top of page

Classical music ความงดงามที่เรื่มเสื่อมสลาย



ในบรรดาวัฒนธรรมที่มนุษย์ได้รังสรรค์ขึ้นนั้น ดนตรีถือเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่วิถีชีวิตของเรามาช้านาน และมีการคิดค้นผสมผสานจนเกิดแนวดนตรีที่หลากหลายมาจนทุกวันนี้ ทว่าท่ามกลางดนตรีที่เฟื่องฟูขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ‘ดนตรีคลาสสิก’ กลับเป็นแนวดนตรีที่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับในอดีต ตัวอย่างหนึ่งของความนิยมในดนตรีคลาสสิกอันลดลงอย่างเห็นได้ชัดนั้นคือผลจากการรายงานสรุปผลด้านดนตรีประจำปีโดย MRC Data ตั้งแต่ปี 2019-2021 จากรายงานในแต่ละปีพบว่าดนตรีคลาสสิกมีส่วนแบ่งในตลาดของประเทศสหรัฐอเมริกาจากแนวดนตรีทั้งหมดเพียงแค่ 1% เท่านั้น เพื่อไม่ให้ดนตรีคลาสสิกถูกมองข้ามจนเลือนหายไปตามกาลเวลา ในวันนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับดนตรีคลาสสิกให้มากขึ้น ทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งวิพากษ์ว่าทำไมดนตรีคลาสสิกจึงได้รับความนิยมน้อยลง


ความเกี่ยวโยงกันของดนตรีคลาสสิกกับประวัติศาสตร์


การถือกำเนิดของดนตรีคลาสสิกในแต่ละยุคสมัยนั้นถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยนั้นรูปแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในยุคกลาง (medieval period ; ค.ศ. 500-1400) ซึ่งเป็นยุคที่คริสตจักรมีอำนาจอย่างมาก ได้มีการกำเนิดขึ้นของแนวดนตรีที่เรียกว่า ‘Gregorian chant’ ที่ตั้งชื่อตามพระสันตะปาปาเกรกอรี่เพื่อให้เกียรติที่ท่านได้จัดทำการรวบรวมและจัดระเบียบบทสวดให้มีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว หรืออย่างในยุคคลาสสิก (classical period ; ค.ศ. 1750-1830) ยุคสมัยนี้เป็นช่วงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนชนชั้นกลางหลายคนร่ำรวยขึ้นและมีเงินมาอุปถัมภ์นักดนตรี ส่งผลให้นักดนตรีในยุคนี้สามารถผลิตผลงานออกมาได้อย่างอิสระ ต่างจากยุคก่อนหน้าที่ดนตรีจะถูกผูกขาดอยู่แค่กับกษัตริย์และชนชั้นสูง จนเกิดดนตรีที่มีความเรียบง่ายและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น


จะเห็นได้ว่าการวิวัฒนาการของดนตรีคลาสสิกนั้นมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ และนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นดนตรีคลาสสิกก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนทำให้ทุกวันนี้ดนตรีคลาสสิกไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในกรอบวัฒนธรรมของประเทศฝั่งตะวันตก แต่ได้มีการปรับให้เข้ากับยุคสมัย เช่น มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการแสดง นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานดนตรีคลาสสิกเข้ากับวัฒนธรรมจากหลายเชื้อชาติผ่านหลายวิธี อย่างการนำเครื่องดนตรีจากประเทศต่างๆมาใช้ในวงดนตรีอย่าง ‘pipa’ ของประเทศจีน ‘guiro’ ของชาวละตินอเมริกา ‘แคน’ ของชาวไทยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชาวลาว ไปจนถึงการนำดนตรีคลาสสิกมาแสดงร่วมกับศิลปะแขนงอื่นของชาตินั้น เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่มีการแสดงคอนเสิร์ตของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ประกอบการแสดงเชิดหุ่นสายจากนิทานเรื่อง ‘สุดสาคร’ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าดนตรีคลาสสิกเป็นรูปแบบหนึ่งของการถ่ายทอดประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมมาจนปัจจุบัน


