Color MEdia เมื่อสื่อสร้างสรรค์อาจสรรค์สร้างหรือสั่นคลอน
- เฌอเดีย
- Jun 28, 2022
- 1 min read

ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสื่อมีบทบาทต่อเราทุกคน ไม่ว่าเราจะชมภาพยนตร์ ซีรีส์ มิวสิควิดิโอ ข่าวหรือโฆษณาสินค้าที่คั่นระหว่างรายการโทรทัศน์ เราเสพข้อมูล ความบันเทิงเข้าไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยสื่อเหล่านี้เองมีส่วนในการกำหนดกรอบแนวคิดของคนในสังคมและความรู้เข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินด้วยภาพเหมารวม (stereotype) ตลอดจนการเลือกปฏิบัติ (discrimination)
ผลกระทบของการนำเสนอของสื่อต่อภาพจำของคนในสังคม
การที่สื่อนำเสนอภาพเหมารวมของผู้มีความหลากหลายทางเพศมีส่วนทำให้ผู้รับสารจดจำ เชื่อ และตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยในทางจิตวิทยา ปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ด้วยหลักการว่าด้วยข้อจำกัดทางกระบวนการรู้คิด เนื่องจากความสามารถที่จะใส่ใจและจดจำของเรานั้นมีจำกัด เราจึงเลือกใส่ใจและจดจำข้อมูลเพียงบางอย่างเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสิ่งที่เด่น ดึงดูดความสนใจและมีลักษณะในทางลบ ส่งผลให้เกิดการรับรู้โดยไม่ได้ตั้งใจอคติหรือลำเอียง ไม่ว่าจะเป็น ภาพเหมารวมว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศมีพฤติกรรมก้าวร้าว ตลก หรือมีการติดเชื้อเอชไอวี ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้มีพฤติกรรมเช่นนั้นทุกคนเสมอไป
แม้ว่าในภาพรวม ประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การที่ ‘สาวประเภทสอง’ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจสถานบันเทิง การที่สื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการที่สื่อไทยอย่าง The Face Thailand ได้ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามามีบทบาท และในซีซั่นที่ 5 แคนดี้-กุลชญา ตันศิริ ก็ได้เป็นสาวข้ามเพศคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์ในรายการ The Face Thailand จะเห็นได้ว่าสังคมมีแนวโน้มเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ดี งานวิจัยของคุณรุจิเรข คชรัตน์ กลับพบว่า ในสื่อไทย ตัวละครชายรักชายในละครหรือภาพยนตร์ มักถูกถ่ายทอดให้เป็นตัวตลก (object of ridicule) และหมกมุ่นเรื่องเพศ ซึ่งเป็นการนำเสนอตามภาพเหมารวมหรือ stereotype ทั้งตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ ยังพบการพาดหัวข่าวโดยใช้คำที่มีความหมายในทางลบ เช่น หนุ่มตุ้งติ้ง ทอมโหด หรือคำใด ๆ ที่สื่อให้เกิดความรู้สึกว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ไม่ปกติในสังคม
นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีให้หลังนี้ มีการนำเสนอภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศในทางบวกมากขึ้น จะไม่ดีกว่าหรือ หากสื่อไม่จำกัดการนำเสนอเพียงแค่ผู้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง
แต่สนับสนุนบุคคลไม่ว่าจะมีสถานะใด เป็นเพศใด อย่างเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติ ทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีสถานะโดดเด่น รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ยอมรับ ดังกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น เมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศคนหนึ่งเข้ารับการบำบัดทางจิต เขากล่าวกับนักจิตวิทยาคลินิกว่า ‘ตนเองหน้าตาธรรมดา ไม่ร่ำรวย ไม่ได้ดูดีเหมือนผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกนำเสนอในสื่อ จึงรู้สึกว่าสังคมไม่มีที่ยืนให้คนอย่างตนเลย’
บริบททางสังคมที่ไม่เป็นมิตรดังกล่าวมีผลกระทบต่อเนื่องทางจิตวิทยา โดยผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกเลือกปฏิบัติ ตีตรา และกีดกัน เกิดความรู้สึกว่าตัวตนของตนขัดแย้งกับมาตรฐานที่สังคมยอมรับ ทำให้เห็นคุณค่าในตนเองต่ำลง และอาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาด้วย
