top of page

“รักเอย” ชีวิตและความรักของ “อากง” ผู้ต้องหาคดี 112 จากมุมมองของภรรยา




ปากคำจากความทรงจำของ “หญิงผู้เป็นภรรยา” ที่แม้สูญสิ้นจนถึงที่สุดแล้วก็ยังยืนยันในศักดิ์ศรีอย่าง “ผู้หญิงที่ยังอยู่” ประโยคดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำนำในหนังสือ “รักเอย” เนื้อหาภายในได้รับการกลั่นกรองจากถ้อยคำและความทรงจำของคุณรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของคุณอำพล ตั้งนพกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อากง” ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำจากการถูกจำคุกในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การร้องขอความเมตตา ความเห็นใจ หรือการฟูมฟายต่อโชคชะตาอันน่าสังเวชแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการจารึกไว้ซึ่งความทรงจำที่คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งมีร่วมกัน เป็นชีวิตรักที่ไม่สวยงามทั้งหมดแต่เป็นของจริง เป็นชีวิตรักที่เรียบง่ายธรรมดาแต่พิเศษเหลือเกินสำหรับทั้งสอง และเป็นชีวิตรักที่จบลงโดยมิทันได้ตั้งตัวเพราะปัญหาในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ดูท่าจะไม่ได้รับการสังคายนาเสียใหม่ในเร็ววัน


…รักเอย

จริงหรือที่ว่าหวาน

หรือทรมานใจคน

ความรักร้อยเล่ห์กล

รักเอยลวงล่อใจคนหลอกจนตายใจ…


เพลง “รักเอย” คือเพลงที่คุณรสมาลินร้องในวันแต่งงานของเธอและ “อาปอ” ซึ่งเป็นชื่อเล่นภาษาจีนของ “อากง” เนื้อหาข้างต้นเป็นตัวอย่างของเรื่องราวที่ร้อยเรียงในหนังสือซึ่งเป็นการบอกเล่าจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ระหว่างคุณรสมาลินและอากง ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เกร็ดข้อเท็จจริงเล็กน้อยของชีวิตทั้งสอง พร้อมทั้งรูปประกอบในเหตุการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่รูปรูปในวัยเยาว์ ในงานแต่งงาน หรือแม้กระทั่งรูปช่วงสุดท้ายในชีวิตของอากง เป็นหนังสือที่บันทึกไว้ซึ่ง “อากง” ที่มีชีวิตอยู่ในความทรงจำของภรรยาเสมอมา



อากงในวัยเด็ก

ที่มาของภาพ : รักเอย หน้า 17



งานแต่งงานระหว่างคุณรสมาลินและอากง

ที่มาของภาพ : https://112story.com/people/005



อากงและหลานสาวของตน

ที่มาของภาพ : รักเอย หน้า 38


เนื้อหาที่เต็มไปด้วยความดาษดื่นทั่วไปของชีวิต และรูปภาพของครอบครัวที่อากงกับคุณรสมาลินได้สร้างขึ้นซึ่งถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่าตลอดมาจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต “อากง” ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมนุษย์ มีทั้งด้านที่ดี ด้านที่ไม่ดี เป็นที่รัก เป็นที่ชัง มีความเชื่อ ความศรัทธา ดังเช่นปัจเจกชนคนหนึ่ง และเขาไม่ควรถูกกระทำโดยไม่คำนึงถึงเรื่องดังกล่าว อย่างการที่อากงในระหว่างถูกคุมขังไม่ได้รับการรักษาจากอาการป่วยของตนเป็นเวลากว่า 3 วันในช่วงวันหยุดยาว อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิต และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขานั้น ไม่มีผู้ใดที่เขารักและรักเขาอยู่รายล้อมตัวเขาเลย ชีวิตทั้งชีวิตเพียงแต่จบลงอย่างง่ายดายและไร้เยื่อใย


“หมาซักตัวหนึ่งมันยังเลือกที่ตายได้ สมมติอยู่ตรงกองทรายร้อนๆ มันยังกระเสือกกระสนไปหาที่ร่มได้ แต่อาปออยู่ในกรงขังตรงนั้น มันไม่มีที่จะไป นอกจากจะเลือกที่นอนตายไม่ได้แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้แม้แต่เวลาหิว”

- รสมาลิน ตั้งนพกุล (ภรรยา)


การดิ้นรนของทั้งสองสิ้นสุดลงเมื่ออากงถึงแก่ความตาย หนังสือเล่มนี้ก็จะกล่าวต่อไปถึง การใช้ชีวิตของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นแก่คนที่ต้องสูญเสียคนที่ตนรักไปให้แก่ความพิศวงทางกฎหมายซึ่งสลับซับซ้อนและทำให้ชีวิตดับสูญไปอย่างไร้ความหมาย เวลาที่ว่าควรจะเยียวยาความเจ็บช้ำ แต่ดูจะคอยถาโถมกระหน่ำซ้ำความรู้สึกของคุณรสมาลินเจ็บช้ำอยู่ร่ำไป และหดหู่มากขึ้นทุกครา


ในหนังสือเล่มนี้ยังมีบันทึกคำรำลึกอาลัยของเหล่าเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมในเรือนจำ ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจไว้อย่างหนึ่งในประเด็นของความคิดเห็นทางการเมืองของอากง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี เนื้อหาในคำรำลึกดังกล่าวระบุว่าอากงไม่มีความคิดเห็นทางการเมืองไปในฝั่งใดอย่างชัดเจน การไปชุมนุมต่าง ๆ ก็ไปเพียงเพื่อความสนุกและอาหารฟรี ไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝงแต่อย่างใด เพราะอากงไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านการเมืองแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำข้อหาที่ได้รับกับธรรมชาติของอากงช่างสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะอากงจะทำการยกมือไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ที่แดนคุมขังของตนทุกครั้งที่เดินผ่าน อีกทั้งยังพาหลาน ๆ ของตนไปลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราชอยู่บ่อยครั้ง กระนั้นแล้วอากงก็ยังถูกตราหน้าว่าไม่จงรักภักดี และตามถ้อยคำของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมนั้น การเสียชีวิตของอากงจึงเป็นสิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย


ที่มาของภาพ : รักเอย หน้า 109

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้จะทำการตั้งประเด็นว่าสรุปแล้วนั้น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังสมควรมีอยู่หรือไม่? หรือที่มีอยู่แล้วควรปรับบทแก้ไขอย่างไร หนังสือเล่มนี้เพียงแต่ถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่าบุคคลที่สูญเสียสิ่งต่าง ๆ ไปเพราะการใช้กฎหมายดังกล่าวไปในทางที่เป็นปรปักษ์กับผู้ต้องหา “รักเอย” อยากให้เห็นว่าอากงก็เป็นคน ๆ หนึ่ง มีชีวิต มีครอบครัว และควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ความผิดดังกล่าวมิควรเป็นความผิดพิเศษที่ทำให้กระบวนการยุติธรรม หรือนิติวิธีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ควรจะเป็นความผิดที่ถูกปฏิบัติเฉกเช่นกฎหมายทั่ว ๆ ไปเท่านั้น


แหล่งข้อมูลจาก :

ข้อมูลออนไลน์

เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข. (30 เมษายน 2564). ครบรอบมรณกรรมของอากง ปัญหาของ ม.112 และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคยมีอยู่จริง. The MOMENTUM. https://themomentum.co/fromthedesk-112-injustice-process/


หนังสือ

รสมาลิน ตั้งนพกุล. (2555). รักเอย (พิมพ์ครั้งที่ 2). สำนักพิมพ์อ่าน.





 
 
 

Comments


bottom of page