังพบว่ามีคนที่เก่งกว่า ฉลาดกว่า มีความสามารถกว่าอยู่มากมาย จึงทำให้แม้จะได้รับรางวัล ได้รับคำชื่นชมจากความสำเร็จของตน ก็ยังมองว่าตนเองมิได้เก่งพอจะได้รับสิ่งเหล่านั้น ทำให้ไม่สามารถยินดีกับความสำเร็จของตนเองได้เลย และบางครั้งยังหวาดกลัวว่าคนอื่นจะล่วงรู้ แล้วจะผิดหวังที่ตนเองมิได้เก่งสมคำสรรเสริญเหล่านั้น ซึ่งหากความรู้สึกเหล่านี้สะสมเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม อาจพัฒนาไปสู่โรคทางอารมณ์อื่นๆ เช่น วิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้


Imposter Syndrome v. Low Self-esteem


Self-Esteem คือ ความรู้สึกที่เรารู้สึกชอบตัวเอง มีความสุขกับตัวเอง เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้จักให้เกียรติตัวเอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของการที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต หลายครั้งผู้ที่เป็น Imposter Syndrome ก็คือผู้ที่มี Self-esteem ต่ำนั่นเอง จึงมองว่าตนไม่คู่ควรกับความสำเร็จที่ได้รับ คิดว่าตนเองไม่มีความสามารถ ด้อยกว่าคนอื่น ซึ่งมีจุดเหมือนกันที่คนเหล่านี้มักจะมีมาตรฐานที่ตนตั้งไว้เอง ซึ่งมาจากความสมบูรณ์แบบ จึงเป็นมาตรฐานที่สูงเกินจะเอื้อม ผลจึงกลายเป็นว่า เกิดความรู้สึกผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะปีนไม่ถึงจุดมุ่งหมายที่ตนเองตั้งไว้ได้สักที แต่ความแตกต่างคือ บุคคลที่มี Low Self-esteem อาจจะรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าคนอื่นเพราะตนเองมีความสามารถไม่ถึงจริง ๆ ก็ได้ ในขณะที่คนเป็น Imposter Syndrome มักจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และถูกนับว่าเป็นคนเก่งกาจมีความสามารถโดยคนรอบข้าง แต่ลึก ๆ ในใจของพวกเขากลับรู้สึกว่าตนเองกำลังหลอกคนอื่น กลัวว่าสักวันจะโดนเปิดเผยว่าไม่ได้เก่งจริง หรือสิ่งที่คนอื่นรอบข้างเห็นว่าตนเองทำได้ดีนั้นแท้จริงเกิดจากความผิดพลาด ซึ่งแท้จริงก็เกิดมาจากความไม่มั่นใจในตนเองหรือ Low Self-esteem นั่นเอง


วิธีแก้ไขให้มั่นใจไม่ Imposter Syndrome


โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากระบบความคิด จึงต้องแก้ไขที่ความคิด โดยเราควรฝึกตนเองให้รู้เท่าทันความคิดของตนว่าตนกำลังคิดลบกับสิ่งที่ทำอย่างไร แล้วความคิดที่ว่าตนเองไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับคำเชยชมนั้น มีความจริงเท็จอย่างไร นอกจากนั้นยังควรคิดเสมอว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง มนุษย์เรามีความผิดพลาดได้เสมอ และแม้เราจะผิดพลาด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะล้มเหลวทั้งชีวิต เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงจังหวะเวลาที่ทำให้เราทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ นอกจากนั้น ยังควรพัฒนาตนเองเสมอ แต่ไม่ควรเทียบกับผู้อื่น เพราะเราไม่มีวันจะดีกว่าคนทั้งโลกได้ หากแต่ควรเปรียบเทียบกับตนเอง เอาชนะใจตนเอง และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือมองหาความสุขระหว่างทางให้เจอ การได้ลงมือทำสิ่งที่รักก็ถือว่าเป็นความสุขแล้ว ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จหรือถึงจุดหมายปลายทางแล้วถึงจะมีความสุขได้ ลองมองย้อนเข้ามาในตัวเอง แล้วจะรู้ว่า คุณก็เก่งนะเนี่ย