อิทธิพลของดนตรีคลาสสิกในยุคสมัยใหม่


เนื่องจากดนตรีคลาสสิกนั้นได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายตามสื่อต่าง ๆ ผู้เขียนจึงเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินดนตรีคลาสสิกผ่านหูกันมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่นเพลง ‘eine kleine nachtmusik’ โดยโมสาร์ท ‘ode to joy’ ซึ่งเป็นท่อนที่ 4 ของ symphony หมายเลข 9 โดยเบโธเฟน ‘the four seasons’ โดย Antonio Vivaldi เป็นต้น แต่นอกจากดนตรีคลาสสิกยอดนิยมที่เราได้ยินผ่านภาพยนตร์ ละคร โฆษณา หรือการ์ตูนแล้วยังมีเพลงทั่วไปที่เราได้ยินในชีวิตประจำวันที่ถูกดัดแปลงมาจากดนตรีคลาสสิกด้วย ยกตัวอย่างเช่นเพลง ‘memories’ ของวงดนตรีชื่อดังอย่าง Maroon 5 ที่ถูกดัดแปลงทำนองมาจากเพลง ‘Canon in D’ ของ Johann Pachelbel และเพลง ‘all by myself’ ของ Celine Dion ที่ cover มาจากเพลงชื่อเดียวกันของ Eric Carmen เพลงนี้มีทำนองต้นแบบมาจากท่อนที่ 2 ของเพลง ‘Piano concerto no.2 in C minor’ โดย Sergei Rachmaninoff ซึ่ง Rachmaninoff นั้นก็ได้เครดิตในฐานะนักแต่งเพลงนี้ด้วย เพราะ Eric Carmen ได้ดัดแปลงทำนองมาใช้กับเพลงของตนในช่วงที่เพลง Piano concerto no.2 in C minor ยังอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายอยู่



คำอธิบายมิวสิควิดีโอเพลง all by myself - Celine Dion บนยูทูป ที่ปรากฏชื่อ Rachmaninoff เป็นหนึ่งในผู้แต่งเพลง


คลิปวิดีโออธิบายการนำทำนองเพลง ‘Piano concerto no.2 in C minor’ มาใช้ในเพลง ‘All by myself’ วินาทีที่ 4.41 : https://www.youtube.com/watch?v=epqYft12nV4


คลิปวิดีโออธิบายการนำทำนองเพลง ‘Canon in D’ มาใช้ในเพลง ‘memories’ วินาทีที่ 0.13 : https://www.youtube.com/watch?v=yknBXOSlFQs


นอกเหนือจากเพลงสากลแล้ว เพลงเกาหลีจากค่าย SM Entertainment ที่หลายคนรู้จักกันดีนั้นก็มีหลายเพลงที่นำเพลงคลาสสิกมาเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตด้วยเทคนิคต่าง ๆ ตั้งแต่การนำทำนองมาดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้นอย่างเพลง ‘feel my rhythm’ ของวง Red Velvet ที่ใช้ทำนองจากเพลง ‘Air’ ซึ่งเป็นท่อนที่สองของ ‘Orchestral Suite no.3 in D major’ โดย Johann Sebastian Bach หรือเทคนิคการอ้างอิงส่วนหนึ่งของเพลงเดิมแล้วนำมาปรับเปลี่ยนจังหวะใหม่ทั้งหมด ซึ่งเทคนิคนี้ถูกใช้ในการปรับโน๊ตจากท่อนที่ 4 ของ symphony หมายเลข 9 หรือที่เรียกกันว่า ‘new world symphony’ โดย Gustavo Dudamel Dvorak ให้กลายเป็นทำนองใหม่ในเพลง ‘into the new world’ ซึ่งเป็นเพลงเดบิวท์ของศิลปินชื่อดังอย่าง Girls’ Generation โดยหากใครตามไปฟัง symphony no.9 ของ Dvorak แล้วน่าจะคุ้นหูกับทำนองอันเป็นเอกลักษณ์นี้เพราะเป็นทำนองช่วงต้นในเพลงยอดนิยมของเด็ก ๆ อย่างเพลง ‘baby shark’ นั่นเอง