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เลือกดำเนินชีวิตตามเพศวิถีของตนซึ่งปะทะกับกรอบวัฒนธรรม ประเพณี กฎกติกาของครอบครัว ชุมชนและสังคม บ้างก็ถูกเลือกปฏิบัติ บ้างก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มนุษย์ทุกคนนั้น เกิดมาโดยอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ ทุกประการ
ไม่ว่าเราจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศใด ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างจากเพศตามกำเนิดก็ได้
ชีวิตที่ถูกละเมิดของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในประเทศไทย ปรากฏเหตุการณ์ที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนบุคคลในสังคม ไปละเมิดสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม สิทธิที่ถูกละเมิดนั้น ครอบคลุมตั้งแต่สิทธิในชีวิต สิทธิในการทำงาน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เหล่านี้
พัฒน์กับพลใช้ชีวิตร่วมกันมานาน และต้องการสร้างหลักประกันให้กับคู่ชีวิต พัฒน์จึงซื้อประกันชีวิตระบุให้พลเป็นผู้รับผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันกล่าวว่า ทำสัญญาประกันชีวิตได้ แต่ไม่สามารถยกประโยชน์ให้กันและกันได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นญาติกัน โดยกฎของบริษัทประกันนี้เองอ้างว่า กลัวจะมีผู้ถูกหลอกมาทำประกัน เพื่อหวังประโยชน์เมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปแล้ว ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายไทย
หลักประกันความเสมอภาคของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 มีการประชุมของนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน โดยในส่วนของประเทศไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ณ มหาวิทยาลัย Gadjah Mada ประเทศอินโดนีเซีย และลงนามรับรองหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) หลักการนี้ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิทางเพศ วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยมีผลให้รัฐภาคีปฏิบัติตามข้อผูกพัน เพื่อสร้างหลักประกันความเสมอภาคของบุคคลทุกคน
พิจารณากรณีของพัฒน์และพลข้างต้น เหตุการณ์นี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักการยอกยาการ์ตา ข้อที่ 2 ว่าด้วยสิทธิในความเสมอภาคและการห้ามเลือกปฏิบัติ ข้อที่ 13 ว่าด้วยสิทธิในประกันสังคมและมาตรการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ และข้อที่ 24 ว่าด้วยสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว
นอกจากกรณีคู่รักชายรักชายถูกบริษัทประกันชีวิตปฏิเสธไม่รับทำสัญญาประกันระบุให้คู่ชีวิตเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์แล้ว ยังปรากฏกรณีอื่น ๆ อีกมากมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักการดังกล่าว เช่น การที่ข้าราชการหญิงรักหญิงไม่สามารถเซ็นยินยอมการผ่าตัดให้กับคนรักได้ และไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับคนรักของเธอได้ ตลอดจนการที่บัณฑิตที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร
ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ความผิดปกติอย่างใดเลย แต่เป็นผลมาจากปัจจัยจำนวนมากที่ทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อน ตั้งแต่ระดับชีวภาพจนถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่า คนทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศแบบใด บุคคลก็พึงได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ
ดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นสีใด ย่อมผลิบานได้อย่างงดงามในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต
มาร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และพื้นที่ปลอดภัยไปด้วยกันนะ
เรื่อง : เฌอเดีย
พิสูจน์อักษร : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล
ภาพ : ศลิษา จุไรวรรณสุทธิ
แหล่งข้อมูล :
ชีวิตที่ถูกละเมิด. (2554). กรุงเทพฯ: มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย.
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. (2565). แนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เอส.ออฟเซ็ท กราฟฟิค ดีไซน์.
Comments