Dunning-Kruger Effects คืออะไร


‘Dunning–Kruger effect’ คือเป็นอาการที่เกิดขึ้นในระดับ ‘การรับรู้’ ที่คนคนหนึ่งหลงคิดไปว่าตัวเองเป็นคนเก่งมาก ทั้งที่แท้จริงมิได้เก่งอย่างที่ตนคิด แต่เป็นอคติที่ทำให้ไม่สามารถ ‘ประเมิน’ ความสามารถที่แท้จริงของตัวเองได้ ซึ่งทฤษฎีนี้ แม้ชื่อจะฟังดูไม่คุ้นหู แถมยังเรียกยากยิ่ง แต่ก็เป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เคยบรรยายปฐมนิเทศให้กับนักศึกษาฝึกงานของกทม. ตอนหนึ่งว่า หนึ่งในคติเตือนใจของเขาเสมอมา คือต้องอย่าเอาตัวเองไปค้างบน ‘ยอดเขาแห่งความโง่’ หรือ Mount Stupid ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ภายใต้ทฤษฎี ‘Dunning–Kruger Effects’ ซึ่งคุณชัชชาติได้กล่าวไว้ว่า “รู้น้อยแต่มั่นใจเยอะ อาจไม่ใช่คุณหรอก อาจเป็นหัวหน้าคุณ คนที่มีตำแหน่งเยอะ จะค้างอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ เพราะหยุด และคิดเสมอว่าตัวเองเจ๋งแล้ว… อย่างผมอยู่ตรงนี้เอง ยอมรับว่าโง่ในหลายเรื่อง ต้องถามเขา ต้องถามให้มากที่สุด อย่าไปค้างอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ คือรู้น้อยแต่มั่นใจเยอะ ต้องถาม ต้องพัฒนาตัวเองตลอด แล้วสุดท้ายเราจะรู้จริง” นอกจากนั้น ทฤษฎีนี้ยังก่อกำเนิดมานาน ก่อนที่จะมีผู้ค้นพบ ก็มีแนวคิดเช่นนี้จากนักปรัชญาเก่าแก่อย่าง Aristotle ซึ่งได้กล่าวว่า “The more you know, the more you realize you don’t know.” (ยิ่งคุณรู้มาก คุณจะยิ่งรู้ว่าคุณไม่รู้) แสดงให้เห็นว่า คนที่มีความรู้มากมีแนวโน้มจะคิดว่าตนเองฉลาดน้อยลงเพราะตระหนักดีว่ามีเรื่องอีกมากมายที่ยังไม่รู้ William Shakespeare กวีชื่อดังชาวอังกฤษยังเคยกล่าวว่า “Ignorance more frequently begets confidence than does knowledge” (ความไม่รู้ให้กำเนิดความมั่นใจมากกว่าความรู้) และ Charles Bukowski นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันยังเคยกล่าวว่า “The problem with the world is that the intelligent people are full of doubts, while the stupid ones are full of confidence.” (ปัญหาของโลกคือ คนที่ฉลาดมักจะสงสัยในตนเอง แต่คนโง่จะเต็มไปด้วยความมั่นใจ) แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้รับการศึกษาเท่านั้น

โดยที่มาของชื่อแปลก ๆ นี้ เป็นเพราะทฤษฎีนี้เกิดขึ้นโดย จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) และเดวิน อลัน ดันนิง (David Alan Dunning) ซึ่งมีคำอธิบายว่า เกิดจากการที่คนคนหนึ่งมีความรู้ในเรื่องหนึ่งเพียงผิวเผิน แต่กลับคิดว่าตนเองมีประสบการณ์ มีความรู้มาก ทั้งที่ความเป็นจริง อาจไม่รู้จริง แต่เป็นเพียงการฟังบรรยายสรุป ฟังคนอื่นเล่ามา หรืออ่านเอกสารที่มีคนเขียนให้ แต่ไม่ได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ให้ตนเองเข้าใจอย่างแท้จริง ยิ่งเมื่อมีคนชื่นชม สนับสนุน ให้ท้ายแบบปลอม ๆ ยิ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้ค้างอยู่บน Mount Stupid นานยิ่งขึ้น ซึ่งหากคนเหล่านี้เป็นคนมีหน้ามีตา มีหน้าที่การงานสำคัญในสังคมก็จะทำให้ผลกระทบเกิดเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายต่อสังคมมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นก็ตาม


Ané Lloyd. (12 December 2019). The Dunning-Kruger Effect. https://onlinepethealth.com/the-dunning-kruger-effect/



ซึ่งหากเทียบระดับเป็นกราฟนั้น Mount Stupid คือจุดที่ความรู้เป็น 0 แต่ความมั่นใจเป็น 100 และเมื่อถึงจุดสูงสุด หากความมั่นใจนั้นถูกทำให้ลดลงเพราะตนเองรู้ตัวเองหรือคนรอบข้างเอือมระอากับพฤติกรรมเช่นนี้แล้วชี้ทางให้รู้ความจริงว่าตนไม่เก่งอย่างที่คิด กราฟก็จะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งนำไปสู่ ‘หุบเขาแห่งความสิ้นหวัง’ หรือ Valley of Despair และเมื่อถึงจุดต่ำสุด ก็อาจจะทำให้คนผู้นั้นได้มีโอกาสไปเรียนรู้ ทำให้เกิดปัญญา และกราฟก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลานแห่งความยั่งยืน หรือ Plateau of Sustainability ที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อไปได้