แล้วเหตุใดดนตรีคลาสสิกถึงได้รับความนิยมน้อยลง


ถึงแม้ว่าดนตรีคลาสสิกจะแทรกซึมอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันของเรา แต่ดนตรีคลาสสิกกลับได้รับความนิยมลดลงกว่าสมัยที่ดนตรียังเฟื่องฟู จากข้อสงสัยในจุดนี้ทำให้ผู้เขียนได้อ่านความเห็นของผู้ที่ถกในประเด็นนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต จึงได้พบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ “ไม่ใช่ว่าดนตรีคลาสสิกได้รับความนิยมน้อยลงแต่ความนิยมนั้นไม่ได้มีอยู่ในสังคมทั่วไปแต่แรก” เพราะดนตรีคลาสสิกเป็นแนวดนตรีที่ฟังกันในหมู่ชนชั้นสูงเสียส่วนใหญ่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้ดนตรีคลาสสิกจะไม่ได้ถูกจำกัดให้ฟังเฉพาะชนชั้นสูงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ลักษณะของการชมดนตรีคลาสสิกนั้นกลับเป็นสิ่งที่ผลักคนชนชั้นอื่นออกไปแทน ทั้งธรรมเนียมที่นิยมแต่งตัวดูดีไปชมการแสดง บรรยากาศการรับชมที่ต้องนั่งเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียงดัง ไปจนถึงความยาวของเพลงที่ยาวมากกว่าเพลงแนวอื่น ๆ ทำให้ผู้ชมเบื่อได้ง่าย ทั้งนี้ยังคงมีหลายฝ่ายที่รักและสนับสนุนดนตรีคลาสสิกให้คงอยู่ต่อไป ทั้งผ่านการศึกษาและการผสมผสานเข้ากับศาสตร์การแสดงหลากหลายแขนง


สำหรับกระแสนิยมของดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยนั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกันคือผู้คนมองว่าดนตรีคลาสสิกเป็นแนวเพลงที่เข้าถึงได้ยาก จนมีคำกล่าวที่ว่า “การฟังเพลงคลาสสิกต้องปีนบันไดฟัง” ซึ่งเป็นประโยคที่เปรียบเปรยว่าดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีที่อยู่สูง จับต้องไม่ได้ นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ทำให้ดนตรีคลาสสิกไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทยคือการที่รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านศิลปะรวมทั้งดนตรี ประกอบกับการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางศิลปะรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นผลจากความเชื่อว่าศิลปะเป็นเรื่องไม่จำเป็นเพราะคนไทยไม่เสพงานศิลปะ ต่างจากที่อื่น ๆ ในเอเชียที่ถึงแม้จะไม่ใช่แหล่งกำเนิดของดนตรีคลาสสิกโดยตรงแต่ก็ยังมีการรับเอาวัฒนธรรมมาสานต่อ ยกตัวอย่างเช่นในฮ่องกงที่แม้จะมีพื้นที่จำกัด แต่ก็มีรัฐบาลมาช่วยสนับสนุนวงดนตรีในชุมชน มีการจัดแสดงดนตรีให้เยาวชนได้ฟัง ไต้หวันเองก็มีโรงละครที่จัดสำหรับการเล่นดนตรีโดยเฉพาะ อีกทั้งยังกระจายโรงละครไปยังเขตอื่น ไม่ใช่แค่ในเมืองหลวงด้วย ต่างจากในไทยซึ่งมีสถานที่จัดแสดงที่เป็นที่นิยมเพียงแค่ ‘ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นโรงละครแบบ multifunction คือเป็นโรงละครที่ใช้จัดการแสดงทุกรูปแบบ ทำให้ประเทศไทยยังขาดโรงละครที่เหมาะกับการแสดงดนตรีโดยเฉพาะ และการที่โรงละครอยู่แต่ในกรุงเทพฯก็ทำให้คนต่างจังหวัดไม่สามารถเข้าถึงดนตรีคลาสสิกได้ ด้วยเหตุนี้นอกจากปัจจัยด้านความเชื่อของคนแล้ว การขาดการสนับสนุนจากรัฐยังเป็นอีกเหตุที่ส่งผลให้กระแสเพลงคลาสสิกในประเทศไทยซบเซา ต่างจากหลาย ๆ ประเทศที่มีหน่วยงานคอยสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรีและการทำให้ประชาชนเข้าถึงการแสดงดนตรีได้


“ดนตรีเป็นยูนิเวอร์แซลฟังแล้วเหมือนถูกดึงเข้าไป โดยไม่ต้องมีเนื้อร้อง การฟังดนตรีคลาสสิคไม่มีอะไรต้องรู้เรื่องไม่มีอะไรต้องเข้าใจ ตราบใดที่เรายังมีความรู้สึก ความรู้สึกคอมมอนปกติ รัก โลภ โกรธ หลง ทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลยว่าเพลงจะเป็นยังไง”

อ.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

นักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทย และคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล


