top of page

I’m so woke! ว่าด้วยเรื่อง Woke Culture กับการสร้างสังคมที่ยอมรับ LGBTQ+



ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมและการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญ ในปัจจุบัน การเรียกร้องให้พวกเขาได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับ “ชาย” และ “หญิง” มีมากขึ้นกว่าในอดีต


ถึงแม้ในอดีต สังคมไทยอาจมองผู้มีความหลากหลายทางเพศในแง่ลบ แต่ในปัจจุบัน สังคมได้เปลี่ยนแปลงไป และมีผู้คนจำนวนมากที่ตื่นตัวและลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้มีคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “Woke” หรือ “Woke Culture”


แต่ถึงแม้คำว่า “Woke” จะมีความหมายที่สื่อถึงการผลักดันให้สังคมมีความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายมากขึ้น แต่คนบางกลุ่มก็มองคำนี้ในแง่ลบเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “การ Woke” กำลังทำให้ LGBTQ+ ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นจริงหรือ


“Woke”: คำนี้มาจากไหน?


“Woke” เป็นศัพท์สแลง หมายถึง สภาวะที่มีการตื่นตัวต่อปัญหาทางสังคม โดยคาดว่าผู้ที่เริ่มใช้นิยามของคำศัพท์นี้คือ มาร์คัส การ์วีย์ (Marcus Garvey) นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวจาเมกาในศตวรรษที่ 20 ที่ใช้คำว่า “Wake up” เพื่อรณรงค์ให้คนผิวสีตื่นตัวในประเด็นการเหยียดสีผิว จากนั้นเป็นต้นมา ปรากฏการณ์ “Woke” ก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อประโยชน์ของคนชายขอบ (Marginal people) ในหลาย ๆ มิติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงมิติ

ในด้านความเท่าเทียมและการยอมรับกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ด้วย


ทำไมในปัจจุบันปรากฏการณ์ ‘Woke’ ถึงถูกมองในแง่ลบ ?

แม้ปรากฏการณ์ Woke ส่งผลให้ปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมได้รับการแก้ไขจากภาครัฐรวมไปถึงได้รับความสนใจและการยอมรับจากประชาชน แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การ “Woke” ในปัจจุบันก็กำลังถูกมองในแง่ลบจากกลุ่มคนบางส่วนเช่นกัน


ในเว็บไซต์พจนานุกรมร่วมสมัย (urbandictionary.com) ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถนำศัพท์สแลงมานิยามเองได้ พบว่าความหมายของ “Woke” ในเชิงล้อเลียนที่นิยามว่า “สถานะที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นเพราะอ่าน Huffingtion Post มา (Huffington Post หรือ HuffPost คือ สำนักข่าวออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา)” ได้รับการโหวตมากที่สุดในช่วงปี 2017 ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า “Woke” ถูกมองว่าเป็นคำศัพท์ในแง่ลบ นอกจากนี้ บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ก็เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระแส Woke ในปัจจุบันที่พยายามแสดงจุดยืนเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยการตัดสินคนอื่น เช่น การทวีตข้อความตำหนิหรือแสดงความเกลียดชังคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง ว่าไม่สามารถเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง


จากตัวอย่างที่ได้นำเสนอ อาจสังเกตได้ว่าคนที่เห็นต่างและคนทั่วไปไม่ได้มองการผลักดันเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่พวกเขามีทัศนคติในเชิงลบต่อผู้ผลักดันที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือผู้อื่นเพราะตื่นตัวแล้ว และผู้ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการด้อยค่าและด่าทอผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือผู้ที่ไม่เข้าใจถึงประเด็นปัญหานั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบัน “Woke Culture” ที่ขับเคลื่อนด้วยการด่วนตัดสินใจ ด้อยค่า และด่าทอ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การ Woke ถูกมองในแง่ลบ


การ Woke แบบสุดโต่งและ ‘นักรบโซเชียล’


การ Woke ในกระแสปัจจุบันที่มีลักษณะเป็นการตัดสินผู้อื่น ด่าทอ และด้อยค่าคนที่เห็นต่างเรียกได้ว่าเป็นการ Woke แบบสุดโต่ง และผู้ที่ตื่นตัวและผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้วยการแสดงความเห็นในเชิงลบบนโลกออนไลน์ (ที่เรากำลังพบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ) ก็ถูกเรียกอย่างประชดประชันว่าเป็น “นักรบโซเชียล (Social justice warrior)” โดยการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ของนักรบโซเชียลจะเป็นไปในเชิงตำหนิ และในบางครั้งก็มีการด้อยค่าและด่าทอผู้ที่เห็นต่างหรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่แสดงความเห็นไม่ตรงกันกับพวกเขาเพราะมีความไม่เข้าใจในปัญหาทางสังคมดังกล่าวมากพอ