Dunning-Kruger Effects v. Overconfidence


ปรากฏการณ์นี้นั้นแม้จะดูเหมือนมีอิทธิพลภายนอกเข้ามาสนับสนุน แต่จุดกำเนิดที่แท้จริงนั้นเกิดจากความมั่นใจ เพราะเมื่อคนเราได้เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วไม่มีความคิดอยากศึกษาต่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่มีความมั่นใจจนเกินไป คิดว่าตนเองรู้แล้ว เป็นการ Overestimate หรือการประเมินความรู้ความสามารถของตนเองสูงเกินไป ทำให้ระดับความมั่นใจที่มีนั้นเปรียบเสมือนภูเขาสูงที่ทำให้ไม่อาจโน้มตัวลงมาแตะความจริงได้อีก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ Overconfidence หรือ ความมั่นใจมากเกินไป จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ คนที่มีความมั่นใจมากเกินไปอาจจะเก่งจริง มีความรู้ความสามารถ แต่ขาดการประเมินปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น นักลงทุนใน Wall Street และนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ลงทุนด้วยความมั่นใจ ไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความล้มเหลวของการจัดการทางการเงินในระยะยาว หรือบุคคลที่มี IQ สูงมักจะมั่นใจว่าตนเองฉลาดทุกเรื่อง จนทำให้ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้มากพอและไปลงมือทำจนเกิดความเสียหายขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนฉลาดที่มีความมั่นใจมากล้นเกินควรก็เป็นปัญหาเช่นกัน


วิธีรู้เท่าทันไม่มั่นจนเป็น Dunning-Kruger Syndrome


ปรากฏการณ์นี้นั้นเกิดจากความไม่รู้จริง เราจึงควรประเมินตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงและยอมรับให้ได้ อย่าชื่นชมเยินยอตัวเองมากจนเกินควร หรือหมั่นศึกษาหาความรู้ จะทำให้เรารู้ตัวว่ายังมีอะไรอีกมากมายบนโลกที่รอให้เราค้นหา และหากว่าเราจะหยุดพัฒนาเพราะมั่นใจว่าตนเองเก่งก็จะเป็นที่น่าเสียดาย แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรเสียความมั่นใจไปจนกลายเป็น Imposter Syndrome ความมั่นใจในระดับที่พอดีจะทำให้เรากล้าทำสิ่งต่าง ๆ สนุกที่จะทำสิ่งนั้น ได้ทำเต็มที่สุดความสามารถ และทำออกมาได้ดีกว่าการมานั่งกังวลว่าจะทำอะไรผิดพลาด ขณะเดียวกันก็ควรประเมินสถานการณ์เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย นอกจากนั้น การชื่นชมตนเองไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเรายังมีที่ว่างให้ได้พัฒนาตนเองอีกมาก หากเราหาสมดุลในชีวิตตนเองได้ และไม่คิดเปรียบเทียบกับคนอื่นจนเกินไปเราก็จะเก่ง ดี และมีความสุขในแบบของตัวเองได้ไม่ยาก


เรื่อง : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์

พิสูจน์อักษร : ธนพล สิริชอบธรรม

ภาพ : อสมาภรณ์ ชัฎอนันต์


แหล่งข้อมูล:


นรพันธ์ ทองเชื่อม. (12 มีนาคม 2564). เอาชนะ ‘Imposter Syndrome’ กับแนวคิดที่จะทำให้เรากลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง. https://thestandard.co/overcome-imposter-syndrome-bring-back-self-worth/


Ané Lloyd. (12 December 2019). The Dunning-Kruger Effect. https://onlinepethealth.com/the-dunning-kruger-effect/


Diana Malerba. (n.d.). Self-esteem, self-confidence and impostor syndrome: what's the difference?. http://www.thebravehearted.ch/how-to-get-clear-on-self-confidence-or-self-esteem/


Fifi A. (22 มีนาคม 2565). Impostor Syndrome เหนื่อยไหมทำอะไรก็ห่วย เรื่องจริงหรือแค่คิดไปเอง. https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/hrd/220321-impostor-syndrome/


Havard Mela. (18 April 2022). The Dunning-Kruger Effect: Are You Too Humble Or Overconfident? https://betterhumans.pub/the-dunning-kruger-effect-are-you-too-humble-or-overconfident-5c089a9f3d7e?gi=72e185546ef


The Street. (ม.ป.ป.). รู้จัก Low Self-Esteem ต้นตอสำคัญของโรคซึมเศร้า. https://www.thestreetratchada.com/Blogs/64/Low-Self-Esteem#:~:text=Low%20Self%2DEsteem%20%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20%E0%B8%84%E0%B8%99,%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89


Vanat Putnark. (1 กรกฎาคม 2560). Dunning–Kruger effect’ อาการของคนไม่เก่ง ที่มักมั่นใจว่าตัวเองเก่งแล้ว. https://thematter.co/brief/stupid-feel-so-smart/25284


WORK TIPS. (8 สิงหาคม 2565). หัวสมองนั้นเบาหวิว แต่คิดว่าตัวเองสุดแสนฉลาด รู้จัก ‘ภูเขาแห่งความโง่’ แห่ง Dunning–Kruger Effects. https://themomentum.co/worktips-dunning-kruger/


 
 
 

Comments


bottom of page