อย่างไรก็ตาม ดนตรีคลาสสิกนั้นก็เหมือนกับดนตรีประเภทอื่น ๆ ที่เป็นเพียงการแสดงออกของศิลปินผ่านเสียงเพลง เป็นสิ่งที่มีความเป็นสากลและมีเพื่อสุนทรียภาพ เราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟังดนตรีคลาสสิกแล้วเข้าใจ ขอเพียงแค่ผู้ฟังมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับผลงานนั้นได้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งดนตรีควรจะเป็นสิ่งที่ไม่มีกำแพง ไม่มีการจำกัดชนชั้นผู้ฟัง ผู้เขียนจึงหวังว่าในอนาคต ประเทศไทยจะหันมาให้การสนับสนุนวงการดนตรีและศิลปะมากขึ้น เพื่อนักดนตรีคลาสสิกชาวไทยจะได้มีพื้นที่ให้เติบโตในบ้านเกิด ไม่ต้องไปต่างประเทศเพื่อต่อยอดความรู้และแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพ พร้อมทั้งหวังว่าผลงานของนักดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยทุกท่านจะถูกมองเห็นและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสักวันหนึ่ง



เรื่อง : ณัฐปภัสร์ เงินวิวัฒน์กูล

พิสูจน์อักษร : ศิริณฎา ปิ่นพงษ์

ภาพ : ฉัตรลดา ทำสุนา



แหล่งข้อมูล:


ฐิติรัตน์ เดชพรหม. (2563, 7 มกราคม). ‘มหิดล’ จัดคอนเสิร์ตใหญ่วันเด็ก บรรเลงออเคสตรา ประกอบหุ่นสาย ‘สุดสาคร’. มติชนรายวัน. https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1871618


นรอรรถ จันทร์กล่ำ. (2562, 14 มกราคม). ดนตรีคลาสสิก ไม่ยากอย่างที่คิด. Chula. https://www.chula.ac.th/cuinside/16034/


ฟังเพลงคลาสสิคไม่ยากอย่างที่คิด (เหรอ?) (2558, 24 กุมภาพันธ์). Sanook. https://www.sanook.com/men/5873/


David Bennett Piano. (2020, february 19). 14 Songs That ‘Rip Off’ Classical Music [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=yknBXOSlFQs


Farraht, D. (2022, May 11). An Overview Of The Medieval Music Period: A Brief History. Hellomusictheory. https://hellomusictheory.com/learn/medieval-music/


Kennedy, R. (2021, April 9). Why Isn’t Classical Music Popular?. Interlude. https://interlude.hk/why-isnt-classical-music-popular/


Lee, J. (2021, June 15). Is classical music dying?. Thermtide. https://thermtide.com/14319/popular/is-classical-music-dying/


MasterClass. (2021, June 8). Romantic Period Music Guide: 5 Iconic Romantic Composers. https://www.masterclass.com/articles/romantic-period-music-guide#a-brief-history-of-romantic-music


Mercer, B. (2021, February 10). Popular Classical Music: How Popular Is Classical Music? (Part II). Medium. https://medium.com/@AmericanPublicU/popular-classical-music-how-popular-is-classical-music-part-ii-4040456752db


MRC Data. (2021). YEAR-END REPORT U.S. 2020. https://www.musicbusinessworldwide.com/files/2021/01/MRC_Billboard_YEAR_END_2020_US-Final.pdf


MRC Data. (2022). YEAR-END REPORT U.S. 2021. https://mrcdatareports.com/wp-content/uploads/2022/01/MRC_YEAREND_2021_US_FNL.pdf


Nielsen Music. (2020). YEAR-END MUSIC REPORT U.S. 2019. Static billboard. https://static.billboard.com/files/pdfs/NIELSEN_2019_YEARENDreportUS.pdf


Nuttha K. (2565, 8 พฤษภาคม). เบื้องหลัง Into the New World, Jaws และ Baby Shark กับเพลงคลาสสิกเพลงเดียวกันที่แอบซ่อนไว้. Sanook. https://www.sanook.com/music/2444409/?utm_source=tw-sanook&utm_medium=social&utm_campaign=share-link-tw


Point of View. (2022, April 8). ประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน | Point of View x PGVIM [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=wQoOiqOwy_Y


Thai PBS Podcast. (2022, April 20). #GenZandClassicalMusic No Music version EP 33 ดนตรีคลาสสิกในทวีปเอเชีย [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=2VkT3l7dtjI



 
 
 

Comentarios


bottom of page