ถึงแม้การกระทำของกลุ่มนักรบโซเชียลจะมีเป้าหมายเพื่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม แต่การผลักดันด้วยการด่วนตัดสินใจ ด้อยค่า และด่าทอผู้ที่ไม่เห็นด้วย อาจไม่ส่งผลดีต่ออุดมการณ์เพื่อการเปลี่ยนแปลง


จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเด็นที่ทำให้การ Woke ถูกมองในแง่ลบไม่ใช่เพราะทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน แต่เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการกระทำที่ Woke “สุดโต่ง” มากเกินไป


แล้วการ Woke ส่งผลดีต่อการผลักดันให้ LGBTQ+ ได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่?


Woke กำลังเป็นปรากฏการณ์กระแสหลักในปัจจุบันและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้สังคมมีการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ และสร้างความเท่าเทียมทั้งในด้านสิทธิทางกฎหมายและการไม่เลือกปฏิบัติให้กับพวกเขา แต่หากจะให้ขีดเส้นใต้ว่า Woke แค่ไหนถึงจะเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง ในความเห็นของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน


บทความนี้ไม่ได้กำลังกล่าวว่าการ Woke ส่งผลเสียต่อการโน้มน้าวผู้คนให้เปิดใจยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้การ Woke แบบสุดโต่งจะมีเจตนาที่ดีแต่ก็อาจไม่ทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศผู้สมควรจะได้รับการยอมรับและปฏิบัติดังเช่นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น


แต่หากผู้ที่ “Woke” แล้ว ผลักดันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยใช้วิธีในเชิงบวก โดยไม่ปิดกั้นผู้ที่เห็นต่างและพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจถึงปัญหาและเหตุผลในการผลักดันครั้งนี้ ก็อาจทำให้สังคมส่วนมากเปิดใจต่อการเปลี่ยนแปลงและยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ได้ และหากทุกคนในสังคมต่างมีทัศนคติในเชิงบวกต่อกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ จะไม่ใช่เพียงชัยชนะเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นชัยชนะที่สวยงามของมนุษย์ทุกคนในสังคม



เรื่อง : ชางวี ยู

พิสูจน์อักษร : เฌอเดีย

ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา



แหล่งข้อมูล :


Luk, J. (24 มิถุนายน 2564). Why ‘woke’ became toxic. Al Jazeera. https://www.aljazeera.com/opinions/2021/6/24/what-is-woke-culture-and-why-has-it-become-so-toxic


The Intelligence Team. (8 มีนาคม 2564). ว่าด้วย Woke Culture : ยิ่งเคลื่อนไหว ทำไมยิ่งไม่เท่าเทียม. Sharing Intelligence Center. https://intsharing.co/archives/272 3


Wuttipitayamongkol, T. C. (7 กรกฎาคม 2560). ที่ตื่นตัว เพราะกลัวไม่ฮิป : Fake Woke และการตาสว่างทางสังคมแบบ ‘ปลอมๆ’. The MATTER. https://thematter.co/thinkers

/woke/28575?fbclid=IwAR1oqN6aVRoYK8tLCVLUeBotcMxtyZIy0mV3LeXqXVLC1DR7aj6IGCsedhM


Romano, A. (9 ตุลาคม 2563). A history of “wokeness”. Vox. https://www.vox.com/

culture/21437879/stay-woke-wokeness-history-origin-evolution-controversy


Musawa, H. (25 พฤษภาคม 2564). Wake up Africa. TheCable. https://www.thecable.ng/

wake-up-africa


GHOST. (27 กุมภาพันธ์ 2565). SJW หรือ Social Justice Warrior คืออะไร . TrueID Creator. https://intrend.trueid.net/central/pathum-thani/sjw-หรือ-social-justice-warrior-คืออะไร-trueidintrend_178564


Guardian News. (30 ตุลาคม 2562). Barack Obama takes on “woke” call-out culture: “That’s not activism” [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=qaHLd

8de6nM

 
 
 

Comments


bottom of page